- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Saturday, 07 June 2014 00:10
- Hits: 3884
PTT เล็งแยกธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน - ก๊าซ ท่อส่งก๊าซ หวังเป็นโฮลดิ้งเต็มรูปแบบ ประเดิมแยกธุรกิจน้ำมัน เสนอบอร์ด ก.ค. นี้
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)หรือ PTT เปิดเผยว่า จะหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในกลุ่ม ปตท. ภายในเดือนนี้ เพื่อสรุปแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท เป็น 2 แนวทาง คืออาจแยกธุรกิจค้าปลีกน้ำมันออกจากกลุ่มธุรกิจในเครือ ปตท. หรือเปลี่ยนแบรนด์ใหม่ ซึ่งหากได้ข้อสรุปแนวทางใดแนวทางหนึ่ง จะนำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ภายในเดือน ก.ค. ต่อไป
โดยแนวคิดดังกล่าวมีที่มาจากการที่ ปตท.ถูกโจมตีว่าเป็นผู้ผูกขาดตลาดน้ำมันในประเทศ ทั้งที่ความเป็นจริงตลาดค้าน้ำมันมีการแข่งขันสูงและมีกำไรน้อย ทำให้บริษัทค้าน้ำมันต่างชาติหลายราย ได้ถอนตัวออกไป เช่น คิวเอท เจ็ท และล่าสุด คือ ปิโตรนาส ขณะที่ราคาขายปลีกที่ปรับขี้นหรือลงเป็นไปตามกลไกตลาดที่อ้างอิงจากตลาดสิงคโปร์
นายไพรินทร์ กล่าวว่า ปตท. มีกำไรจากธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ซึ่งรวมธุรกิจ non-oil คือ ร้านอเมซอนและร้านค้าปลีกตามปั๊มน้ำมัน รวมประมาณปีละกว่า 1 พันล้านบาท จากกำไรทั้งเครือ ปตท.ที่ประมาณปีละ 1 แสนล้านบาท แม้ว่าธุรกิจค้าปลีกน้ำมันจะทำยอดขายถึง 3-4 แสนล้านบาท แต่กำไรที่ได้มาน้อยมาก
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ปตท.มีส่วนแบ่งการตลาดค้าปลีกน้ำมันที่ 39% ของตลาดรวมที่มีผู้ค้าจำนวนถึง 41 ราย จึงยืนยันว่า ปตท. ไม่ได้ผูกขาดตลาดน้ำมัน
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแนวคิดแยกธุรกิจก๊าซ และท่อส่งก๊าซด้วย และต่อไป ปตท. จะกลายเป็นบริษัทโฮลดิ้งเต็มรูปแบบ หลังจากทยอยแยกธุรกิจต่างๆ ออกมาจัดตั้งบริษัทใหม่ แยกจากบริษัทแม่ คือ ปตท. เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ
นายไพรินทร์ กล่าวด้วยว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะการมีกองทุนน้ำมันจะช่วยรองรับความผันผวนราคาน้ำมัน และช่วยลดการขาดแคลนน้ำมัน ซึ่งจะมีมีบทบาทสำคัญในประเทศไทย โดยหากจะยกเลิกกองทุนน้ำมัน แล้วมาจัดตั้งกองทุนสำรองทางยุทธศาสตร์ตามที่ IEA เสนอ จะต้องมีคลังสำรองน้ำมัน และระยะเวลาสำรองนาน 90-200 วัน
ส่วนกรณีที่กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงาน เสนอให้มีการขายก๊าซ LPG กับผู้ใช้ครัวเรือนก่อน และให้ขายราคา LPG ที่ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ให้เท่ากับราคาที่ขายให้กับภาคอุตสาหกรรมที่มีราคาต่ำ นายไพรินทร์ระบุว่า ข้อมูลที่นำมากล่าวอ้างไม่ถูกต้อง เพราะอุตสาหกรมปิโตรเคมีนำก๊าซมาใช้เพื่อผลิตต่อเนื่อง เช่นในอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นต้น และมีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทุกขั้นตอน ซึ่งช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจและทำให้ประชาชนมีงานทำ
นอกจากนี้ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 กำหนดให้ใช้ก๊าซในอ่าวไทยมาใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นหลัก
ทั้งนี้ ในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวเรื่องการปรับโครงสร้างพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการลดราคาพลังงานให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ทั้งราคาน้ำมัน และ แอลพีจี ซึ่งล่าสุดก็มีแนวทางให้ยกเลิกกองทุนน้ำมัน เพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันมีราคาที่ถูกลง
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย