- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 08 January 2015 00:34
- Hits: 2191
พลังงาน คาดปี 58 ความต้องการใช้น้ำมันโต 2.4%,ก๊าซฯโต 3.2%
กระทรวงพลังงาน คาดการณ์สถานการณ์พลังงานประเทศไทยในปี 58 การใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นคาดว่าจะอยู่ที่ 2,106 เทียบเท่าพันบาร์เรลน้ำมันดิบ/วัน เพิ่มขึ้น 2.9% จากปี 57 ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยการใช้น้ำมันคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.4% การใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 3.2% การใช้ถ่านหินและลิกไนต์ เพิ่มขึ้น 1.8% และการใช้พลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้า เพิ่มขึ้น 16.6%
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน คาดว่า การใช้ก๊าซธรรมชาติในปี 58 จะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า PDP2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ในปี 58 จะมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ กำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 3,057 เมกะวัตต์ ขณะที่การผลิตไฟฟ้าในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 4.3% ตามภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่ามีการขยายตัวต่อเนื่องจากตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
สำหรับ ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในปี 58 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.5% การใช้น้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 2.2% หากรัฐบาลยังมีนโยบายให้คงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้อยู่ระดับต่ำ ขณะที่คาดว่าการใช้ LPG จะมีการใช้เพิ่มขึ้น 2.8% เนื่องจากความต้องการใช้ในรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนการใช้น้ำมันเตาคาดว่าจะลดลง 2.9%
ด้านสถานการณ์พลังงานประเทศไทยปี 57 การใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 2.045 ล้านบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับปี 56 โดยก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนการใช้มากที่สุดคิดเป็น 45% รองลงมาคือ น้ำมัน 36% สำหรับมูลค่าการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายมีมูลค่า 2,168,867 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 56 ประมาณ 39,644 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.9% ด้านมูลค่าการนำเข้าพลังงาน มีมูลค่า 1,408,807 ล้านบาท ลดลงจากปี 56 ประมาณ 6,913 ล้านบาท หรือลดลง 0.5% ส่วนมูลค่าการส่งออกพลังงาน มีมูลค่ารวม 330,254 ล้านบาท ลดลงจากปี 56 ประมาณ 45,493 ล้านบาท หรือลดลง 12.1%
นายณรงค์ชัย กล่าวว่า การใช้พลังงานในปี 58 เพิ่มสูงขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะขยายตัวมากขึ้น ซึ่งภารกิจของกระทรวงฯ ต้องตอบสนองต่อการจัดหาพลังงานให้เพียงพอ และการปรับโครงสร้างและดำเนินแผนงานด้านพลังงานในระยะยาว โดยมีภารกิจที่สำคัญใน 4 ด้าน คือ ด้านความมั่นคง การกำกับราคาและกิจการพลังงาน การอนุรักษ์พลังงาน และการส่งเสริมพลังงานทดแทน ที่จะจัดทำและผลักดันแผนระยะยาวไปสู่การปฏิบัติ ทั้งแผน PDP แผนพัฒนาพลังงานทดแทน แผนอนุรักษ์พลังงาน แผนก๊าซธรรมชาติ และแผนน้ำมันเชื้อเพลิง
นอกจากนี้ จากการติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างใกล้ชิดคาดว่ายังทรงตัวในระดับปัจจุบัน ถือเป็นโอกาสอันดีของกระทรวงพลังงานในการดำเนินการปรับโครงสร้างราคาพลังงานต่อเนื่อง ทั้งด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและราคาไฟฟ้า โดยจะมีการปรับโครงสร้างภาษีและกองทุนน้ำมันฯ ของน้ำมันแต่ละชนิดให้มีความเหมาะสม ไม่ให้เกิดการบิดเบือนของความต้องการใช้ บริหารจัดการกองทุนน้ำมันอย่างเหมาะสมให้เป็นกลไกรักษาเสถียรภาพราคา เป็นต้น และขอความร่วมมือประชาชนใช้พลังงานอย่างประหยัดแม้ว่าค่าใช้จ่ายด้านพลังงานจะลดลงก็ตาม
"การปรับโครงสร้างราคาจะทำต่อในไตรมาส 1 ปีนี้น่าจะเสร็จ คือราคาน้ำมันจะสมเหตุสมผล ทั้งกลุ่มดีเซลและเบนซิน ภาษีก็จะใกล้เคียงกันอย่างมาก กองทุน(น้ำมันฯ)ก็จะเก็บใกล้เคียงกัน ราคาก๊าซฯ(LPG)ก็ประกาศอิสรภาพจาก 333 เหรียญต่อตันเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ กพช.อนุมัติให้เรายกเลิกการใช้ราคา 333 เป็นตัวกำหนดต้นทางการจัดหา LPG บ่ายนี้ก็จะประชุมว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร"นายณรงค์ชัย กล่าว
รมว.พลังงาน กล่าวว่า ในช่วงบ่ายวันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ซึ่งจะมีการหารือเรื่องโครงสร้างราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ส่วนจะมีโอกาสการปรับลดราคาขายปลีกลงหรือไม่นั้นคงต้องรอผลการประชุม
ส่วนการปรับราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV)นั้น ในปีนี้ก็จะมีการทยอยปรับขึ้นให้สะท้อนต้นทุนการผลิต ซึ่งยังอยู่ภายใต้เป้าหมายเดิมที่ 16 บาท/กิโลกรัม จากปัจจุบันอยู่ที่ 12.50 บาท/กิโลกรัม ซึ่งรวมถึงการทยอยขึ้นราคา NGV สำหรับรถสาธารณะด้วย จากปัจจุบันที่ตรึงราคาไว้ที่ 9.50 บาท/กิโลกรัม
ขณะที่ความร่วมมือด้านพลังงานกับต่างประเทศนั้น ปัจจุบันมีการนำเข้าไฟฟ้าจากลาวกว่า 2,000 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบการรับซื้อตาม MOU จำนวน 7 พันเมกะวัตต์ โดยโครงการส่วนที่เหลือก็จะทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ส่วนการนำเข้าก๊าซฯจากพม่ามีประมาณ 1 พันล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และได้มีการยกร่าง MOU ว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน ครอบคลุมการซื้อขายไฟฟ้าในกรอบ 1 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานทั้งไทยและพม่าอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำมายตง กำลังการผลิตติดตั้ง 6.3 พันเมกะวัตต์ หากสำเร็จจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทยเพิ่มขึ้น
อินโฟเควสท์