WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

พลังงานปรับเอ็นจีวีสะท้อนต้นทุน โยนคมนาคมเคาะค่ารถโดยสาร

      แนวหน้า : นายพรายพล คุ้มทรัพย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกรณีที่ผู้ให้บริการรถร่วมสาธารณะเตรียมขอปรับขึ้นค่าโดยสารจาก 8 บาท เป็น 11 บาท และกลุ่มผู้ขับรถแท๊กซี่ขอปรับขึ้นค่ามิเตอร์ หลังจากราคาก๊าซเอ็นจีวี ภาคขนส่งปรับขึ้นอีก 50 สตางค์ เป็น 10 บาทต่อกิโลกรัม ว่า กระทรวงพลังงานยังยืนยันเดินหน้านโยบายการทยอยปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีให้สะท้อนต้นทุนมากที่สุด โดยผลการศึกษาล่าสุดราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลง ส่งผลดีให้ต้นทุนเอ็นจีวีปรับลดลงเหลือ 14-15 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 16 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับค่าความร้อนที่ได้รับนับว่ามีราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเอ็นจีวีในเร็วๆ นี้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน

      สำหรับ การขอปรับขึ้นค่าโดยสารของรถร่วมสาธารณะและรถแท็กซี่นั้น ขึ้นอยู่กับกระทรวงคมนาคมพิจารณาว่าจะยอมปรับขึ้นค่าโดยสารมากน้อยแค่ไหน แต่รัฐบาลยืนยันยังคงมีมาตรการดูแลผลกระทบค่าครองชีพของผู้ที่มีรายได้ต่อไปหากมีการปรับขึ้นค่าโดยสาร ส่วนผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการรถบรรทุกที่ผู้ประกอบการจะขอเจรจาปรับค่าขนส่งขึ้นอีกนั้น ส่วนตัวเห็นว่าราคาเอ็นจีวีที่ปรับขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคขนส่งมากนัก เนื่องจาก 70% ของรถบรรทุกใช้น้ำมันดีเซลเป็นหลัก

    ส่วนกรณีที่กลุ่มเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศนำโดย แพทย์หญิงกมลพรรณ ชีวพันธุศรี เตรียมยื่นฟ้องต่อศาลปกครองคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 นั้น ส่วนตัวไม่ได้รู้สึกกังวลใจแต่อย่างใด เพราะมั่นใจว่านโยบายทั้งหมดได้ดำเนินการอย่างถูกต้องโปร่งใส เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและเป็นประโยชน์ต่อประเทศ จึงยินดีที่จะเดินทางเข้าไปชี้แจงรายละเอียดต่อศาลอยู่แล้ว

     นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา "การเสริมสร้างความตระหนักรู้ด้านพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 1"  กล่าวว่า ความเข้าใจผิดด้านพลังงานในช่วงที่ผ่านนำไปสู่นโยบายภาครัฐที่ผิดพลาด จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีนโยบายอุดหนุนราคาพลังงานข้ามภาค และลดภาษีสรรพสามิตดีเซลจาก 5 บาทต่อลิตร เหลือครึ่งสตางค์ต่อลิตร ทำให้ประเทศสูญเสียมากที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 180,000 ล้านบาทต่อปี

    "การนำเงินจากผู้ใช้น้ำมันเบนซินไปอุดหนุนน้ำมันดีเซลและก๊าซแอลพีจีในครัวเรือน ทั้งที่ผู้ใช้กลุ่มนี้มักเป็นผู้มีรายได้น้อย เช่น ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั่วประเทศ 20 ล้านคัน ซึ่ง 80% อยู่ในต่างจังหวัด ขณะที่การอุดหนุนราคาเอ็นจีวียังทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีที่มีราคาสูงเพิ่มขึ้น จนส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้น 10 สตางค์ต่อหน่วย โดยที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่รู้ตัว"นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

    นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ยอมรับการที่มีกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหามลภาวะในอดีตทำให้คนไม่ไว้ใจ สุดท้ายโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูดไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามกำหนด จึงต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแทน ถ้าโรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูดเกิดขึ้นได้ตามกำหนดเดิม ไทยจะประหยัดเชื้อเพลิงได้ 35,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้า 5% หรือ 20 สตางค์ต่อหน่วย

   ส่วนกรณีที่ ปตท. จะขายหุ้นบางจากนั้น จะเดินตามมติของคณะกรรมการ ปตท. ที่ขายหุ้นให้กองทุนวายุภักดิ์ 15% และผู้ที่เสนอข้อเสนอที่ดีที่สุด 12% ซึ่งข้อเสนอนั้น เป็นทั้งเรื่อง 'ราคาและไม่ใช่ราคา' โดยทั้งหมดจะแล้วเสร็จสรุปในไตรมาส 1 ปีนี้

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!