WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

โครงสร้างราคาขายปลีก ภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมัน(ตอนที่1)

บทความ โดย ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ อีเมล: [email protected]

โครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีก ภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมัน (ตอนที่ 1)

    ในช่วงนี้ เราได้ยินเสียงบ่นกันอยู่บ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะเพ่งเล็งกันไปที่ราคาพลังงานซึ่งเป็นที่เข้าใจว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญอันดับแรกที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าครองชีพ และได้มีการเรียกร้องให้รัฐมีการทบทวนโครงสร้างราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันถูกมองกันว่าสูงเกินไป

    สำหรับในส่วนของโครงสร้างราคาน้ำมันนั้นผมก็ได้อธิบายไปหลายตอนแล้วตั้งแต่เรื่องของโครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศไทยที่ทางรัฐเป็นผู้กำหนด ซึ่งยังมีคนส่วนใหญ่เข้าใจกันว่าบริษัทน้ำมันนั้นเป็นคนกำหนดราคาขายกันเอง โดยโครงสร้างราคาน้ำมันที่รัฐกำหนดขึ้นมานี้ก็เพื่อที่จะใช้บอกกับประชาชนว่าราคาน้ำมันที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไร ยกตัวอย่างเช่นราคา ณ โรงกลั่น รัฐก็เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณซึ่งผมก็ได้เคยอธิบายไปแล้วในตอนที่ผ่านๆ มา และคงจะไม่พูดถึงในตอนนี้อีก

    การกำหนดโครงสร้างราคาของทางภาครัฐก็เพื่อที่จะให้ประชาชนใช้ประกอบการพิจารณาเวลาไปเติมน้ำมันตามสถานีบริการเท่านั้น และเราก็ได้เห็นว่าส่วนใหญ่บริษัทน้ำมันนั้นก็จะตั้งราคาอยู่ในระดับที่ไม่เกินโครงสร้างราคาดังกล่าว เว้นแต่จะมีบางครั้งก็จะมีบางบริษัทที่มีการจำหน่ายในราคาที่สูงกว่าราคาที่คำนวณตามโครงสร้างราคาบ้าง แต่สุดท้ายราคาน้ำมันก็จะลดลงมาอยู่ในระดับเดียวกันกับราคาตามโครงสร้างราคาของภาครัฐอยู่ดี

    สำหรับการที่จะปรับลดค่าครองชีพโดยให้มีการหาทางลดราคาน้ำมันนั้น จริงๆ แล้วก็ต้องกลับมาดูในตัวโครงสร้างราคาน้ำมันว่าเป็นอย่างไร ซึ่งก็ประกอบไปด้วยราคา ณ โรงกลั่น ซึ่งผมก็ได้เคยอธิบายไปแล้วว่าทำไมต้องอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ ทำไมไม่ใช้วิธีคิดแบบ Cost Plus

      แต่ที่ผมจะมาพูดถึงต่อในตอนนี้ก็คือองค์ประกอบอื่นๆ ในโครงสร้างราคาน้ำมันที่ถูกมองว่าน่าจะมีการปรับลดเพื่อที่จะได้ทำให้ราคาน้ำมันนั้นลดลงได้ก็คือภาษีและกองทุนน้ำมัน โดยในปัจจุบันนั้นน้ำมันดีเซลแทบจะไม่มีการเก็บทั้งภาษีและกองทุนน้ำมัน หากดูในโครงสร้างราคาน้ำมันนั้นก็จะเห็นว่ามีการเก็บภาษีสรรพสามิตน้อยมากๆ คือมีการเก็บเพียง 0.005 บาทต่อลิตร ซึ่งก็แทบจะเหมือนกับไม่มีการเก็บภาษีเลย

     นอกจากนี้ อัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันของน้ำมันดีเซลก็มีการเก็บอยู่เพียง 0.25 บาทต่อลิตรเท่านั้น ซึ่งการที่มีการเก็บทั้งภาษีและกองทุนน้ำมันเพียงเล็กน้อยนี้ก็เพื่อที่จะรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เนื่องจากทางรัฐเห็นว่าน้ำมันดีเซลนั้นถือเป็นน้ำมันที่มีปริมาณการใช้ที่สูงคือวันละประมาณเกือบ 60 ล้านลิตร ขณะที่น้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮอลชนิดต่างๆ มีปริมาณการใช้รวมกันอยู่แค่ประมาณวันละ 23 ล้านลิตรเท่านั้น น้ำมันดีเซลจึงถือเป็นน้ำมันพื้นฐานหลักทั้งในภาคการขนส่งและภาคการผลิตต่างๆ การปรับขึ้นของน้ำมันดีเซลจึงถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของการปรับราคาของสินค้าชนิดอื่นๆ

    จึงเหลือเพียงน้ำมันเบนซินและกลุ่มแก๊สโซฮอลซึ่งยังมีการเก็บภาษีและเงินกองทุนน้ำมันอยู่ แต่ในที่นี้ผมขอไปพูดถึงภาษีสรรพสามิตและภาษีเทศบาลก่อน สำหรับน้ำมันเบนซินออกเทน 95 นั้นมีการเก็บภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 7 บาทต่อลิตร สำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E10 และน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 E10 นั้นมีการเก็บภาษีอยู่ในอัตรา 6.3 บาทต่อลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E20 เก็บอยู่ในอัตรา 5.6 บาทต่อลิตร และน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E85 เก็บในอัตราที่น้อยที่สุดเพียง 1.05 บาทต่อลิตร ไม่ทราบว่าเคยสังเกตกันหรือไม่ว่าทำไมอัตราภาษีถึงแตกต่างกันในน้ำมันแต่ละชนิด

      จริงๆ แล้วกรมสรรพสามิตนั้นมีการเก็บภาษีน้ำมันเบนซินในอัตรา 7 บาทต่อลิตรเท่ากันหมด แต่เนื่องจากในน้ำมันแก๊สโซฮอลนั้นมีส่วนผสมของเอทานอลรวมอยู่ด้วย ซึ่งเอทานอลที่นำไปผสมในน้ำมันนี้ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต ดังนั้นอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E10 ปริมาณ 1 ลิตรจึงถูกเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตเฉพาะในส่วนของที่เป็นเนื้อน้ำมันเบนซินที่มีอยู่ในอัตราส่วนร้อยละ 90 จึงทำให้อัตราภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บในน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E10 อยู่ที่ 6.3 บาทต่อลิตร (หรือ 90% คูณด้วย 7 บาทต่อลิตร) น้ำมันแก๊สโซฮอล 91 E10 ก็เช่นเดียวกันคือเก็บในอัตรา 6.3 บาทต่อลิตรเพราะมีตัวน้ำมันเบนซินพื้นฐานผสมอยู่ในอัตราร้อยละ 90 เช่นเดียวกัน สำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E20 นั้นมีน้ำมันเบนซินพื้นฐานผสมอยู่ในอัตราร้อยละ 80 จึงทำให้อัตราภาษีสรรพสามิตอยู่ที่ 5.6 บาทต่อลิตร และน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 E85 ก็คิดจากปริมาณสัดส่วนน้ำมันเบนซินที่ร้อยละ 15 คูณด้วย 7 บาทต่อลิตรจึงอยู่ที่ 1.05 บาทต่อลิตร

     ดังนั้น การที่รัฐจะไปลดภาษีสรรพสามิตลงเพื่อให้ราคาน้ำมันถูกลงนั้น ก็ต้องไปดูว่ารายได้ของรัฐที่จะหายไปนั้นคิดเป็นจำนวนเท่าไร เพราะหากสมมุติว่าไปลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงลิตรละ 3 บาท ให้เหลือเพียง 4 บาทต่อลิตร อัตราภาษีสรรพสามิตของน้ำมันแก๊สโซฮอลชนิดอื่นก็จะปรับลดลงตาม แต่จะใม่ได้ปรับลดลง 3 บาทเท่ากัน เช่น ภาษีสรรพสามิตของน้ำมันแก๊สโซฮอล 95  E85 นั้นจะลดลงเพียง 60 สตางค์เท่านั้น และอัตราภาษีที่ลดลงในน้ำมันแต่ละชนิดก็จะต้องไปดูปริมาณการใช้ของน้ำมันแต่ละชนิดด้วยว่าไปทำให้รายได้เข้าสู่รัฐลดลงไปเท่าใด

     นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องดูอีกอย่างก็คือส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันเบนซินกับน้ำมันแก๊สโซฮอลที่จะแคบลง ซึ่งก็จะส่งผลต่อการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของประเทศได้ ซึ่งตอนที่แล้วผมก็ชี้ให้เห็นแล้วว่าต้นทุนขอพลังงานทดแทนทั้งเอทานอลและไบโอดีเซลนั้นต่างก็มีราคาสูงกว่าราคาน้ำมันพื้นฐานที่เข้าไปผสมทั้งสิ้น ในตอนหน้าผมจะมาพูดถึงเรื่องของภาษีต่อ และก็จะต่อไปยังกองทุนน้ำมันต่อไปว่ารัฐเค้ามีวิธีการกำหนดอย่างไร

 อินโฟเควสท์ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!