WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

นายกฯลั่นเปิดสัมปทานปิโตรเลียมเป็นอำนาจก.พลังงาน ห้ามเคลื่อนไหวคัดค้าน

   พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)กล่าวว่า การเดินหน้าเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 เป็นอำนาจกระทรวงพลังงาน เพราะขณะนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมพลังงานสำรองเพื่อความมั่นคงของประเทศ พร้อมระบุว่ากลุ่มคัดค้านในประเด็นนี้จะออกมาเคลื่อนไหวไม่ได้อย่างเด็ดขาด

   "เรื่องนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงพลังงานงาน ตามที่มีพันธกิจในการดูแลด้านพลังงานของประเทศที่จะต้องดำเนินการหาแหล่งพลังงานทดแทนแหล่งเก่าที่จะทยอยหมดลง ประเทศต้องเตรียมสำรองพลังงานไว้เพื่อไม่ให้กระทบต่อความมั่นคง เพราะหากประเทศเพื่อนบ้านไม่ส่งพลังงานมาให้ไทยก็อาจจะเกิดปัญหาเหมือนกรณีประเทศใหญ่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้"พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

   ส่วนจะเกิดข้อผิดพลาดจากการเปิดสัมปทานหรือไม่ คงต้องมาพิจารณากันอีกครั้งในภายหลัง แต่ยืนยันว่าการเปิดสัมปทานมีกระบวนการพิจารณาตรวจสอบแหล่งพลังงานทั้งทางธรณีวิทยา และตรวจสอบทางดาวเทียม ซึ่งเป็นการเตรียมการมาในระดับหนึ่งแล้ว และหากไม่เริ่มดำเนินการในวันนี้จนส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนพลังงานในอนาคต กลุ่มที่ต่อต้านคัดค้านจะออกมารับผิดชอบหรือไม่

   พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวอีกว่า จะต้องไม่มีกลุ่มใดออกมาชุมนุมต่อต้านคัดค้าน หรือ จัดเวทีระดมความเห็นเกี่ยวกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ส่วนความเห็นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)ที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานในครั้งนี้ รัฐบาลจะนำมาพิจารณาและชี้แจงข้อสงสัย พร้อมขอร้องสื่อมวลชนอย่าขยายความเรื่องนี้ให้เกิดเป็นประเด็นขัดแย้ง

ก.พลังงาน เดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ยันเหมาะสม-มีความโปร่งใส

                นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงงาน ยืนยันเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 แม้ว่าสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) จะคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม โดยขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจต่างๆ พร้อมชี้แจงระบบสัมปทานปิโตรเลียมมีความชัดเจนโปร่งใสในทุกขั้นตอน และสร้างผลประโยชน์ให้แก่รัฐสูงสุด แต่หากมีข้อกังวลกระทรวงพลังงานก็พร้อมทจะศึกษาระบบอื่นควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC)

   "ระบบบริหารจัดการปิโตรเลียมของไทยในปัจจุบันที่ใช้ระบบ Thailand 3+ นั้นสามารถที่จะรองรับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 นี้ได้อย่างมีความโปร่งใสเป็นไปตามกฎหมายที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องภายใต้หลักเกณฑ์การแบ่งผลประโยชน์ ระหว่างรัฐและผู้รับสัมปทาน และสร้างผลประโยชน์ให้แก่รัฐสูงสุด"นายอารีพงศ์ กล่าว

   ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุอีกว่า ระบบสัมปทานของไทยเป็นระบบมาตรฐานสากล มีความโปร่งใส โดยสามารถสอบทานความถูกต้อง(Cross Check) ภายใต้หลักเกณฑ์การแบ่งผลประโยชน์ ระหว่างรัฐกับผู้รับสัมปทาน(Fical Regime) และหลักเกณฑ์ในด้านการตรวจสอบและควบคุมการดำเนินงานของผู้รับสัมปทานที่ชัดเจน และต่อเนื่อง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และกรมสรรพากร เป็นต้น

     สำหรับ เรื่องการตรวจสอบปริมาณสำรองปิโตรเลียม รัฐทราบตัวเลขปริมาณสำรองปิโตรเลียมของแหล่งต่างๆจากรายงานของบริษัทผู้รับสัมปทาน ซึ่งตัวเลขที่รายงานนี้เป็นตัวเลขเดียวกันกับที่ผู้รับสัมปทานรายงานแก่ผู้ร่วมลงทุน(Partner) ซึ่งต้องผ่านกระบวนการประเมินที่ถูกต้องเป็นไปตามกฏเกณฑ์มาตรฐานสากล ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็จะมีหน้าที่ตรวจสอบวิธีประเมินปริมาณสำรองของบริษัทผู้รับสัมปทานอีกทีหนึ่ง

   นอกจากนี้ รัฐยังได้ว่าจ้างองค์กรผู้ชำนาญการ( Third Party) เพื่อมาสุ่มตรวจตัวเลขปริมาณสำรองของบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่าตัวเลขที่บริษัทรายงานนั้นได้จากวิธีการประเมินที่เชื่อถือได้ตามหลักสากล รวมถึงกระบวนการตรวจสอบค่าใช้จ่าย และการอนุมัติการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับตามกฏหมายของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

   ในขั้นตอนการผลิต และขายปิโตรเลียมนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็มีการควบคุมและตรวจสอบอย่างรัดกุมและเป็นระบบ เพื่อป้องกันการสูญหายหรือลักลอบระหว่างการดำเนินการ โดยเฉพาะการขนถ่ายและการซื้อขายปิโตรเลียมจากแหล่งในทะเล

    สำหรับ ระบบแบ่งปันผลผลิต(Production Sharing Contract -PSC) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้แพร่หลายในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ระบบสัมปทานมีการใช้แพร่หลายในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งสองระบบต่างสามารถทำหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติได้   โดยมีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกัน เช่น ในส่วนมูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตได้ หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว(Cost Oil หรือ Cost Gas) ส่วนที่เหลือ (Profit Oil หรือ Profit Gas) จะแบ่งกันระหว่างรัฐกับผู้ประกอบการ

    แต่ความแตกต่างกันจะมีกลไกในการจัดเก็บ เช่น ระบบสัมปทานจะใช้กลไกภาษีเงินได้ และค่าภาคหลวงเป็นกลไกเก็บผลประโยชน์หลัก แต่ระบบ PSC จะใช้กลไกในการแบ่งปันผลกำไรของ Profit Oil ที่ขายได้ เป็นต้น ซึ่งจะจัดเก็บมากหรือน้อยนั้นสามารถก็อาจระบุเป็นจำนวนร้อยละที่อยู่ในกลไกการจัดเก็บนั้นๆ ได้

    นายอารีพงศ์ กล่าวอีกว่า หากมีข้อกังวลกระทรวงพลังงานก็พร้อมที่จะศึกษาระบบอื่นคู่ขนานไปด้วย โดยเฉพาะระบบ PSC ซึ่งที่ผ่านมาจากประสบการณ์ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย มีการใช้ระบบ PSC อยู่ แต่หากพบว่านำระบบสัมปทานแบบ Thailand 3 มาปรับใช้ก็จะมีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่รัฐที่ดีกว่าระบบ PSC อย่างไรก็ตามจะมีการศึกษาต่อไปว่าในการเปิดสัมปทานรอบ 21 นี้ระบบใดจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ได้คุ้มค่ากว่า กระทรวงพลังงานก็พร้อมจะปรับระบบเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดเช่นกัน

   "กรณีที่ สปช.จะเสนอรัฐบาลเพื่อพิจารณาเปลี่ยนแปลงระบบนั้น คงต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐที่จะสั่งการมายังกระทรวงพลังงงาน ซึ่งก็พร้อมจะรับฟังและปรับปรุงต่อไป อย่างไรก็ตามยอมรับว่าหากเปลี่ยนมาใช้ระบบ PSC ไทยยังไม่มีความพร้อม เพราะต้องเปลี่ยนกฏหมายและตั้งองค์กรนิติบุคคลขึ้นมาดูแล คงต้องใช้ระยะเวลา 4-5 ปี และกว่าจะผลิตปิโตรเลียมได้คงต้องใช้ระยะเวลาอีก 8-9 ปี อาจกระทบความมั่นคงด้านพลังงานของไทยได้"นายอารีพงศ์ กล่าว

    ก่อนหน้านี้ ที่ประชุม สปช.พิจารณารายงานศึกษาเรื่องการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่กรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสนอ โดยสมาชิกได้อภิปรายอย่างกว้างขวางก่อนจะลงมติไม่เห็นด้วยกับรายงานของกรรมาธิการเสียงข้างมากที่มีข้อสรุปให้เปิดสัมปทานปิโตรเลียม ด้วยคะแนนเสียง 130 ต่อ 79 เสียง และงดออกเสียง 21 เสียง ขณะที่รัฐบาลเห็นว่ากรณีนี้ไม่ใช่การคัดค้าน แต่เป็นการท้วงติงวิธีดำเนินการเท่านั้น

                อินโฟเควสท์

กระทรวงพลังงาน ยืนยันระบบสัมปทาน มีความโปร่งใสและเสริมสร้างความมั่นคงพลังงานสูงสุด

     กระทรวงพลังงาน ชี้แจง ระบบสัมปทานปิโตรเลียม มีความชัดเจนโปร่งใส ทุกขั้นตอน ช่วยให้ประเทศชาติเดินหน้าสำรวจและผลิตปิโตรเลียมด้วยความมั่นใจ

     ตามที่ สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ครั้งที่ 4/2557 วันที่ 13 มกราคม 2558 ได้ประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาเรื่องการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ซี่งในการประชุมได้มีการอภิปรายในประเด็นดังกล่าวอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเหมาะสมเปรียบเทียบระหว่างการใช้ระบบสัมปทาน และระบบแบ่งปันผลผลิต ซึ่งมีสาระสำคัญด้านความโปร่งใส และการกำกับดูแลแล้วนั้น

     กระทรวงพลังงาน ขอชี้แจงว่า ระบบสัมปทานของไทย เป็นระบบมาตรฐานสากล มีความโปร่งใส โดยสามารถสอบทานความถูกต้อง(Cross Check) ภายใต้หลักเกณฑ์การแบ่งผลประโยชน์ ระหว่างรัฐกับผู้รับสัมปทาน(Fical Regime) และหลักเกณฑ์ในด้านการตรวจสอบและควบคุมการดำเนินงานของผู้รับสัมปทานที่ชัดเจน และต่อเนื่อง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และกรมสรรพากร เป็นต้น

     สำหรับ เรื่องการตรวจสอบปริมาณสำรองปิโตรเลียม รัฐทราบตัวเลขปริมาณสำรองปิโตรเลียมของแหล่งต่างๆจากรายงานของบริษัทผู้รับสัมปทาน ซึ่งตัวเลขที่รายงานนี้เป็นตัวเลขเดียวกันกับที่ผู้รับสัมปทานรายงานแก่ผู้ร่วมลงทุน(Partner) ซึ่งต้องผ่านกระบวนการประเมินที่ถูกต้องเป็นไปตามกฏเกณฑ์มาตรฐานสากล ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็จะมีหน้าที่ตรวจสอบวิธีประเมินปริมาณสำรองของบริษัทผู้รับสัมปทานอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้รัฐยังได้ว่าจ้างองค์กรผู้ชำนาญการ( Third Party) เพื่อมาสุ่มตรวจตัวเลขปริมาณสำรองของบริษัทฯ เพื่อให้มั่นใจว่าตัวเลขที่บริษัทรายงานนั้นได้จากวิธีการประเมินที่เชื่อถือได้ตามหลักสากล รวมถึงกระบวนการตรวจสอบค่าใช้จ่าย และการอนุมัติการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับตามกฏหมายของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

    สำหรับ ในขั้นตอนการผลิต และขายปิโตรเลียมนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็มีการควบคุมและตรวจสอบอย่างรัดกุมและเป็นระบบ เพื่อป้องกันการสูญหายหรือลักลอบระหว่างการดำเนินการ โดยเฉพาะการขนถ่ายและการซื้อขายปิโตรเลียมจากแหล่งในทะเล ซึ่งตามประบวนการนั้น น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลว (Condensate)จากแท่นผลิตจะถูกส่งไปยังเรือกักเก็บปิโตรเลียม และจะมีเรือขนถ่ายน้ำมันมาเทียบเพื่อรับซื้อ ซึ่งกระบวนการซื้อ - ขายจะต้องผ่านอุปกรณ์มาตรวัด (Meter) โดยในการซื้อขายทุกครั้งจะมีเจ้าหน้าที่ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นพยาน ทั้งนี้ได้มีการกำหนดให้ใช้อุปกรณ์มาตรวัดที่ได้มาตรฐานสากลของอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ได้แก่ มาตรฐาน American Gas Association (AGA) และมาตรฐาน American Petroleum Institute (API) ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการสำรวจ ผลิต และอนุรักษ์ปิโตรเลียม พ.ศ. 2555 ออกตาม ความในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ 2514 และยังต้องทำการเปรียบเทียบมาตรวัด(Calibrate) ตามระยะเวลาที่กำหนด ต่อหน้าเจ้าหน้าที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม และยังมีบทกำหนดโทษห้ามมิให้ผู้ซื้อและผู้ขายทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์มาตรวัดโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น การกำกับดูแลการซื้อ - ขาย ปิโตรเลียมของภาครัฐเป็นไปอย่างมีระบบภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายอย่างรัดกุม

     แต่สำหรับระบบแบ่งปันผลผลิต(Production Sharing Contract – PSC) เป็นระบบที่ใช้แพร่หลายในประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่ระบบสัมปทานมีการใช้แพร่หลายในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งสองระบบต่างสามารถทำหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติได้ โดยมีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกัน เช่น ในส่วนมูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตได้ หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว(Cost Oil หรือ Cost Gas) ส่วนที่เหลือ (Profit Oil หรือ Profit Gas) จะแบ่งกันระหว่างรัฐกับผู้ประกอบการ แต่ความแตกต่างกันจะมีกลไกในการจัดเก็บ เช่น ระบบสัมปทานจะใช้กลไกภาษีเงินได้ และค่าภาคหลวงเป็นกลไกเก็บผลประโยชน์หลัก แต่ระบบ PSC จะใช้กลไกในการแบ่งปันผลกำไรของ Profit Oil ที่ขายได้ เป็นต้น ซึ่งจะจัดเก็บมากหรือน้อยนั้นสามารถก็อาจระบุเป็นจำนวนร้อยละที่อยู่ในกลไกการจัดเก็บนั้นๆ ได้

ก.พลังงานไม่สนสปช. ยันเดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21

     แนวหน้า : นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ลงมติไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ตามแผนงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเตรียมส่งรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการเรื่อง การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 และความเห็นประกอบอื่นๆ มาให้รัฐบาลเพื่อประกอบการพิจารณานั้น

     ขณะนี้ รอให้ สปช.ส่งรายงานผลสรุปอย่างเป็นทางการมาก่อนหลังจากนั้นจะดูข้อเสนอต่างๆ แต่หลักการปัจจุบันยังไม่เปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะกระทรวงพลังงานมีหน้าที่บริหารและมีหน้าที่รับฟังจากสปช. เพื่อพิจารณาต่อไป เนื่องจาก สปช.มีหน้าที่ศึกษาและแนะนำผลการศึกษาเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆ ทางกระทรวงพลังงาน จึงพร้อมที่จะเดินหน้าตามกรอบเดิม

   “การเปิดให้เอกชนยื่นขอสำรวจปิโตรเลียมยังคงกำหนดเดิมคือภายในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้ เพราะประเทศไทยต้องรักษาเกียรติยศของตัวเอง เมื่อพูดแล้วต้องดำเนินการตามนั้น ไม่งั้นประเทศอื่นๆคงไม่เชื่อถือ ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลต้องรักษาความน่าเชื่อถือนี้ ส่วนข้อเสนอของสปช.ซึ่งเป็นปัญญาชนก็พร้อมรับฟัง”นายณรงค์ชัยกล่าว

   ส่วนข้อเสนอเรื่องระบบแบ่งปันผลประโยชน์ หรือพีเอสซีนั้น เนื่องจากมีขั้นตอนการพิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์ที่ต้องใช้เวลานาน ดังนั้นหากมีการเปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ หรือรอบ 22 ก็อาจใช้ระบบพีเอสซี เพราะถึงเวลานั้นระบบนี้น่าจะเหมาะสมกับไทยก็ได้

   นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานขอยืนยันว่า ระบบบริหารจัดการปิโตรเลียมของไทยในปัจจุบัน ที่ใช้ระบบ Thailand 3+ นั้น สามารถที่จะรองรับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 นี้ ได้อย่างมีความโปร่งใสเป็นไปตามกฎหมาย ที่สามารถตรวจสอบความถูกต้องภายใต้หลักเกณฑ์การแบ่งผลประโยชน์ ระหว่างรัฐและผู้รับสัมปทาน และสร้างผลประโยชน์ให้แก่รัฐสูงสุด

   สำหรับ การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 นี้ กระทรวงจะพิจารณาองค์ประกอบของคณะกรรมการปิโตรเลียมให้มีความเข้มข้นขึ้นเพื่อสร้างความโปร่งใสให้กับสังคมและรักษาผลกระโยชน์ของประเทศ โดยจะดำเนินการ 2 ส่วน คือ 1.การคัดเลือกกรรมการในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิจะคัดจากผู้มีประสบการณ์ด้านภาษี กฎหมาย อุตสาหกรรม และมีตัวแทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นร่วมด้วย และ2.จะมีการปรับรูปแบบการทำบัญชี การตรวจสอบ เพื่อให้ประโยชน์ตกกับไทยมากขึ้น โดยจะมีการว่าจ้างบริษัทด้านการทำบัญชี 1 ใน 4 ของโลกเข้ามาทำดำเนินการ เพื่อพิจารณาด้านค่าใช้จ่าย หรือกระบวนการใดต้องปรับปรุงบ้าง โดยเริ่มเปิดคัดเลือกแล้วในเดือนมกราคมนี้

   นายอารีพงศ์ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงสำรวจต่างๆ เขตพื้นที่บนบกและในทะเลอ่าวไทย รวม 29 แปลง ประกอบด้วย แปลงบนบก 23 แปลง และแปลงในทะเลอ่าวไทย 6 แปลง และมั่นใจว่าภายใต้ระบบสัมปทานปัจจุบัน จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ทั้งในด้านความมั่นคงพลังงานและการเก็บรายได้เข้ารัฐ

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!