WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

หนุนข้อ 6 กลุ่มค้านปิโตรเลียม 21 'เกียรติ'แนะ'นายกฯ'ร่วมวงเสวนา

    แนวหน้า : นายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มค้านเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 6 ข้อ ได้แก่ 1.เสนอให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการเสวนาในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ 2.ขอให้รัฐบาลชี้แจงการเปิดสัมปทาน 3.อนุญาตให้ประชาชนทุกกลุ่มที่สนใจเข้าร่วมรับฟัง 4.เปิดโอกาสให้ประชาชนซักถามในประเด็นที่สนใจและมีข้อสงสัย 5.จัดให้มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ทั่วประเทศตลอดการเสวนา และ 6.จัดระยะเวลาในการพูดของทั้งสองฝ่ายเท่าเทียมกันว่า ตนเห็นว่าข้อเสนอของกลุ่มดังกล่าว ทั้ง 6 ข้อนั้น เป็นข้อเสนอที่ทำให้การเสวนานั้นมีความโปร่งใส มีการรับฟังและนำเสนอของแต่ละฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นหลักธรรมาภิบาลอยู่แล้วในการหารือเรื่องที่มีความสำคัญมากกับผลประโยชน์ของประเทศ

   ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลมีความต้องการจะทำทุกอย่างให้โปร่งใส ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะปฎิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวนี้ ยกเว้นในข้อเดียวเท่านั้นซึ่งคงไม่สามารถทำได้ คือการให้ประชาชนที่สนใจเข้าไปฟัง เพราะเห็นว่าผู้ที่สนใจคงจะมีมากเกินไป เพราะเรื่องพลังงานถือเป็นเรื่องที่สำคัญ และเป็นเรื่องที่มีความไม่ไว้วางใจซึ่งระหว่างกันมานาน ตนก็อยากจะเห็นว่านายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ด้วยการเข้าไปเป็นประธานในที่ประชุม เนื่องจากเป็นสิ่งที่ดี และจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของตัวนายกรัฐมนตรีเอง

กพช.เลื่อนเปิดสัมปทานรอบ 21 เผยไทม์ไลน์หยุดซ่อมบำรุงก๊าซ

   แนวหน้า : ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ถึงการเปิดให้มีการยื่นคำร้องขอสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ว่า สาเหตุที่จะต้องใช้รูปแบบสัมปทาน เนื่องจากเห็นว่าสำหรับประเทศไทยนั้นรูปแบบการดำเนินการมีความเหมาะสมกับสภาพเชื่อเพลิงของไทย เนื่องจากผู้ที่มาสำรวจสัมปทานนั้นต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ส่วนเมื่อพบเชื่อเพลิงแล้วจะผลิตได้มากน้อยแค่ไหนนั้น เป็นความเสี่ยงของผู้ที่รับสัมปทานไปสำรวจ จึงสามารถคำนวนความเสี่ยงเหล่านี้รวมอยู่ได้ด้วยกัน ถ้าหากไม่รู้ว่าระบบผลิตเป็นแบบไหนนั้น การคำนวนก็จะลำบาก ซึ่งกฏหมายไทยก็เอื้อให้กับระบบสัมปทาน ซึ่งที่ผ่านมาก็ชัดเจนว่าผลประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากพอที่จะรักษาระบบนี้ไว้ จึงประกาศออกไปให้มีการยื่นคำร้องขอสัมปทาน โดยเดิมทีกำหนดให้สิ้นสุดการยื่นในวันที่ 18 ก.พ.นี้ แต่มีผู้ไม่เห็นด้วยและร่วมกันลงนามเพื่อขอให้เลื่อนและยกเลิกระบบสัมปทาน

   อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กพช.มีมติให้ขยายวันสิ้นสุดกำหนดยื่นคำร้องขอสัมปทานออกไปจนถึงวันที่ 16 มี.ค. ขณะเดียวกัน จะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่มีความสงสัยในระบบสัมปทาน เข้ารับฟังข้อมูลและทำความเข้าใจร่วมกัน ในวันที่ 20 ก.พ. เวลา 9.30 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และจะมีการถ่ายทอดสดผ่านทางช่อง 11

    ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าที่ประชุมได้มีการรายงานถึงแนวโน้มสถานการณ์พลังงานในปี 2558 ซึ่งมีอัตราการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 53 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ลดลงจากปี 2557 ซึ่งอยู่ในระดับเฉลี่ย 97 ดอลลาร์สหรัฐหรือลดลงถึงร้อยละ 45 และอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 3.79 บาท/หน่วย ลดลงจากเฉลี่ยปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 3.93 บาท/หน่วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน

   ขณะที่ นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ได้รายงานแผนการหยุดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติ ปี 2558 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของไทย โดยในช่วงครึ่งปีแรก ผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติในสหภาพเมียนมาร์จะหยุดซ่อมบำรุง 2 ช่วงเวลาคือ 11–19 เมษายน และ 20–27 เมษายน ส่วนครึ่งปีหลัง แหล่งผลิตก๊าซฯ JDA พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ก็จะหยุดซ่อมบำรุงช่วงเดือนมิถุนายน และกันยายน ซึ่งทางกระทรวงพลังงานขอยืนยันว่า ได้เตรียมแผนรองรับสถานการณ์ดังกล่าวไว้พร้อมแล้ว ทั้งการจัดซักซ้อมแผนรองรับสภาวะฉุกเฉินด้านพลังงานในวันที่ 18 มีนาคม 2558 การกำกับดูแลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมดำเนินการตามแผน โดยได้มีการขอความร่วมมือกับประเทศมาเลเซียให้มีการจัดส่งก๊าซฯเพิ่ม และใช้น้ำมันเตามาผลิตไฟฟ้าแทน ซึ่งเป็นช่วงจังหวะที่ดีเพราะราคาน้ำมันเตาราคาถูกลง ขณะเดียวกันจะรณรงค์กับทุกภาคส่วนร่วมกันประหยัดพลังงานในช่วงเวลาดังกล่าว

อธิบดีกรมเชื้อเพลิงฯมองเลื่อนยื่นขอสำรวจปิโตรเลียมไม่กระทบนักลงทุน

    นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า การที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ขยายเวลายื่นขอสิทธิสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 เป็นวันที่ 16 มี.ค.58 จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 18 ก.พ.58 นั้น

   ยืนยันว่าไม่ได้สร้างความกังวลให้กับนักลงทุน เนื่องจากไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในประกาศเชิญชวน โดยการเปิดยื่นขอสิทธิสำรวจในครั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงฯตั้งเป้าหมายจะมีผู้สนใจเข้ายื่นสำรวจ จำนวน 10 แปลง ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ จากที่เปิดให้สำรวจจำนวน 29 แปลง โดยเป็นแปลงบนบก 23 แปลง และแปลงในทะเลอ่าวไทย 6 แปลง

   เมื่อวานนี้ กพช.ให้ขยายเวลาการเปิดรับข้อเสนอการยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งเป็นรอบใหม่ จนถึงวันที่ 16 มี.ค.58 หลังจากที่หลายฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกัน และรัฐบาลเตรียมที่จะเปิดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆในวันที่ 20 ก.พ.นี้

                อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!