- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 18 February 2015 22:21
- Hits: 1896
รัฐบาล เปิดเวทีถ่ายทอดสดทีวีถกปิโตรเลียมรอบ 21 ศุกร์นี้หาข้อยุติ
รัฐบาลเตรียมเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นต่อการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ในวันศุกร์ที่ 20 ก.พ.นี้ ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่างกันของหลายฝ่าย โดยรัฐบาลคาดหวังว่าเวทีดังกล่าวจะสามารถหาข้อยุติได้ก่อนการหมดเวลายื่นข้อเสนอขอสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมในวันที่ 16 มี.ค.นี้
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่าเวทีแสดงความคิดเห็นดังกล่าวจะเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 9.30 น.และจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง รูปแบบการหารือ คือ 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายตัวแทนจากรัฐบาล ซึ่งจะมีตัวแทน 4 คน ได้แก่ นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ,นายพรายพล คุ้มทรัพย์ ผู้ช่วย รมว.พลังงาน เป็นต้น และ ฝ่ายที่มีความเห็นต่างจะมีตัวแทน 4 คน นำโดย นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ,ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นต้น
ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดส่งคำถามที่มีทั้งหมด 9 ข้อให้กับตัวแทนทั้งสองฝ่ายล่วงหน้า เพื่อให้ขึ้นมาตอบคำถามที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน โดยให้เวลาฝ่ายละ 5 นาที ต่อ 1 คำถาม ซึ่งรัฐบาลคาดว่าจะสามารถสร้างความเข้าใจให้ต่อสังคมได้มากขึ้น
ขณะที่วันนี้เวลา 13.30 น.กลุ่มที่มีความเห็นคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 นำโดยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง ,นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ,ม.ล.กรกสิวัฒน์ และบุคคลอื่นๆ เตรียมที่จะแถลงข้อเสนอต่อรัฐบาลในการประชุมวันศุกร์นี้ เพื่อให้รัฐบาลบรรลุเป้าหมายในการจัดการทรัพยากรเพื่อความมั่นคงของประเทศอย่างแท้จริง
ก่อนหน้านี้กลุ่มบุคคลคณะนี้ได้ยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปก่อน และขอให้มีการสำรวจแหล่งผลิตในประเทศ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ขณะที่ล่าสุดรัฐบาลได้ขยายเวลาการเปิดรับข้อเสนอการยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปถึงวันที่ 16 มี.ค.58 จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 18 ก.พ.นี้
อินโฟเควสท์
พลังงานขู่อีก 7 ปีก๊าซขาดแคลน กดดันเร่งเปิดสัมปทานปิโตรฯรอบ 21
แนวหน้า : นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพลังงานได้ประกาศเชิญชวนให้มีการยื่นคำขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจต่างๆ เขตพื้นที่บนบกและในทะเลอ่าวไทย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 และสิ้นสุดกำหนดการยื่นขอในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 นั้น เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และสอดคล้องกับการปฏิรูปด้านพลังงานในการสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงด้านพลังงานบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน กระทรวงพลังงานจึงประกาศขยายกำหนดเวลาในการยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจบนบกและในทะเลอ่าวไทยจากกำหนดเดิม คือภายในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 เป็น วันที่ 16 มีนาคม 2558
“กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติขอยืนยันว่าขั้นตอนการให้สัมปทานทุกขั้นตอนโปร่งใส เปิดโอกาสให้มีการประมูลแข่งขันโดยเสรีเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายภายใต้
พระราชบัญญัติปิโตรเลียมกำหนดไว้อย่างชัดเจน ตรวจสอบคุณสมบัติ และตรวจสอบเอกสารหลักฐานเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่ประกาศเชิญชวน เมื่อผ่านคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอ คณะกรรมการปิโตรเลียม และจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจึงสามารถออกสัมปทานได้ ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 5–6 เดือนเป็นอย่างน้อย” นางพวงทิพย์กล่าว
นางพวงทิพย์กล่าวว่า วันที่ 17 ก.พ.มีเอกชนสนใจยื่นเรื่องขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมแล้ว 1 ราย ทั้งนี้ กรมเปิดให้ขอสิทธิ์สำรวจฯ จำนวนทั้งสิ้น 29 แปลง แบ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 แปลง บนบก 6 แปลง และในทะเล 6 แปลง หากมีการยื่นขอสิทธิ์สำรวจ จำนวน 10 แปลง ถือว่าประสบผลสำเร็จในการเปิดยื่นขอสิทธิ์สำรวจฯครั้งนี้ ทั้งนี้ กว่าจะพบว่ามีแหล่งปิโตรเลียมในแปลงสำรวจหรือไม่ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-6 ปี และผู้สำรวจต้องทำแผนการผลิตอีกด้วย ดังนั้น แล้วกว่าจะมีปริมาณในเชิงพาณิชย์ต้องใช้เวลานานนับ 10 ปี
“หากไทยไม่ดำเนินการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบนี้ คาดว่าในอีก 7 ปีข้างหน้าปริมาณก๊าซธรรมชาติจะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ หากไม่มีการสำรวจเพิ่มหรือการพัฒนาเพิ่มเติมจากเดิม และเมื่อถึงเวลานั้นไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) จำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในอนาคต รวมทั้งแอลเอ็นจี ที่นำเข้านั้นจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการทำปิโตรเคมี ได้ และอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะปิโตรเคมีและพลาสติกที่ไม่สามารถใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในการผลิต โดยเฉพาะใน จ.ระยอง ในอนาคตอีกด้วย” นางพวงทิพย์กล่าว
สำหรับ ในกรณีการเปิดให้มีการเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกรณีเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยินดีที่จะร่วมให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นดังกล่าว ล่าสุดกระทรวงพลังงานได้รวบรวมข้อสงสัยของเครือข่ายปฏิรูปพลังงาน จำนวน 10 ข้อ เพื่อเตรียมคำตอบและเสนอในการประชุมกับสำนักนายกรัฐมนตรี