- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Friday, 06 February 2015 21:59
- Hits: 4585
ลุยรื้อสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารายย่อย กกพ.ยันผู้ประกอบการนับร้อย
แนวหน้า : ลุยรื้อสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารายย่อย กกพ.ยันผู้ประกอบการนับร้อย ขอยกเลิกระบบ‘Adder’แล้ว
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ในฐานะโฆษกของ กกพ. เปิดเผยความคืบหน้าภายหลังที่ กกพ. ได้ออกประกาศให้ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมพลังงานแสงอาทิตย์) ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการภายใต้สัญญาซื้อไฟฟ้าฉบับใหม่ รูปแบบ FiT (หลักการอัตราเงินสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามต้นทุนที่แท้จริง) ให้มายกเลิกสัญญาเดิมโดยไม่มีการหักเงินค้ำ เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ถึง 2 ก.พ. 2558 ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่า ได้มีผู้มายื่นขอยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเดิมแล้วทั้งสิ้น จำนวน 104 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้ง 632.31 เมกะวัตต์
ล่าสุด ได้มีผู้สนใจยื่นคำร้องขอขายไฟฟ้าฯ ใหม่ในรูปแบบ FiT อีกจำนวน 33 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้ง 106 เมกะวัตต์ ซึ่งจำนวนผู้มายื่นคำร้องขอขายไฟฟ้าจะทราบจำนวนที่แน่นอนได้ภายในวันที่ 27 ก.พ. 2558 นี้
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในนโยบายและการกำกับดูแล เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2558 กกพ. ได้ออกประกาศในเรื่องนี้เพิ่มเติม โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 ผู้เข้าร่วมโครงการขอยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟเดิม และยื่นคำขอใหม่ให้การไฟฟ้าฯตรวจความถูกต้องของเอกสาร และให้สามารถยกเลิกข้อตกลงที่เกี่ยวกับ Adder (ระบบการให้เงินส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้า) และแก้ไขในสัญญาเดิมได้โดยไม่ต้องยกเลิกสัญญาทั้งฉบับ และให้มีการลงนามในเอกสารแนบท้ายสัญญาเดิมที่ได้แก้ไขภายในวันที่ 20 มี.ค.2558 เนื่องจากผู้ผลิตไฟฟ้ายังมีสิทธิหน้าที่และข้อผูกพันอื่นๆ ตามสัญญาเดิม และเพื่อไม่ให้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคู่สัญญาและบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนส่งผลให้กระบวนการดำเนินการตามสิทธิที่มีอยู่เดิมหยุดชะงัก
กรณีที่ 2 ผู้เข้าร่วมโครงการขอยกเลิกคำขอขายไฟฟ้าเดิมที่ได้รับการตอบรับ และยื่นคำขอขายไฟใหม่ให้การไฟฟ้าตรวจสอบความถูกต้อง และให้มีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้า (SCOD) ตามที่ได้เคยยื่นไว้ในแบบ Adder เดิม และให้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายในวันที่ 20 พ.ค. 2558 ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้ การไฟฟ้าต้องทำหนังสือแจ้งผู้เข้าร่วมโครงการทราบถึงวันทำสัญญาและการตอบรับซื้อ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่การไฟฟ้าได้รับคำขอขายไฟใหม่จากสำนักงาน กกพ.
นายวีระพล กล่าวถึงความคืบหน้าการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อป ประเภทบ้านอยู่อาศัยเพิ่มเติมให้ครบจำนวน 100 เมกะวัตต์ ว่า ขณะนี้ กกพ. ได้ออกประกาศการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวแล้ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กพ. 2558 ประกาศดังกล่าวได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายทำการรับซื้อไฟฟ้า ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามีระยะเวลา 25 ปี และได้กำหนดให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2558
กกพ.ย้ำผู้ขายไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม adder เดิมห้ามโอนสิทธิจนกว่า COD 3 ปี
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษกกกพ.ยืนยันว่าตามระเบียบใหม่การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ฟาร์ม ระบบ adder เดิมห้ามโอนสิทธิสัญญาซื้อขายไฟฟ้า รวมทั้งห้ามเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้นและผู้ถือหุ้น จนกว่าจะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์(COD) เป็นเวลา 3 ปี เพื่อป้องกันการนำสัญญาไปซื้อขายไฟฟ้าไปขายต่อ พร้อมเร่งเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รวมถึงโซลาร์ฟาร์มของหน่วยงานราชการและสหกรณ์ด้วย
นายวีระพล กล่าวว่า กกพ.ได้ออกคำชี้แจงเพิ่มเติมในส่วนของผู้เข้าร่วมโครงการรับซื้อจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซล่าร์ฟาร์ม) สำหรับผู้ยื่นขอขายไฟฟ้าในระบบส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้า (Adder) เดิม พ.ศ. 2557 เพื่อให้เกิดความชัดเจนและความเข้าใจที่ถูกต้องกับผู้เข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะในประเด็นการโอนสิทธิในคำขอขายไฟฟ้า และในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้น และผู้ถือหุ้น
สำหรับ สาระสำคัญในคำชี้แจงนั้น ได้ระบุว่า “ผู้เข้าร่วมโครงการ" หมายถึง ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ผ่านการเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) แล้ว และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของกระทรวงพลังงานแล้ว เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.57 โดยห้ามมิให้ผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวโอนสิทธิและหน้าที่ในคำขอขายไฟฟ้า หรือในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับผู้อื่น และหากผู้เข้าร่วมโครงการเป็นนิติบุคคล ก็ห้ามมิให้เปลี่ยนแปลงจำนวน ผู้ถือหุ้นเดิม ณ วันที่ 8 ธ.ค.57 จนเป็นเหตุให้ผู้ถือหุ้นเดิมตามรายละเอียดที่ยื่นขอขายไฟฟ้าในระบบ Adder เดิม น้อยกว่ากึ่งหนึ่งและห้ามมิให้เปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้นที่ถือโดยผู้ถือหุ้นเดิมเหลือน้อยหุ้นกว่า 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด จนกว่าผู้เข้าร่วมโครงการจะจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้แล้ว เป็นระยะเวลา 3 ปี
"การออกคำชี้แจงในครั้งนี้ จะเป็นการเน้นย้ำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่เข้าร่วมโครงการเข้าใจถึงกติกาในการรับซื้อไฟฟ้า โดยเฉพาะในเรื่องของการโอนสิทธิต่างๆ และเป็นการป้องกันการนำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปขายต่อ ซึ่งหาก กกพ.ตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดต่อเงื่อนไขที่ระบุไว้ในระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า ก็จะพิจารณาสั่งพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า" นายวีระพลกล่าว
อนึ่ง ไทยมีเป้าหมายจะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในปี 64 จำนวนรวม 13,924 เมกะวัตต์ ซึ่งรวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากขยะ ,ไบโอแก๊ส ,ไบโอแมส ,พลังน้ำ ,ลม ,แสงอาทิตย์ และอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีการรับซื้อไฟฟ้าที่มีข้อผูกพันแล้วราว 58% หรือ 8,038 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้ COD แล้วจำนวน 4,273 เมกะวัตต์
ขณะที่ในส่วนของเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว จะเป็นในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ราว3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งมีการรับซื้อไฟฟ้าที่มีข้อผูกพันแล้ว 1,750 เมกะวัตต์ โดย COD แล้ว 1,354 เมกะวัตต์ และมีผู้ยื่นคำขอเข้ามาแล้วแต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ 1,013 เมกะวัตต์ ซึ่งทางกกพ.ได้ออกระเบียบใหม่สำหรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มโซลาร์ฟาร์มสำหรับผู้ยื่นขอขายไฟฟ้าไว้ในระบบ adder เดิม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.58
นายวีระพล กล่าวอีกว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ซึ่งอยู่ระหว่างการรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนก.พ.นี้ โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะนำเอาพื้นที่ราชพัสดุของหน่วยงานราชการและที่ดินของสหกรณ์ภาคการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในส่วนขั้นตอนการรับซื้อไฟฟ้า หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขจะได้มีการกำหนดต่อไป
ทั้งนี้ ปริมาณการรับซื้อที่ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ต่อหนึ่งโครงการ และรวมให้เต็มตามเป้าหมายจำนวน 800 เมกะวัตต์ สำหรับอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการนี้มีระยะเวลา 25 ปี และจะได้รับอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT ที่ 5.66 บาท/หน่วย อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้เข้าร่วมโครงการได้รับการตอบรับจากการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายและได้มีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว ห้ามมิให้มีการโอนสิทธิและหน้าที่ในคำขอขายไฟฟ้าหรือในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับผู้อื่น นอกจากได้รับความยินยอมจากการไฟฟ้าที่ได้รับความเห็นชอบจากกกพ. แล้วเท่านั้น
ส่วนความคืบหน้าการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อป ประเภทบ้านอยู่อาศัยเพิ่มเติมให้ครบจำนวน 100 เมกะวัตต์นั้น ขณะนี้ กกพ. ได้ออกประกาศการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวแล้ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.58 ประกาศดังกล่าวได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายทำการรับซื้อไฟฟ้า ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามีระยะเวลา 25 ปี และได้กำหนดให้ COD ภายในวันที่ 31 ธ.ค.58 ซึ่งหากไม่มีการเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าภายในเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสิ้นสุด สำหรับอัตราการรับซื้อไฟฟ้ากำหนดให้เป็นไปตามอัตราการรับซื้อแบบ FiT ประเภทบ้านอยู่อาศัย และกำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายรับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 6.85 บาท/หน่วย
โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถยื่นคำขอขายไฟฟ้าได้ที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายในเขตที่ทำการของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ขึ้นอยู่กับที่ตั้งของสถานที่ที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยผู้ที่สนใจสามารถยื่นแบบคำขอขายไฟฟ้าฯ ได้ตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ.จนถึงวันที่รับซื้อได้เต็มตามเป้าหมาย แต่ต้อไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย.58
อินโฟเควสท์
กกพ.ย้ำผู้ร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าฯระบบ Adder เดิมห้ามโอนสิทธิ
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กกพ.ได้ออกคำชี้แจงเพิ่มเติมในส่วนของผู้เข้าร่วมโครงการรับซื้อจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซล่าร์ฟาร์ม) สำหรับผู้ยื่นขอขายไฟฟ้าในระบบส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้า (Adder) เดิม พ.ศ. 2557 เพื่อให้เกิดความชัดเจนและความเข้าใจที่ถูกต้องกับผู้เข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะในประเด็นการโอนสิทธิในคำขอขายไฟฟ้า และในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้น และผู้ถือหุ้น
สาระสำคัญในคำชี้แจงนั้น ได้ระบุว่า “ผู้เข้าร่วมโครงการ” หมายถึง ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ผ่านการเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) แล้ว และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของกระทรวงพลังงานแล้ว เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2557 โดยห้ามมิให้ผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวโอนสิทธิและหน้าที่ในคำขอขายไฟฟ้า หรือในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับผู้อื่น และหากผู้เข้าร่วมโครงการเป็นนิติบุคคล ก็ห้ามมิให้เปลี่ยนแปลงจำนวน ผู้ถือหุ้นเดิม (วันที่ 8 ธันวาคม 2557) จนเป็นเหตุให้ผู้ถือหุ้นเดิมตามรายละเอียดที่ยื่นขอขายไฟฟ้าในระบบ Adder เดิม น้อยกว่ากึ่งหนึ่งและห้ามมิให้เปลี่ยนแปลงจำนวนหุ้นที่ถือโดยผู้ถือหุ้นเดิมเหลือน้อยกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด จนกว่าผู้เข้าร่วมโครงการจะได้จ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว เป็นระยะเวลา 3 ปี
“การออกคำชี้แจงในครั้งนี้ จะเป็นการเน้นย้ำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่เข้าร่วมโครงการเข้าใจถึงกติกาในการรับซื้อไฟฟ้า โดยเฉพาะในเรื่องของการโอนสิทธิ์ต่างๆ และเป็นการป้องกันการนำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปขายต่อ ซึ่งหาก กกพ.ตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดต่อเงื่อนไขที่ระบุไว้ในระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า ก็จะพิจารณาสั่งพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า” นายวีระพล กล่าว
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย