- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Friday, 30 January 2015 21:52
- Hits: 2134
ยอดใช้ NGV ร่วง 200 ตัน/วัน เหตุรถบ้านแห่เติมน้ำมันแทน
แนวหน้า : นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าว ปตท.สนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่จะทยอยปรับราคาเอ็นจีวีสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง สนับสนุนกลไกตลาด โดย ปตท.จะถอยจากการเป็นผู้ลงทุนสร้างปั๊มเอ็นจีวีทั้งระบบ เป็นเพียงผู้ค้าส่งผ่านท่อก๊าซเท่านั้นแล้วให้เอกชนสร้างปั๊ม/ขนส่ง/ทำตลาดเช่นเดียวกับตลาดน้ำมัน
นายณัฐชาติกล่าวว่า จากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงกว่า 50% ทำให้ความต้องการใช้ก๊าซเอ็นจีวีของประเทศลดลงประมาณ 200 ตัน/วันจากเดิมกว่า 9,000 ตัน/วัน ส่วนใหญ่เกิดจากรถบ้านหันกลับไปเติมน้ำมันมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลดีที่ราคาน้ำมันลดลงก็ทำให้ราคาก๊าซฯลดลงและส่งผลให้ต้นทุนเอ็นจีวีลดลงเมื่อคำนวณเป็นขายปลีกแล้วจากเดิมคาดว่าจะต้องทยอยปรับจากราคาขายปลีก 12.50 บาท/กก.เป็น 16 บาท/กก. ก็กลายเป็น 14.50 บาท/กก. โดยมาจากราคาเนื้อก๊าซได้ลดลงเหลือประมาณ 9.50-10.00 บาท/กก. ค่าลงทุนสถานีแม่ 1 บาท/กก. ค่าขนส่ง 1.50 บาท/กก. และสถานีลูกอีก 1.50-1.80 บาท/กก.
ทั้งนี้ หากที่ประชุมกบง.วันนี้ (30 ม.ค.) ประกาศโครงสร้างเอ็นจีวี ตามกลไกตลาดและเห็นชอบให้ทยอยขยับราคาเอ็นจีวี หากขึ้นทีละ 1 บาท/กก. ก็ขยับอีก 2 ครั้งก็จะเป็นไปตามต้นทุน 14.50 บาท/กก. ซึ่งการอุดหนุนเอ็นจีวีก็จะหมดไปการขึ้นลงราคาสะท้อนต้นทุนการสร้างปั๊มก็จะเกิดขึ้นตามความต้องการของตลาด ปตท.ก็จะลดภาระจากเดิมอุดหนุนเอ็นจีวี2 หมื่นล้านบาท/ปี
“หากรัฐทยอยขึ้น NGV จนสะท้อนต้นทุนการอุดหนุนราคาก็จะหมดไปการขึ้นลงราคาสะท้อนต้นทุนการสร้างปั๊มก็จะเกิดขึ้นตามความต้องการของตลาด ปตท.ก็จะลดภาระจากเดิมอุดหนุน NGV 2 หมื่นล้านบาท/ปี อย่างไรก็ตามเวลานี้การที่ราคา NGV ไม่สะท้อนต้นทุนการให้ค่าการตลาดที่จูงใจจึงมีต่ำ ปตท.เองก็ต้องลงทุนปั๊มเพียงรายเดียวไม่ใช่ว่าไม่ได้เปิดให้แต่การลงทุนสูงไม่คุ้มค่า” นายณัฐชาติกล่าว
นายทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้เร่งประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจให้กลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อย กลุ่มหาบเร่ รถเข็นอาหาร ร้านอาหารแบบคูหาชั้นเดียว ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิในการซื้อก๊าซหุงต้มได้ในราคาเดิม ให้มาร่วมโครงการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ภาคครัวเรือนซึ่งกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว และพบว่าในภาคครัวเรือนยังมีการเข้าร่วมน้อยกว่าที่คาด โดยมั่นใจภายหลังเพิ่มการชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องการรับสิทธิ์ดังกล่าวนั้น ซึ่งทำได้ไม่ยาก ไม่มีขั้นตอนซับซ้อนมากนัก และทำด้วยตนเองได้ทันที ทั้งในส่วนกลาง และในส่วนภูมิภาค จะทำให้เกิดกระแสความสนใจและมีผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น