- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 05 February 2015 23:41
- Hits: 2819
ราคาน้ำมันดิบร่วงจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่4 ติดต่อกัน
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เท็กซัสปรับตัวลดลง หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ ได้ประกาศตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าเพิ่มขึ้น 6.3 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 3.5 ล้านบาร์เรลถึงเกือบ 2 เท่า โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ได้พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 413.06 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ที่เคยบันทึกตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2525 โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้กระตุ้นให้นักลงทุนได้กังวลถึงสภาวะอุปทานน้ำมันที่ล้นตลาดอีกครั้ง
- ค่าเงินสหรัฐฯ ที่กลับมาแข็งค่าขึ้น 1.2% เมื่อเทียบกับเงินสกุลยูโรของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หลังจากอ่อนตัวลงในวันอังคารที่ผ่านมาส่งผลทำให้เกิดแรงขายจากนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้นในสายตาของนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ
+ รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือ PMI ในภาคบริการของสหรัฐฯ ประจำเดือนม.ค. ที่สำรวจโดยมาร์กิต พบว่า ดัชนี PMI ในภาคบริการได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือนที่ 53.3 ในเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ระดับ 54.2 อยู่เหนือระดับ 50 ที่บ่งชี้ถึงการขยายตัวในภาคบริการของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นภาคที่มีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สูงถึงเกือบ 80% ของทั้งหมด โดยรายงานดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ที่พบว่า ดัชนีภาคบริการของ ISM อยู่ที่ระดับ 56.7 ในเดือน ม.ค. เพิ่มขึ้นจากระดับ 56.5 ในเดือน ธ.ค.
+/- นอกจากนี้ ยังมีผลการสำรวจของออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) ที่ระบุว่า ภาคเอกชนของสหรัฐฯ ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมามีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 213,000 ราย แบ่งเป็นในภาคบริการถึง 183,000 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 86 ของทั้งหมดซึ่งบ่งบอกถึงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่กำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามผลสำรวจที่ออกมานั้นต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 225,000 ราย
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 46-51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 52-57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของยูโรโซน หลังจากกรีซได้เผยผลการเลือกตั้งเบื้องต้นว่า พรรคฝ่ายซ้ายหรือพรรคไซรีซาเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง การเลือกตั้งของกรีซครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อทั้งกรีซและสหภาพยุโรป เนื่องจากนโยบายหลักของพรรคไซรีซานั้นคือ การต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดจากโปรแกรมช่วยเหลือด้านการเงินของสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ทำให้ตลาดมีความกังวลว่ากรีซจะยุติมาตราการความช่วยเหลือจาก
ไอเอ็มเอฟและสหภาพยุโรปและตามมาด้วยการผิดนัดชำระหนี้ซึ่งนั่นหมายถึงระบบสกุลเงินยูโรจะเสื่อมค่าลง
ติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ของธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซน โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่นี้ ECB จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจด้วยการซื้อพันธบัตรคืน หรือที่เรียกว่ามาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จำนวนอย่างน้อย 1.1 ล้านล้านยูโร และคงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานในกลุ่มประเทศผู้ใช้เงินสกุลยูโรเอาไว้ที่ 0.05% ตามเดิม
ติดตามวิกฤติเศรษฐกิจของรัสเซีย หลังบริษัท Standard & Poor’s (S&P) ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินที่มีชื่อเสียง ได้ปรับลดความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัสเซีย สู่ระดับขยะ (Junk Bonds)