WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ค้านปรับโครงสร้างแอลพีจี รสนานำหารือสปช. 13 ม.ค.ปตท.ผลิตเพิ่ม 2-3 แสนตัน

   ไทยโพสต์ : วิภาวดีรังสิต * 'รสนา'เตรียมถก สปช. 13 ม.ค.นี้ ชี้ปรับโครงสร้างแอลพีจีเอื้อประโยชน์ ปตท. 'ไพรินทร์' ระบุความต้องการใช้ก๊าซหุงต้มยังเพิ่มสูง เตรียมลงทุน 38,000 ล้านบาท ขยายศักยภาพคลังและท่าเรือรองรับ พร้อมเร่งศึกษาขยายกำลังผลิตป้อนในประเทศอีก 2-3 แสนตันต่อปี

     น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากก๊าซปิโตร เลียมเหลว (แอลพีจี) ในส่วนของภาคปิโตรเคมี ที่ 1 บาทต่อกิโลกรัมนั้น ส่วนตัวมองว่าสร้างความไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ใช้แอลพีจีทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคครัวเรือน เนื่องจากภาคปิโตร เคมีก็นำแอลพีจี ซึ่งเป็นทรัพยากร ธรรมชาติจากอ่าวไทยมาใช้เช่นเดียวกับภาคครัวเรือน ขนส่ง และอุตสาหกรรม ดังนั้น จึงต้องเสียเงินเข้ากองทุนฯ ในอัตราที่เท่าเทียมกันด้วย

    ขณะที่การปรับโครงสร้างต้นทุนราคาแอลพีจีที่ 488 ดอลลาร์ สหรัฐต่อตัน จากเดิม 333 ดอลลาร์ สหรัฐต่อตัน ส่วนตัวมองว่า กบง. ยึดผลประโยชน์ของภาคเอกชนมากกว่าภาคประชาชน เนื่องจากการปรับสูตรราคาส่งผลให้ต้นทุนราคาแอลพีจีสูงขึ้น ขณะที่ บมจ.ปตท. สามารถขายก๊าซในราคาสูงขึ้น

    ทั้งนี้ มองว่า กบง.มีพฤติ กรรมเลือกปฏิบัติ เอื้อประโยชน์ต่อเอกชนอย่างชัดเจน ดังนั้น เตรียมนำกรณีดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุม สปช. ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 13 ม.ค.2558 นี้

    นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. กล่าวว่า การที่ กบง.ปรับขึ้นราคาแอลพีจีหน้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติและโรงกลั่นขึ้น ทำให้ ปตท.มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนที่เป็นจริง และทำให้ ปตท.เร่งดำเนินการลงทุนขยายกำลังการผลิตแอลพีจีเพิ่มเข้ามาในระบบอีกประมาณ 2-3 แสนตันต่อปี โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและออกแบบการเพิ่มกำลังผลิต

   นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. กล่าวว่า ความต้องการใช้แอลพีจีในภาพรวมที่ยังคงมีอัตราที่เติบโตขึ้น ทำให้ ปตท.ยังมีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนขยายขีดความสามารถในการรองรับแอลพีจีนำเข้า ในระยะที่ 1 มูลค่าลงทุนประมาณ 38,000 ล้านบาท เนื่องจากคลังแอลพีจี และท่าเรือขนถ่ายแอลพีจีที่มีอยู่เดิม ไม่เพียงพอที่จะรองรับ

    แต่การลงทุนระยะที่ 2 จะ ชะลอไปก่อน เพราะจากการที่ กบง.มีมติปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีใหม่ จะทำให้ทั้งโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และโรงกลั่นน้ำมัน มีแรงจูงใจที่จะผลิตแอลพีจีในประ เทศมากขึ้น

    แหล่งข่าวจาก ปตท. กล่าวว่า การดำเนินการที่จะขยายกำลังการผลิตแอลพีจีในส่วนของ ปตท.นั้น ยังเป็นขั้นตอนของการเตรียมการเฉพาะภายใน เมื่อมีมติการปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีออกมาแล้ว น่าจะทำให้มีการเร่งรัดการลงทุนได้ โดยในส่วนของโรงแยกก๊าซ คาดว่าจะได้กำลังการผลิตเพิ่ม 3 แสนตันต่อปี จากกำลังการผลิตในภาพรวมประมาณ 3.6 ล้านตันต่อปี ส่วนโรงกลั่นน้ำมัน คาดว่าจะผลิตได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 60,000 ตันต่อปี จากเดิมผลิตอยู่ประมาณ 1.86 ล้านตันต่อปี

   สำหรับ ปริมาณการใช้แอลพีจีในปี 2557 มีประมาณ 7.43 ล้านตัน ลดลงจากปี 2556 ประมาณ 1.1% กลุ่มที่ใช้แอลพีจีมากสุด คือ ปิโตรเคมี 2.6 ล้านตัน รองลงมา ภาคครัวเรือน 2.2 ล้านตัน ลดลง 9% ภาคขนส่งใช้ 2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11.5% และภาคอุตสาหกรรม 0.6 ล้านตัน ลดลง 4.6%.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!