- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 08 June 2014 23:53
- Hits: 3712
ชี้กองทุนน้ำมันมีประโยชน์ไม่ควรยุบ แต่ต้องทำหน้าที่ตามจุดประสงค์เดิม
แนวหน้า : นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้มีการพูดกันมากในเรื่องควรยุบหรือไม่ควรยุบกองทุนน้ำมัน จึงขอให้ความเห็นว่า กองทุนน้ำมันควรจะต้องมีอยู่ แต่จะต้องมีหน้าที่หลักตามจุดประสงค์เดิมคือการรักษาเสถียรภาพของราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมัน ถ้าราคาน้ำมันแพงก็เข้าแทรกแซง ถ้าราคาถูกก็เข้าไปเก็บ เพื่อให้ประชาชนและหน่วยธุรกิจไม่เดือดร้อนกับการผันผวนของราคา และน่าจะใช้กองทุนนี้ในการเพิ่มสำรองน้ำมันของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงของพลังงาน ซึ่งมีการสำรองอยู่เพียงแค่ประมาณ 40 วันเท่านั้น
ปัจจุบันกองทุนน้ำมันถูกใช้ในการสนับสนุนราคาพลังงานทั้ง ก๊าซ LPG และ ดีเซล (เมื่อเกิน 30 บาท) ซึ่งไม่ถูกต้อง ดังนั้นการปรับราคาพลังงาน เพื่อสะท้อนต้นทุนจึงจำเป็น และตนก็ได้เริ่มขั้นตอนนั้นแล้ว ในขณะดำรงตำแหน่ง รมว.พลังงาน เพื่อไม่ให้มีการนำกองทุนน้ำมันมาใช้ผิดวัตถุประสงค์และไม่ยุติธรรมกับผู้ใช้น้ำมัน และต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ดังนั้นกองทุนน้ำมันก็ควรมีอยู่ แต่ต้องไปทำหน้าที่หลัก ในขณะที่การปรับราคาพลังงาน เพื่อสะท้อนต้นทุนก็ต้องทำ อย่าสับสนและเอามาปนกันจนประชาชนงง
มนูญ ชี้ไม่ควรยุบกองทุนน้ำมัน
แนวหน้า : นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพลังงาน เปิดเผยว่า หากมีการยุบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ก็จะทำให้นโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทน ที่ทุกๆรัฐบาลดำเนินงานมาเกือบ 9 ปี ต้องยุติลงเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาก็มีการใช้เงินกองทุนน้ำมันไปสนับสนุนให้กับผู้ผลิตเอทานอล ที่นำมาผสมกับน้ำมันเบนซินกลายเป็นแก๊สโซฮอล์ ที่ช่วยลดภาระการนำเข้าน้ำมันของประเทศ ตามนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างสูง ที่ประชาชนหันมาใช้แก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การยุบกองทุนน้ำมัน ไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาการขาดทุนของกองทุนน้ำมัน หรือเป็นการเอาเปรียบผู้ใช้น้ำมัน ที่ถูกเรียกเก็บเงินไปสะสมไว้ในกองทุนน้ำมัน เพราะรายได้ส่วนหนึ่งก็ถูกนำมาอุดหนุนราคาพลังงานบางชนิด อาทิ ปัจจุบันกองทุนน้ำมันได้จ่ายเงินสนับให้กับผู้ที่ใช้น้ำมัน อี 20 ลิตรละ 1.05 บาท ,อี85 ลิตรละ11.60 บาท
“ผมมองว่าที่ผ่านมามีการใช้เงินของกองทุนน้ำมันไปผิดวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งกองทุนน้ำมัน ที่กลายเป็นปัญหาดินพอกหางหมู หากมีการแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าว ก็จะทำให้กองทุนน้ำมันมีความจำเป็นที่ควรคงฐานะไว้ตามเดิม ส่วนข้อกฎหมายที่ว่าอำนาจของนายกรัฐมนตรีในขณะที่มีการก่อตั้งกองทุนน้ำมัน มีอำนาจจัดตั้งหรือไม่ ก็ควรส่งเรื่องให้ศาลปกครองเป็นผู้พิจารณาว่าถูกต้องหรือไม่”นายมนูญกล่าว