WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

กรมเชื้อเพลิงฯยันโปร่งใส 'ประกาศ'ยื่นขอสัมปทานรอบที่ 21

    แนวหน้า : นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ชี้แจงกระแสข่าวที่เผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ กรณีการยื่นขอสัมปทานรอบที่ 21 ว่า ขอยืนยันในเรื่องดังกล่าวว่า ความเข้าใจเช่นนั้นนับเป็นความเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง เพราะระบบสัมปทานเป็นการเปิดให้มีการประมูลแข่งขันโดยเสรี เปิดโอกาสให้บริษัทผู้สนใจลงทุนเสนอข้อผูกพันในด้านปริมาณงาน และปริมาณเงินลงทุน โดยหากเสนอปริมาณงานและเงินยิ่งมากก็หมายถึงผลประโยชน์ในด้านข้อมูลที่ประเทศจะได้รับจากการสำรวจมากขึ้นตามไปด้วย  และหากไม่มีการดำเนินงานตามข้อผูกพันบริษัทผู้ได้รับสัมปทานก็จะต้องจ่ายเงินในส่วนที่ไม่ได้มีการดำเนินการดังกล่าวคืนให้รัฐ นั่นก็หมายถึง รัฐได้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติ ข้อตกลงไว้ภายใต้กฎหมาย ที่รองรับอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งวิธีการประมูลดังกล่าวมิได้แตกต่างกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่น ประเทศแคนาดา หรือประเทศอังกฤษ แต่อย่างใด

    นอกจากนี้ ในระบบไทยแลนด์ทรีพลัสที่จะใช้ในการบริหารจัดการครั้งนี้ นอกจากผลประโยชน์ที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ยังเปิดช่องทางให้บริษัทแข่งขันเสนอปริมาณเงินได้เปล่า โดยรัฐกำหนดขั้นต่ำไว้แล้ว  ทำให้รัฐได้รับผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

    สำหรับ กรณีในเรื่องของความโปร่งใสในการพิจารณา จากการดำเนินการที่ผ่านมารัฐมีการเผยแพร่ข้อมูลมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้ว่ามีบุคคลบางกลุ่มสามารถนำข้อมูลของรัฐมาเผยแพร่แก่ประชาชนโดยคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงและทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการของหน่วยงานที่รับผิดชอบ และเพื่อให้เกิดความชัดเจนโปร่งใสมากขึ้น ในการประกาศเชิญชวนเพื่อสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม(เพิ่มเติม) ครั้งนี้ ยังได้ระบุให้มีการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียด คำขอ และข้อผูกพันด้านปริมาณงานและปริมาณเงินที่ยื่นประกอบคำขอเมื่อสิ้นสุดการพิจารณาอีกด้วย

   ในกรณีที่เกิดข้อพิพาทให้ดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการตามวิธีการ ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับอนุญาโตตุลาการของคณะกรรมาธิการว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ ซึ่งสถานที่พิจารณาของอนุญาโตตุลาการให้เป็นที่กรุงเทพมหานคร ภาษาที่ใช้ให้เป็นภาษาไทย โดยต้องวินิจฉัยชี้ขาดตามบทบัญญัติของกฎหมายไทย จึงมิได้เสียเปรียบต่างชาติแต่อย่างใด และในการเจตนานำข้อมูลเพียงบางสัมปทานมาเผยแพร่และตีความหมายรวมอาจเพื่อสร้างความเข้าใจผิดแก่สาธารณชนส่งผลต่อความเชื่อมั่น และโอกาสทางด้านการลงทุนด้วย?

รัฐยอมรับข้อเสนอสปช. ปรับเงื่อนไขสัมปทานปิโตรฯรอบ 21

   แนวหน้า : นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน ได้ปรับปรุง เงื่อนไขในประกาศเชิญชวนเอกชน ให้เข้ามาขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 21 รวม 29 แปลง ในพื้นที่บนบกและในทะเล ที่กำหนดปิดรับข้อเสนอของผู้ประกอบการในวันที่ 18 ก.พ.นี้ โดยเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปด้านพลังงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) กระทวงพลังงานจึงเห็นควรมีมาตรการในการดำเนินการดังกล่าว โดยได้เพิ่มเติมเงื่อนไขในประกาศเชิญชวนเพิ่มขึ้นอีก 2 ข้อ คือ 1 ในข้อ 2.4 วรรค 2 คือ ให้ผู้ยื่นขอทุกรายจะต้องยินยอมให้กระทรวงพลังงานเปิดเผยคำขอ พร้อมทั้งโครงการและข้อผูกพันด้านปริมาณเงินและปริมาณงานที่ยื่นประกอบคำขอเมื่อสิ้นสุดการพิจารณา

    2 ในข้อ 4.8 เรื่องในกรณีที่รัฐมีนโยบายให้นำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือระบบบริหารจัดการอื่นใด มาใช้สำหรับแปลงสำรวจในอ่าวไทยหมายเลข G3/57 G5/57และ G6/57 เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับศักยภาพปิโตรเลียมของแปลงดังกล่าวยิ่งขึ้น รัฐบาลอาจใช้สิทธิ์แจ้งให้ผู้ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมาเจรจาเพื่อตกลง และยินยอมเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับประโยชน์ สิทธิ์ และหน้าที่ เพื่อเป็นไปตามนโยบายดังกล่าวได้ โดยทั้ง 2 ฝ่ายต้องเจรจาเพื่อให้บรรลุข้อตกลงอย่างเป็นธรรมและสอดคล้อง กับสัญญาที่มีอยู่ระหว่างกันภายใต้หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กฎหมายจะได้กำหนดต่อไป โดยการใช้สิทธิ์แจ้งของรัฐบาลตามข้อนี้ จะต้องดำเนินการภายใน 4 ปีแรก ของระยะเวลาการสำรวจ

   สำหรับ แปลงสัมปทาน G3/57 G5/57 และ G6/57 คือ 3 ใน 29 แปลงที่นำออกมาเปิดประมูล เพียงแต่ว่าเป็น3 แปลงเดิมที่มีผู้สำรวจไว้ว่ามีโอกาสพบปิโตรเลียม แต่ไม่คุ้มค่าเชิงพาณิชย์ จึงคืนสัมปทาน ชธ.จึงนำมาเปิดประมูลใหม่อีกครั้ง แต่ใน 3 แปลง จะเป็นการใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสซีตามข้อเสนอแนะของสปช. ที่ต้องการให้นำระบบพีเอสซีมาทดลองใช้กับประเทศไทย ในขณะที่ 26 แปลงที่เหลือ จะยังคงใช้ระบบสัมปทานตามเดิม

   ทั้งนี้ ขั้นตอนการทำงานหลังครบกำหนดยื่นสิทธิ์สำรวจ 18 ก.พ. ก็จะพิจารณาคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอ คณะกรรมการปิโตรเลียม รมว.พลังงานนำเสนอครม.เห็นชอบ หลังจากที่กระทรวงพลังงานออกสัมปทานโดยครม.อนุมัติก็จะเริ่มเวลานับ 4 ปีหน่วยงานที่รับผิดชอบออกกฎหมายซึ่งจะต้องประมวลจากความเห็นทุกๆ ฝ่ายก่อนนำเสนอนโยบายให้รัฐบาลนำยกร่างเป็นกฎหมายหลังกฎหมายบังคับใช้รัฐบาลก็จะขอใช้สิทธิ์ใน 3 สัมปทานดังกล่าวมาเจรจาต่อรองแต่หากรัฐออกกฎหมายไม่ทันใน 4 ปีหรือเจรจาตกลงไม่ได้เงื่อนไขนี้ก็จะต้องเป็นอันตกไป

     นางพวงทิพย์กล่าวว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ประเมินปริมาณปิโตรเลียมทั้ง 29 แปลง คาดว่าจะมีปริมาณก๊าซธรรมชาติ 1.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต น้ำมันดิบ 20-50 ล้านบาร์เรล และหากมีการลงทุนครบทุกแปลง จะมีมูลค่าลงทุนรวม 5,000 ล้านบาท

 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!