- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 23 February 2015 18:38
- Hits: 1729
ราคาน้ำมันดิบ WTI ลด หลังจำนวนแหล่งขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐฯลงน้อยกว่าคาด
-/+ราคาน้ำมันดิบน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัสปรับตัวสวนทางกันหลังจากจำนวนแหล่งขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐฯลดน้อยลงกว่าคาด ในขณะที่ปริมาณความต้องการน้ำมันสำหรับทำความร้อนปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 6% เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น นอกจากนี้อุณหภูมิที่ติดลบได้สร้างปัญหาต่อระบบทำความเย็นและการซ่อมบำรุง ส่งผลให้ปริมาณการผลิตของโรงกลั่นทางด้านชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ลดลงกว่า 65%
- Baker Hughes รายงานปริมาณแหล่งจุดเจาะน้ำมันลดลง 37 แห่ง ซึ่งนับเป็นปริมาณการลดลงที่น้อยที่สุดในปีนี้ อย่างไรก็ดี ปริมาณแหล่งขุดเจาะทั้งหมดที่ 1,019 แห่ง นับเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี โดยตลาดมองว่าจำนวนแหล่งขุดเจาะมีแนวโน้มลดลงต่อ บริษัทน้ำมันต่างๆลดการลงทุนสำหรับการขุดเจาะลง
+ ราคาน้ำมันสำหรับทำความร้อนปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังโรงกลั่น Bayway ของบริษัท Phillips 66 ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น ทำให้มีการชะลอแผนการกลับมาดำเนินการของหน่วยการกลั่นขนาด 238,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้โรงกลั่นขนาด 185,000 บาร์เรลต่อวัน ของ Delta Air Lines ในรัฐเพนซิลเวเนีย ได้ลดปริมาณการผลิตลง และปิดหน่วยกลั่นน้ำมันเบนซินหลักขนาด 52,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากน้ำในแม่น้ำ Delaware ซึ่งใช้ในระบบทำความเย็นของโรงกลั่นเริ่มเป็นน้ำแข็ง ทั้งนี้โรงกลั่นยังไม่สามารถขนส่งสินค้าทางเรือได้
ราคาน้ำมันเบนซิน ตลาดปิดในวันตรุษจีน
ราคาน้ำมันดีเซล ตลาดปิดในวันตรุษจีน
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 49-54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 58-63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาสถานการณ์ความไม่สงบในลิเบียที่ยังคงปะทุต่อเนื่อง โดยล่าสุดประเทศอียิปต์เปิดฉากโจมตีทางอากาศใส่ฐานที่มั่นของกลุ่มไอเอส (IS) ในประเทศลิเบีย ซึ่งเป็นการตอบโต้หลังกลุ่มไอไอเอสสังหารชาวอียิปต์ 21 คน ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคอปติก และเป็นแรงงานยากจนที่ข้ามแดนโดยฝ่าฝืนคำเตือนของรัฐบาล เข้าไปหางานทำในลิเบีย
ตลาดน้ำมันดิบอาจได้รับแรงกดดันในช่วงไตรมาส 2 ที่จะเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น โดยเฉพาะยิ่งในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับตัวลดลง และกดดันราคาน้ำมันดิบ ทั้งนี้ อุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกทั่วโลกยังคงล้นตลาดอยู่ราว 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน