- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Friday, 12 January 2024 18:28
- Hits: 6838
พีระพันธุ์ เตรียม 'รื้อ ลด ปลด สร้าง'วางเป้า ปี 67 ราคาพลังงานต้อง 'มั่นคง เป็นธรรม ยั่งยืน'
พีระพันธุ์ พร้อมผู้บริหารระดับสูง ประกาศผลงานสำคัญ พร้อมแผนงานด้านพลังงานปี 67 มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมช่วยเหลือประชาชนผ่านการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทุกชนิดให้เป็นธรรม พร้อมย้ำจะดำเนินนโยบาย ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ ให้เป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานแถลงผลงานกระทรวงพลังงานปี 2566 และแผนการดำเนินงานที่สำคัญในปี 2567 ภายใต้หัวข้อ “ปีแห่งการขับเคลื่อนพลังงานไทย สู่อนาคตที่ดีกว่า” โดยได้กล่าวว่า การดำเนินการในช่วงปี 2566 เป็นช่วงคาบเกี่ยวของ 2 รัฐบาล แต่ทั้ง 2 รัฐบาลก็ได้มีการช่วยเหลือประชาชนโดยการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซหุงต้ม
รวมทั้งการกำชับการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนการผลิต นอกจากนั้น ก็ได้มีการบริหารให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติใช้ก๊าซในราคา Pool Gas (ราคาเฉลี่ยจากทุกแหล่งที่มา) ซึ่งได้ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าสามารถลดลงได้ ทั้งนี้ ในปี 2567 ได้เตรียมนโยบายสำคัญๆ โดยเฉพาะการ ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ซึ่งจะมุ่งการแก้ไขระเบียบหรือกฎหมายที่ใช้มานาน ให้มีความเหมาะสม ทันสถานการณ์
โดยคำนึงถึงประชาชนเป็นที่ตั้ง จะมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานครั้งใหญ่ ให้ประชาชนใช้พลังงานในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม และที่สำคัญ การดำเนินการจะวางรากฐานไว้ให้เกิดความยั่งยืน ไม่ฉาบฉวย รวมทั้งประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานได้อย่างเท่าเทียม
ด้าน นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญภาวะความผันผวนด้านพลังงานทั้งปัจจัยจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซีย - ยูเครน และ อิสราเอล - กลุ่มฮามาสที่มีความยืดเยื้อ
รวมทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด ล้วนส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และค่าครองชีพประชาชน กระทรวงพลังงานได้ดำเนินมาตรการสำคัญๆ หลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนด้านราคาพลังงานที่เกิดจากปัจจัยดังกล่าว
ซึ่งในส่วนของการช่วยเหลือจากภาครัฐในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน ปี 2566 ได้ใช้งบประมาณ 100,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน ทั้งตรึงราคาค่าไฟฟ้า การตรึงราคาน้ำมันดีเซล และการลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน การตรึงราคาก๊าซหุงต้ม และ NGV นอกจากนั้น กระทรวงพลังงานก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปี 2566 มีการใช้เม็ดเงินลงทุนในภาคพลังงานไปแล้วกว่า 178,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนครอบคลุมทุกภาคส่วน
เปิดแผนการดำเนินงานที่สำคัญของกระทรวงพลังงาน ปี 2567
ส่วนแผนงานที่สำคัญของปี 2567 นายประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก็ยังคงมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เช่น การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอในราคาที่เป็นธรรม การส่งเสริมโซลาร์ภาคราชการและภาคประชาชน ส่วนด้านโครงสร้างราคาพลังงาน ก็จะดำเนินตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
โดยการศึกษาและปรับโครงสร้างราคาพลังงานทุกชนิดให้เหมาะสมและเป็นธรรม รวมทั้งการเปิดเสรีในกิจการพลังงานเพื่อให้เกิดการแข่งขัน ส่วนด้านส่งเสริมพลังงานสะอาด ก็จะส่งเสริมพลังงานชีวมวล ชีวภาพ พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม ให้มากขึ้น พร้อมไปกับการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการลดการปล่อย CO2 เพื่อให้ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม
นอกจากนั้น ที่ผ่านมา ก็ได้ร่วมมือกับ กรุงเทพมหานคร ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งในส่วนของกระทรวงพลังงาน จะดำเนินการมาตรการลดฝุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหัวเมืองที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศ
ด้าน นายวรากร พรหโมบล อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ในส่วนของผลการดำเนินงานปี 2566 ที่สำคัญของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย การเร่งจัดหาก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมทั้งจากแหล่งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติมเข้าระบบ การให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
สำหรับ แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย ครั้งที่ 24 จำนวน 3 แปลง และการดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนผ่านของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G2/61 อย่างราบรื่น และสำหรับ ในปี 2567 กรมฯ ยังคงมุ่งมั่น ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานด้วยการเร่งรัดการลงทุนและให้มีการผลิตก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่องของแหล่งในประทศ
รวมทั้งส่งเสริมและประสานความร่วมมือในการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน และเพื่อให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้อย่างยั่งยืน กรมฯ ยังได้ เตรียมการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจบนบก (ครั้งที่ 25) ด้วย
นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีแผนการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี การดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCS/CCUS) ทั้งด้านเทคนิค กฎหมาย มาตรการเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน รวมทั้งความร่วมมือทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวถึงผลการดำเนินงานในปี 2566 และแผนการดำเนินงานในปี 2567 โดยภาพรวมได้ดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นมาตรฐานยูโร 5 (กำมะถัน ไม่เกิน 10 ppm) เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป มีการส่งเสริมการติดตั้ง EV Charging Station ภายในสถานีบริการน้ำมัน โดยปี 2567 มีแผนจัดทำมาตรฐานติดตั้งทางไฟฟ้าและกำหนดกรอบการให้บริการติดตั้ง EV Charging Station
รวมถึงการลงนาม MOU ระหว่าง 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเตรียมแผนลดชนิดหัวจ่ายน้ำมันกลุ่มดีเซล ให้เหลือน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐานชนิดเดียว (บี 7) เนื่องจากเป็นน้ำมันที่สามารถใช้กับรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 ได้ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 (น้ำมันทางเลือก) เริ่ม 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาระบบ e-Service เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชน มีการพัฒนาระบบ Stockpile และ e-Fuelcard และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ e-Safety e-Trade และ e-License และระบบสำรองข้อมูลเพื่อรองรับการดำเนินงานในรูปแบบ e-Service รวมทั้ง มีแผนส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจใหม่ (New Business) ของผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า การดำเนินงานของ พพ. ในปี 2566 ได้สร้างความยั่งยืนด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ สนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยประชาชนกว่า 10,000 ครัวเรือน การติดตั้งและซ่อมแซมโซลาร์เซลล์สำหรับพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ช่วยเหลือชุมชนกว่า 7,200 ครัวเรือน การเดินหน้าใช้กฎหมาย BEC เต็มตัว
และที่สำคัญ พพ.ได้เปิดอาคารใหม่ Net zero energy building อาคารสำนักงานราชการใหญ่ที่สุดในไทย และในปี 2567 นั้น พพ. ยังคงเดินหน้าส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชน ผู้ประกอบการ ได้เข้าถึงพลังงานสะอาดและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพแบบครบวงจรมากขึ้น อาทิ มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานทดแทนและอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง มาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO)สำหรับหน่วยงานภาครัฐ และส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับหน่วยงานรัฐ เป็นต้น
นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า ปี 2566 ที่ผ่านมา สนพ. ได้เร่งจัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านพลังงาน พ.ศ. 2566–2580 (ร่างแผนพลังงานชาติ ) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือ การลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ในภาคพลังงาน ภายในปี 2050 โดยร่างแผน NEP
ประกอบด้วยแผนย่อย 5 แผนคือ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)
ทั้งนี้ ในปี2567 จะมีการทบทวนและปรับปรุงแผน ร่างแผนพลังงานชาติเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน และเสนอร่างแผนฯ ต่อ กพช. และ ครม. เพื่อพิจารณาและประกาศใช้ต่อไป นอกจากนี้แผนงานในปี 2567 ของ สนพ. ยังมีเรื่อง การนำเสนอแนวทางการเปิดเสรีในกิจการไฟฟ้า
ซึ่งจะมีโครงสร้างกิจการไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในระยะทดลอง-นำร่อง พ.ศ. 2567 – 2568 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ส่งเสริมให้เกิดกลไกการแข่งขันที่สะท้อนต้นทุนทางด้านราคาแทนการอุดหนุนทางด้านราคา และเปิดโอกาสให้มีธุรกิจใหม่ทางด้านพลังงานเกิดขึ้น และภาครัฐสามารถใช้เป็นกลไกให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero Carbon Emission ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อีกด้วย
“ผมขอยืนยันอีกครั้งว่า ผมจะทำงานตามนโยบายต่างๆ ที่ผมได้วางไว้ ซึ่งมาตรการไหนที่ทำได้ ผมก็จะทำทันที อย่างเช่นการลดค่าไฟฟ้า ลดค่าน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ในช่วง 3 – 4 เดือนที่ผ่านมา ส่วนมาตรการไหนที่ต้องใช้เวลา อย่างการแก้ไขกฎหมายกฎระเบียบต่างๆ ก็จะดำเนินการให้เร็วที่สุด อย่างในปัจจุบันเตรียมยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับน้ำมันสำหรับเกษตรกรและกลุ่มประมงให้ได้ภายในสมัยประชุมสภาที่จะถึงนี้
รวมทั้งการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่ผมย้ำเสมอ จะเร่งดำเนินการในปีนี้ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนได้อย่างครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยในส่วนของโซลาร์เซลล์ก็จะเร่งดำเนินการให้เร็วขึ้น รวมทั้งจะเข้าไปดูแลการผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องและรองรับปริมาณของรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น และผมก็ขอขอบคุณข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยกันผลักดันมาตรการต่างๆ และพร้อมที่จะดำเนินนโยบายช่วยเหลือประชาชนต่อไปในอนาคตด้วย”นายพีระพันธุ์ กล่าว