- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 02 February 2015 21:03
- Hits: 2853
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 44-49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล”
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (2-6 ก.พ. 58)
ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้คาดว่ายังคงผันผวนในทิศทางขาลง โดยสาเหตุหลักที่กดดันราคาน้ำมันดิบยังคงมาจากอุปทานน้ำมันดิบที่ล้นตลาด และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นอันเนื่องมาจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางยุโรป อย่างไรก็ดี ตลาดยังต้องจับตาแนวทางการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของกรีซหลังจากจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ รวมถึงติดตามผลกระทบทางเศรษฐกิจของยูโรโซนจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางยุโรป ภาวะเศรษฐกิจของรัสเซีย และท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากหากสหรัฐฯปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นและราคาน้ำมันดิบปรับลดลง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ของธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซน โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่นี้ ECB จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจด้วยการซื้อพันธบัตรคืน หรือที่เรียกว่ามาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จำนวนอย่างน้อย 1.1 ล้านล้านยูโร โดยที่ ECB จะเริ่มซื้อพันธบัตรคืนเดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร เริ่มตั้งแต่เดือนมี.ค.นี้ ไปจนถึงสิ้นเดือนก.ย. 2016 หรืออาจซื้อไปจนกว่าจะเห็นการปรับตัวอย่างยั่งยืนของตัวเลขเงินเฟ้อ และจะคงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานในกลุ่มประเทศผู้ใช้เงินสกุลยูโรไว้ที่ 0.05% ตามเดิม
ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของยูโรโซน หลังจากกรีซได้เผยผลการเลือกตั้งเบื้องต้นว่า พรรคฝ่ายซ้ายหรือพรรคไซรีซาเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง การเลือกตั้งของกรีซครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อทั้งกรีซและสหภาพยุโรป เนื่องจากนโยบายหลักของพรรคไซรีซานั้นคือ การต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดจากโปรแกรมช่วยเหลือด้านการเงินของสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ทำให้ตลาดมีความกังวลว่ากรีซจะยุติมาตรการความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟและสหภาพยุโรปและตามมาด้วยการผิดนัดชำระหนี้ซึ่งจะส่งผลให้ระบบสกุลเงินยูโรเสื่อมค่าลง
แม้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯจะส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีอย่างต่อเนื่อง แต่ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด (FOMC) วันที่ 27-28 ม.ค. 58 ที่ผ่านมา เฟดยังคงตัดสินใจรักษาระดับของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) ไว้ที่ 0.25% เช่นเดิม อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงต้องติดตามท่าทีของเฟดว่าหลังจากนี้เฟดจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ ถ้าหากเฟดตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับลดลง เนื่องจากนักลงทุนหันไปลงทุนในตลาดเงินมากขึ้น เพราะได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้น
ติดตามวิกฤติเศรษฐกิจของรัสเซีย หลังบริษัท Standard & Poor’s (S&P) ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินที่มีชื่อเสียง ได้ปรับลดความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัสเซีย สู่ระดับขยะ (Junk Bonds) ซึ่งถือเป็นพันธบัตรที่มีความเสี่ยงสูงกว่าระดับที่น่าลงทุน (Investment Grade) โดยสาเหตุหลักมาจากปัญหารายได้จากการส่งออกน้ำมันของรัสเซียที่ลดลงและผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากมาตรการลงโทษของสหรัฐฯ และยุโรป โดยครั้งนี้ถือเป็นเป็นครั้งแรกในรอบมากกว่า 10 ปีที่พันธบัตรรัฐบาลรัสเซียถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือลงมาอยู่ที่ระดับ Junk Bonds
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตสหรัฐฯ (ISM PMI, Markit PMI) ดัชนีภาคบริการสหรัฐฯ (ISM PMI, Markit PMI) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐฯ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ และอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (26-30 ม.ค. 58)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง $2.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 48.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 4.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 52.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับเบรนท์และเวสต์เท็กซัสมาเฉลี่ยอยู่ที่ 45.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงปรับลดลงต่อเนื่อง โดยแรงกดดันหลักยังคงมาจากอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด นอกจากนี้ การที่สำนักงานข้อมูลสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) และ สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) ได้เปิดเผยตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่สูงขึ้น รวมถึงอุปสงค์ที่หายไปในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตกของสหรัฐฯ อันเนื่องมากจากพายุหิมะ Sandy ถือเป็นปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันดิบเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ความกังวลจากการที่สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลาห์ กษัตริย์ของซาอุดิอาระเบียเสด็จสวรรคต ตัวเลขหลุมขุดเจาะของสหรัฐฯที่มีแนวโน้มปรับลดลงมากกว่าคาด และตัวเลขยอดจำหน่ายบ้านใหม่สหรัฐฯที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ก็ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา