WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

พลังงานยอมถอยสัมปทานรอบ 21 แยกอ่าวไทยใช้ระบบพีเอสซี อ้างทำตามข้อเสนอสภาปฏิรูป

มติชนออนไลน์ :

 

 
 

  

 

     พลังงานยอมถอยเปลี่ยนเงื่อนไขรูปแบบสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ให้แปลงอ่าวไทย 3 แปลงใช้ระบบพีเอสซีได้ อ้างแก้ไขตามข้อเสนอ สปช. แต่ขอ 4 ปี ยกร่าง กม.ระบุเอกชนไม่ตื่นเต้น คาดจะประสบผลสำเร็จ 10 แปลง 

     นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ปรับเพิ่มเงื่อนไขในประกาศเชิญชวนเอกชนให้เข้ามาดำเนินการขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 รวม 2 ข้อ ตามข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คือ 1.ผู้ยื่นขอสำรวจปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ทุกรายจะต้องยินยอมให้กระทรวงพลังงานเปิดเผยคำขอ พร้อมทั้งโครงการและข้อผูกพันด้านปริมาณเงินและปริมาณงานที่ยื่นประกอบคำขอเมื่อสิ้นสุดการพิจารณา และ 2.ได้แบ่งแปลงสำรวจในอ่าวไทยจำนวน 3 แปลงคือ แปลงหมายเลข G3/57 G5/57 และ G6/57 สามารถใช้ระบบอื่น อาทิ ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) นอกจากระบบสัมปทานที่รัฐบาลประกาศไว้ก่อนแล้ว ซึ่งรัฐบาลอาจใช้สิทธิแจ้งให้ผู้ได้รับสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทราบเพื่อเจรจาตกลง อย่างไรก็ตามการใช้สิทธิแจ้งของรัฐบาลตามข้อนี้จะต้องดำเนินการภายใน 4 ปีแรกของระยะเวลาการสำรวจ 

    "เท่ากับว่า แปลงสำรวจที่กำหนดไว้ 29 แปลงนั้นมี 3 แปลงจะใช้ระบพีเอสซี ส่วนที่เหลือก็ใช้ระบบสัมปทานเดิมตามที่ประกาศไว้ ซึ่งหลังจากเอกชนได้รับสิทธิสำรวจแล้วภายใน 4 ปี หากรัฐบาลพบว่าระบบพีเอสซีเหมาะสมกว่าก็จะดำเนินการออกกฎหมาย ตั้งคณะกรรมการอิสระคล้ายคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานปัจจุบัน ขึ้นมารองรับได้ก็จะอาจพิจารณาใช้ระบบพีเอสซีแทนระบบสัมปทาน ไทยแลนด์ทรีพลัส แต่หากตกลงกันไม่ได้ รัฐบาลก็มีสิทธิคัดเลือกเอกชนรายอื่นเข้ามาดำเนินการผลิตภายในระบบพีเอสซี" นางพวงทิพย์กล่าว

      สำหรับ ระยะเวลาการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งที่ 21 นี้ ยังคงกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดตามเดิมที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ เบื้องต้นมีเอกชนสนใจยื่น เช่น บริษัท ซีเอ็นพีซีเอชเค และบริษัท ซี อี ซี อินเตอร์เนชั่นแนล ของจีน บริษัท ซาลามานเดอร์ เอนเนอร์ยี่ ของอังกฤษ บริษัท สยามโมเอโกะ ของญี่ปุ่น บริษัท เชฟรอน ของสหรัฐอเมริกา และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งทั้งหมดไม่ได้ตื่นตระหนกกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เนื่องจากเข้าใจสถานการณ์ของไทยที่ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าสามารถปรับรูปแบบการสำรวจได้ อีกทั้งยังเป็นการประกาศตามกฎหมาย 

     "มั่นใจว่า การสำรวจปิโตรเลียมครั้งนี้จะมีพื้นที่ประสบความสำเร็จกว่า 10 แปลง หรือคิดเป็น 30% ของพื้นที่สำรวจทั้งหมด ส่วนปริมาณสำรองทั้งหมดของ 29 แปลงนั้น คาดว่าจะพบก๊าซธรรมชาติ 1.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และน้ำมัน 20-50 ล้านบาร์เรล" นางพวงทิพย์กล่าว

     นางพวงทิพย์ กล่าวว่า ส่วนแหล่งสัมปทานของบริษัท ปตท.สผ. และเชฟรอน ที่จะหมดอายุสัญญาในปี 2562 นั้นต้องรอการพิจารณาของคณะอนุกรรมการปิโตรเลียม เพื่อศึกษาความเหมาะสมในการบริหารจัดการปิโตรเลียมในแหล่งดังกล่าว คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปี 2560 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!