- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Friday, 30 January 2015 22:38
- Hits: 2799
ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้น หลังบริษัทน้ำมันในสหรัฐฯ เริ่มปรับลดการผลิตน้ำมันดิบ และตัวเลขการว่างงานในสหรัฐฯ ที่ดีขึ้น
+ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีแรงซื้อกลับเข้ามา หลังมีการประกาศลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำรวจและผลิตน้ำมันดิบในหลายบริษัทของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานในปี 2558 โดยบริษัท ConocoPhillips ได้ประกาศลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อการดำเนินงานของบริษัท (Capex) เพิ่มอีก 15% จากก่อนหน้าที่ได้ลดไปแล้ว 20% ซึ่งถือเป็นบริษัทน้ำมันที่ลดค่าใช้จ่ายมากที่สุดในสหรัฐฯ นอกจากนี้บริษัทบาร์เคลย์ ยังออกมาวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าบริษัทผลิตน้ำมันและก๊าซควรปรับลดการสำรวจและผลิตน้ำมันดิบในอเมริกาเหนือลงอีก 30% ในปี 2558 ถ้าหากราคาน้ำมันดิบยังอยู่ที่ระดับ 50-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
+ นอกจากนี้บริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปอย่าง เชลล์ ได้ประกาศตัดงบรายจ่ายด้านการลงทุน 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า หลังกำไรลดลงจากการทรุดตัวของราคาน้ำมัน โดยเผยว่ากำไรลดลงถึง 57% ในไตรมาส 4 ของปี 2557
- อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากตลาดยังคงถูกกดดันหลังตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ประกาศเมื่อวันก่อน ปรับเพิ่มขึ้นถึง 9 ล้านบาร์เรล ประกอบกับตัวเลขล่าสุดที่บริษัท Genscape รายงานว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮม่า ในช่วงวันที่ 23-27 ม.ค. เพิ่มขึ้น 1.6 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่ล้นตลาด อันเป็นผลจากการที่โรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งในเอเชียปรับเพิ่มกำลังการผลิตหลังมีกำไรที่ดีขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตในเอเชียพยายามหาทางส่งออกน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันเบนซินรายใหญ่ในภูมิภาคมีอุปสงค์กลับเข้ามา อย่างไรก็ดีอุปสงค์ที่กลับเข้ามายังไม่เพียงพอที่สนับสนุนให้ราคาปรับขึ้นไปได้มากนัก เนื่องจากในภูมิภาคยังมีอุปทานที่ล้นตลาดและอุปสงค์ที่อ่อนตัวลงในช่วงฤดูหนาว
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 43-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 47-52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของยูโรโซน หลังจากกรีซได้เผยผลการเลือกตั้งเบื้องต้นว่า พรรคฝ่ายซ้ายหรือพรรคไซรีซาเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง การเลือกตั้งของกรีซครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อทั้งกรีซและสหภาพยุโรป เนื่องจากนโยบายหลักของพรรคไซรีซานั้นคือ การต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดจากโปรแกรมช่วยเหลือด้านการเงินของสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ทำให้ตลาดมีความกังวลว่ากรีซจะยุติมาตราการความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟและสหภาพยุโรปและตามมาด้วยการผิดนัดชำระหนี้ซึ่งนั่นหมายถึงระบบสกุลเงินยูโรจะเสื่อมค่าลง
ติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ของธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซน โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่นี้ ECB จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจด้วยการซื้อพันธบัตรคืน หรือที่เรียกว่ามาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จำนวนอย่างน้อย 1.1 ล้านล้านยูโร และคงอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานในกลุ่มประเทศผู้ใช้เงินสกุลยูโรเอาไว้ที่ 0.05% ตามเดิม
ติดตามวิกฤติเศรษฐกิจของรัสเซีย หลังบริษัท Standard & Poor’s (S&P) ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินที่มีชื่อเสียง ได้ปรับลดความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัสเซีย สู่ระดับขยะ (Junk Bonds)
+ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานลดลงต่ำสุดรอบเกือบ 15 ปี โดยตัวเลขประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ม.ค. ลดลง 43,000 ราย อยู่ที่ระดับ 265,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.43 ช่วยคลายความกังวลที่ว่าตลาดแรงงานอาจชะลอตัวลงในปีนี้ และสะท้อนถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง
+ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ลงมติในการประชุมวันที่ 27-28 ม.ค. ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 10-0 เห็นพ้องให้คงอัตราดอกเบี้ยใกล้ 0% อย่างน้อยจนถึงกลางปีนี้ ภายหลังจากที่แถลงการณ์ของ FOMC ระบุว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังสามารถรอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปได้อีก