- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 01 February 2015 20:09
- Hits: 2255
กรมธุรกิจพลังงานส่งออกก๊าซหุงต้ม แก้ปัญหาลักลอบข้ามเมียนมาร์
แนวหน้า : แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา กรมธุรกิจพลังงาน ได้แก้ไขประกาศให้ผู้ค้ามาตรา 7 ของไทยสามารถทำการส่งออกก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ หลังจากที่ได้ห้ามการส่งออกมาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนก๊าซหุงต้มในประเทศ ซึ่งล่าสุด ได้มีการอนุมัติโควตาการส่งออกไปประเทศเมียนมาร์ ประมาณ 450 ตันต่อเดือนแล้ว เพื่อจำหน่ายในเขตจังหวัดเมียวดี ตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตามการขอความร่วมมือจากผู้นำทางทหารของกะเหรี่ยงเคเอ็นยู ซึ่งได้รับอนุญาตจากกระทรวงพลังงานแห่งเนปิดอร์ ของเมียนมาร์ ในนามบริษัท ตองยินอังเมี๊ยะ จำกัด ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตาก และแม่ทัพภาคที่ 3 ได้ขอความอนุเคราะห์มายังกรมธุรกิจพลังงาน จัดส่งก๊าซแอลพีจีเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน จากเดิมที่ทางรัฐบาลเมียนมาร์ไม่เคยขอความร่วมมือมายังไทย
ทั้งนี้ การดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาพบว่า สามารถช่วยแก้ปัญหาการลักลอบนำก๊าซแอลพีจีส่งออกไปทางฝั่งเมียนมาร์ได้เกือบจะทั้งหมด เนื่องจากข้อสมมุติฐานที่ว่า แต่เดิมพื้นที่ดังกล่าวไม่มีการอนุมัติให้ดำเนินการส่งแอลพีจีออกไป แต่มีความต้องการใช้แอลพีจีมีจำนวนมาก แล้วฝั่งเมียนมาร์ใช้ก๊าซหุงต้มจากไหน หากไม่มีการลักลอบนำไปจำหน่าย เพราะจากที่อนุมัติโควตาส่งออกไป 450 ตันต่อเดือน ขณะนี้โควตาดังกล่าวเต็มแล้ว และอยู่ระหว่างการขอโควตาเพิ่มขึ้นอีก ทั้งที่ราคาลักลอบและที่ส่งออกไปอย่างถูกกฎหมายมีราคาเท่ากันประมาณ 30-35 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งแสดงว่า ที่ผ่านมาทางฝั่งเมียนมาร์ใช้ก๊าซหุงต้มที่ลักลอบส่งออกไปจากไทยมาโดยตลอด
สำหรับ แอลพีจีที่ทำการส่งออกนี้ ถือเป็นก๊าซฯที่นำเข้ามาโดยบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นราคาตลาดโลกไม่รับการอุดหนุนเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเก็บภาษีแต่อย่างใด และสัญญาการซื้อขายจะดำเนินการผ่านปตท.โดยจะมีผู้ค้าก๊าซหรือผู้รับจ้างขนส่งก๊าซ เป็นผู้จัดส่งให้
ทั้งนี้ นับตั้งแต่กระทรวงพลังงานพลังงานได้อนุญาตให้ดำเนินการส่งออกแอลพีจีไปยังเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอแม่สอด ได้สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มผู้ที่เคยทำการลักลอบส่งออกก๊าซแอลพีจี โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีอิทธิพลในบริเวณชายแดนอำเภอแม่สอด ที่เคยลักลอบส่งออกอย่างเป็นล่ำเป็นสัน และทำอย่างเป็นขบวนการ โดยมีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้องหลายหน่วยเรียกรับผลประโยชน์ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับประเทศเกือบ 2 พันล้านบาทต่อปี โดยขณะนี้กลุ่มผู้มีอิทธิพลเริ่มเคลื่อนไหวที่จะสกัดการส่งออกแอลพีจีแล้ว เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง แต่ทางภาครัฐพยายามที่จะขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการป้องกันปัญหา เพื่อขจัดปัญหาการลักลอบส่งออกก๊าซฯต่อไป