- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 09 February 2015 22:20
- Hits: 1630
พลังงานลุยสัมปทานปิโตรเลียมพร้อมปรับเงื่อนไขระบบพีเอสซี
บ้านเมือง : กระทรวงพลังงานลดแรงต้านเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ยอมปรับเงื่อนไขนำระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC มาใช้กับ 3 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยได้แก่ G3/57 G5/57 และ G6/57 จากที่จะเปิดให้เอกชนยื่นขอสำรวจภายใน 18 ก.พ.นี้ 29 แปลง โดยรัฐจะใช้สิทธิ์เจรจาภายใน 4 ปี เพื่อรอให้การยกร่างกฎหมายมารองรับแล้วเสร็จด้วยแต่หาก กม.ไม่เสร็จ 4 ปีเจรจาไม่ยุติ เงื่อนไขนี้จะต้องเป็นอันตกไป พร้อมกำหนดทุกรายต้องเปิดเผยคำขอ ข้อผูกพันปริมาณเงินและปริมาณงาน
เปิดให้เอกชนยื่นสำรวจ-ผลิตปิโตรฯ
นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ลงนามประกาศเชิญชวนให้มีการยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (เพิ่มเติม) จากที่ประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่นขอสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค.57 สิ้นสุดการยื่น 18 ก.พ.58 ภายใต้ระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรีพลัสโดยประกาศเพิ่มเติมได้กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขใหม่ 2 ข้อเพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนโยบายรัฐบาล
สำหรับ เงื่อนไขที่เพิ่มเติมในประกาศมีดังนี้ ข้อ 2.4 (2) วรรคสอง 'ผู้ยื่นขอทุกรายจะยินยอมให้กระทรวงพลังงานเปิดเผยคำขอ พร้อมทั้งโครงการและข้อผูกพันด้านปริมาณเงินและปริมาณงานที่ยื่นประกอบคำขอเมื่อสิ้นสุดการพิจารณา' ข้อ 4.8 'ในกรณีที่รัฐมีนโยบายให้นำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) หรือระบบบริหารจัดการอื่นใดมาใช้สำหรับแปลงสำรวจในอ่าวไทยหมายเลข G3/57 G5/57 และ G6/57 ซึ่งเป็นแปลงในทะเลรัฐบาลอาจใช้สิทธิ์แจ้งให้ผู้ได้รับสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมดังกล่าวมาเจรจาเพื่อตกลงยินยามเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ โดยการใช้สิทธิ์แจ้งของรัฐบาลจะดำเนินการภายใน 4 ปีแรกของระยะเวลาสำรวจ
"เรายังคงให้เอกชนมายื่นฯ สำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 สิ้นสุด 18 ก.พ.เหมือนเดิม แต่ปรับเงื่อนไขให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาล โดยนำแปลงสำรวจ 3 แปลงจาก 29 แปลงที่เปิดมาเป็นระบบ สาเหตุที่เราไม่ปรับทั้ง 29 แปลงเป็นระบบ PSC เพราะระบบสัมปทานนั้นมีความเหมาะสมกับศักยภาพแหล่งปิโตรเลียมของไทยที่เป็นแหล่งเล็กๆ และที่สำคัญระบบ PSC ยังไม่มีกฎหมายรองรับ การหยุดเพื่อรอกฎหมายทำให้เราเสียโอกาสในการเพิ่มสำรองปิโตรเลียมที่เริ่มลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ระบบ PSC ที่เลือก 3 แปลงเพราะเป็นแปลงที่มีศักยภาพเพราะมีการสำรวจแล้วแต่คืนมา" นางพวงทิพย์กล่าว
เปิดช่อง กม.ไม่เสร็จ 4 ปี
ทั้งนี้ขั้นตอนการทำงานหลังครบกำหนดยื่นสิทธิ์สำรวจ 18 ก.พ.นี้ ก็จะพิจารณาคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอคณะกรรมการปิโตรเลียม รมว.พลังงานนำเสนอ ครม.เห็นชอบ หลังจากที่กระทรวงพลังงานออกสัมปทานโดย ครม.อนุมัติก็จะเริ่มเวลานับ 4 ปีหน่วยงานที่รับผิดชอบออกกฎหมาย ซึ่งจะต้องประมวลจากความเห็นทุกๆ ฝ่ายก่อนนำเสนอนโยบายให้รัฐบาลนำยกร่างเป็นกฎหมาย หลังกฎหมายบังคับใช้รัฐบาลก็จะขอใช้สิทธิ์ใน 3 สัมปทานดังกล่าวมาเจรจาต่อรอง แต่หากรัฐออกกฎหมายไม่ทันใน 4 ปี หรือเจรจาตกลงไม่ได้เงื่อนไขนี้ก็จะต้องเป็นอันตกไป
"การอนุมัติและมีการลงนามโดยคาดว่าจะใช้เวลา 4-5 เดือน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นระบบใดจะต้องจ่ายโบนัสลงนามโดย 3 แปลงดังกล่าวต้องจ่ายแปลงละ 100 ล้านบาท ขณะที่แปลงอื่นๆ จ่าย 10 ล้านบาท และแปลงขนาดเล็กจ่ายเพียง 3 ล้านบาท โดยกรมฯ มั่นใจว่าแปลงในทะเลอ่าวไทยมี 6 แปลงซึ่งรวม 3 แปลงที่ปรับเงื่อนไขจะมีผู้สนใจมายื่นเพราะนักลงทุนมองที่ศักยภาพของแหล่งปิโตรเลียมเป็นหลัก โดยหากมีผู้มายื่นครบทั้ง 29 แปลง คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท โดยกรมฯ คาดหวังว่าจะมีผู้มายื่นไม่ต่ำกว่า 10 ราย โดยแปลงสำรวจทั้งหมดมีปริมาณทรัพยากร 1-5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต แยกเป็นก๊าซฯ 1.5 ล้านล้าน ลบ.ฟุต น้ำมัน 20-25 ล้านบาร์เรล"นางพวงทิพย์ กล่าว
สำหรับ กรณีแปลงสัมปทานของแหล่งเอราวัณและบงกช ที่จะหมดอายุลงในช่วงระหว่างปี 2565-2666 นั้นมีคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวอยู่ โดยหลักการจะต้องให้มีการผลิตก๊าซธรรมชาติต่อเนื่อง และจะไม่ใช้ระบบไทยแลนด์วันที่เป็นของเดิมแน่นอน แต่จะเป็นระบบใด คณะอนุกรรมการฯ จะมีการสรุปแนวทางที่แน่ชัดภายในกลางปีนี้และต้องดำเนินการตกลงกับเอกชนให้จบภายในปี 2560 เพื่อให้การผลิตต่อเนื่อง
เร่ง ปตท.เจรจาซื้อก๊าซมาเลเซีย
นางพวงทิพย์ กล่าวต่อว่า ได้สั่งการให้บ มจ.ปตท.เร่งเจรจากับทางมาเลเซียเพื่อขอซื้อก๊าซธรรมชาติแปลงบี 17 ในโครงการพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือเจดีเอ ที่ทางมาเลเซียจะนำไปใช้ตามสัญญาเจดีเอ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ ในปริมาณ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยราคารับซื้อยอมรับว่าต้องสูงกว่าราคาในสัญญาเจดีเอ แต่ก็จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางพลังงาน แต่หากเจรจาไม่ได้ก๊าซฯ ในส่วนนี้จะหายไป และไทยก็ต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพิ่มขึ้น
"โครงการเจดีเอไทยและมาเลซียมีการตกลงแบ่งก๊าซกันตามสัญญา เดิมนั้นมาเลเซียยังไม่พร้อมใช้ประเทศไทยจึงนำมาใช้ก่อน แต่มาเลเซียแจ้งว่าพร้อมใช้แล้วไทยก็ต้องใช้น้อยลงตามสัญญา แต่มาเลเซียมีก๊าซมาก หากไทยขอซื้อส่วนนี้ก็คาดว่าจะไม่กระทบต่อการจัดหาเชื้อเพลิงของมาเลเซีย" นางพวงทิพย์ กล่าว
ทั้งนี้ แหล่งก๊าซเจดีเอแปลงบี 17 กำลังผลิตปัจจุบัน 370 ล้านลูกบาศก์ฟุต เป็นอัตราที่ไทยรับเกินสัญญาเพราะเดิมมาเลเซียไม่พร้อมรับ อย่างไรก็ตาม มาเลเซียได้สร้างท่อก๊าซและจะเริ่มรับตามสัญญา 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในวันที่ 1 เมษายน 2558 ทำให้ปริมาณก๊าซในไทยหายไปเทียบเท่ากำลังผลิตไฟฟ้ากว่า 2 โรง 1,400 เมกะวัตต์