- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 05 January 2015 22:08
- Hits: 2378
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 29 ธ.ค. 57 - 2 ม.ค. 58 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 5-9 ม.ค. 58
สัปดาห์ ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 2.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 3.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 53.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 2.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 53.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 4.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 3.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 71.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· บริษัท Transneft ผู้ดำเนินการท่อขนส่งน้ำมันดิบ ESPO ซึ่งส่งออกที่ท่า Kozmino รายงานปริมาณขนส่งน้ำมันดิบ ESPO ในปี 2557 อยู่ที่ 498,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17% และคาดว่าปริมาณส่งออกในปี 2558 จะอยู่ที่ 587,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน18% ทั้งนี้ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบ ESPO ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และ เกาหลีใต้
· โฆษกรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันอิรักเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ปริมาณการส่งออกในเดือน ม.ค. 58 อยู่ที่ 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 2.94 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ธ.ค. 57 และเป็นระดับส่งออกสูงสุดตั้งแต่ปี 2523 หลังจากกลุ่มการปกครองพิเศษเคิร์ดสามารถหาข้อตกลงกับรัฐบาลอิรักได้เมื่อเดือนก่อน
· กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบเดือน พ.ย. 57 ลดลงจากเดือนก่อน 10.0% และ ลดลงจากปีก่อน 17.3% มาอยู่ที่ 3.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน
· กระทรวงการคลังของรัสเซียประเมินว่าหากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของรัสเซียตกต่ำต่อเนื่อง เศรษฐกิจรัสเซียปี 2558 จะหดตัวจากปีก่อน 4% และประเทศจะขาดดุลงบประมาณเกินกว่า 3% ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· การสู้รบที่ปะทุขึ้นระลอกใหญ่ในลิเบียทำให้ท่าส่งออกน้ำมันดิบสำคัญ Es Sider ขนาดปริมาณการสูบถ่าย 340,000 บาร์เรลต่อวัน เสียหายโดย ถังน้ำมันดิบ 3 ถัง ความจุรวมกว่า 6.2 ล้านบาร์เรลเกิดเพลิงไหม้เพราะการยิงต่อสู้ ภาวะ supply disruption ในลิเบียที่เกิดขึ้นสร้าง Risk Premium
· บริษัท Baker Huges ที่ให้บริการแก่ผู้ผลิตน้ำมันดิบรายงานปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ธ.ค. 57 ลดลง 37 แท่น (50% อยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย) มาอยู่ที่ 1,499 แท่น ทั้งนี้จำนวนแท่นผลิตที่ดำเนินการผลิตในเดือน ต.ค. 57 อยู่ในระดับสูงสุดที่ 1,609 แท่น
· รัฐบาลเยอรมนี คาดว่า ราคาน้ำมันที่ลดลงจะช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจเยอรมนีซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป เพิ่มขึ้นได้ราว 0.2-0.3% ในปี 2558 และคาดว่าราคาน้ำมันจะยังอยู่ในระดับต่ำอีกนานและเพิ่มขึ้นสู่ 80 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลภายในปี 2561
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบ Brent ปิดตลาดวันที่ 31 ธ.ค 57 ที่ 57.33 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ WTI ที่ 53.27เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และ เริ่มต้นปี 2558 ที่ราคาเกือบต่ำสุดในรอบ 5 ปีครึ่ง โดยตลาดยังคงแสดงความกังวลต่อสภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาดในปัจจุบัน โดยรัสเซียประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลกได้รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันในปี 2557 อยู่ 10.58 ล้านบาร์เรลต่อวันและมีปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบไปยังประเทศจีน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 43% อยู่ที่ 450,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 57 ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้อนุมัติให้ส่งออก Condensate ได้ ทั้งนี้สหรัฐฯ ผลิต Condensate ปริมาณ 3.81ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปัจจุบันสามารถส่งออกที่ 200,000 บาร์เรลต่อวัน และจะเพิ่มขึ้นสู่ 500,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วงกลางปี 2558 ทั้งนี้ควรติดตามนโยบายพลังงานของสหรัฐฯ ซึ่งอาจยกเลิกกฎหมายห้ามส่งออกน้ำมันดิบ ที่มีมานานกว่า 40 ปี เหตุการณ์สำคัญดังกล่าวจะเป็นการตอกย้ำให้ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวลดลง ทางด้านเศรษฐกิจ ให้จับตามองนาย Mario Draghi ประธานธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank หรือ ECB) ที่อาจประกาศใช้มาตรการผ่อนปรนเชิงปริมาณ (Quantitative Easing – QE) เพื่อกระตุ้นสภาพเศรษฐกิจของยุโรปให้ฟื้นตัว ซึ่งการประชุมครั้งแรกของ ECB จะมีขึ้นในวันที่ 22 ม.ค. 58 นี้ ในสัปดาห์นี้ทางเทคนิคราคาน้ำมันดิบ Brent ,WTI และ ดูไบ สัปดาห์นี้เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 54-59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, 50-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ 51-56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลตามลำดับ
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงจากรัฐบาลปากีสถานมีแผนเพิ่มภาษีผลิตภัณฑ์น้ำมันอีก 3-5% จากอัตราภาษีปัจจุบันที่ 17% และ PAJ รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซินของญี่ปุ่นสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ธ.ค. 57 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 41% อยู่ที่ 721,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ บริษัท China National Petroleum Corp. คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันเบนซินของจีนปี 2558 ลดลง 7-8% จากปีก่อนซึ่งเติบโตที่ระดับ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวันอย่างไรก็ตาม National Development and Reform Commission (NDRC) ของจีนประกาศลดราคาน้ำมันเบนซินลง 520 หยวนต่อตันมาอยู่ที่ 7,735 หยวนต่อตัน ทำให้ราคาขายปลีกภายในประเทศปรับลดลงมาอยู่ที่ 0.39 หยวนต่อลิตร (2.07 บาท/ลิตร) มีผลบังคับใช้วันที่ 27 ธ.ค. 57 และ IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ธ.ค. 57 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 270,000 บาร์เรล อยู่ที่ 10.82 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 67.7-72.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลลดลงจากการซื้อขายเบาบางช่วงวันหยุดสิ้นปี รวมทั้งอุปสงค์น้ำมันดีเซลทั่วโลกลดลงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่ง IEA คาดว่าความต้องการบริโภคน้ำมันของจีนปีนี้จะเติบโตเพียง 0.7% ขณะที่ โรงกลั่น Mailiao ของบริษัท Formosa ในไต้หวัน กำลังการกลั่น 540,000 บาร์เรลต่อวัน มีแผนเดินเครื่องเต็มกำลังในเดือน ม.ค. -ก.พ. 58 ก่อนปิดซ่อมบำรุงในเดือน มี.ค.-เม.ย. 58 และรัฐบาลอินเดียเพิ่มภาษีน้ำมันดีเซล (Factory Gate Duties) 2 รูปีต่อลิตร หรือประมาณ 0.96 บาทต่อลิตร ประกอยกับ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 29 ธ.ค. 57 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 9.05 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามเยเมนมีความต้องการซื้อน้ำมันดีเซลจากตลาดเพราะซาอุดีอาระเบียระงับการให้วงเงินช่วยเหลือ และจีนเริ่มเก็บสำรองน้ำมันเบนซินเพื่อรองรับเทศกาลตรุษจีนในเดือน ก.พ. 58 สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 67.7-67.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล