- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 04 January 2015 19:23
- Hits: 2427
พีดีพี ใหม่ 2015 หนุนถ่านหิน-พลังงานทดแทน
ไทยโพสต์ : การวางแผนไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนของกระทรวงพลังงานในขณะนี้ เนื่องด้วยรัฐบาลเฉพาะกาลชุดปัจจุบันต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานของประเทศไทยเสียใหม่ ด้วยการให้หันมามุ่งเน้นการประหยัดพลังงานทดแทนมากขึ้น
ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงได้จัดทำแผนไฟฟ้าระยะยาวของประเทศขึ้นใหม่ ภายใต้ชื่อ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ.2558-2579 หรือพีดีพี 2015 ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดทิศทางการสร้างโรงไฟฟ้า กำลังการผลิตไฟฟ้า รวมถึงค่าไฟฟ้าในระยะยาวอีกด้วย ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติแผนไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2557 ที่ผ่านมา
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่มีการจัดทำแผนพีดีพีแบบบูรณาการร่วมกับแผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน โดยยึดหลัก 3 ข้อ ได้แก่ 1.ความมั่นคงทางพลังงาน โดยต้องจัดหาไฟฟ้าให้พอต่อความต้องการใช้ และใช้เชื้อเพลิงหลากหลายชนิดเพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป 2.เศรษฐกิจ ต้องให้ค่าไฟฟ้ามีความเหมาะสมและใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ และ 3.สิ่งแวดล้อม ต้องลดผล กระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน
โดยการจัดทำแผนพีดีพีใหม่นี้จะสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งจะใช้ประมาณการความเติบโตเศรษฐกิจระยะยาวที่ 3.94% ต่อปี รวมถึงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ และรองรับการเติบโตของประชากรและการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของประชากรด้วย
อย่างไรก็ตาม แผนพีดีพี 2015 นี้ ยังได้ผนวกผลจากการเพิ่มประสิทธิภาพตามแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงถึง 89,672 ล้านหน่วยภายในปี 2579 ผ่านมาตรการต่างๆ ที่ลงสู่ 4 กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ อุตสาหกรรม อาคารธุรกิจ ที่อยู่อาศัยและภาครัฐ
สำหรับ แผนพีดีพี 2015 ในช่วง 10 ปีแรกของแผน จะมีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าดังนี้คือ การซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ 10-15% ถ่านหินสะอาด 20-25% พลังงานหมุนเวียน 10-20% และก๊าซธรรมชาติ 45-50% ส่วน 10 ปีหลังของแผน ปรับสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิง เป็นซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 15-20% ถ่านหินสะอาดเท่าเดิม 20-25% พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 15-20% ก๊าซธรรมชาติลดลงเหลือ 30-40% และนิวเคลียร์ 0-5%
นอกจากนี้จะมีการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการ ความมั่นคงและศักยภาพด้านไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ โดยแบ่งเป็น 5 ภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ รวมถึงพัฒนาระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน สอดคล้องกับการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าในอาเซียน เพื่อรองรับการเปิดเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งหลัง กพช.เห็นชอบแผนดังกล่าวแล้ว กระทรวงพลังงานจะเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนต่อไป
"การทำแผนพีดีพีดังกล่าว ประเทศไทยจะได้ประโยชน์คือ นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศแล้ว ยังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศในด้านราคาไฟฟ้า และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น ช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) และเป็นการส่งเสริมการใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในประเทศกว่า 80 ล้านตันต่อปี ก่อให้เกิดผลประโยชน์จากค่าเชื้อเพลิงที่กระจายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจตามแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกประมาณ 1.16 แสนล้านบาทต่อปีในปี 2579" นายณรงค์ชัยกล่าว
จะเห็นได้ว่า เป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะปรับแก้แผนการใช้ไฟฟ้าของประเทศใหม่ ให้กระจายเชื้อเพลิงลดความเสี่ยงจากการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงมากเกินไป รวมถึงลดการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศได้ จะทำให้ค่าไฟฟ้าที่หลายคนคาดการณ์ว่าจะไต่ไปถึง 5-6 บาทต่อหน่วย เป็นไปได้ยากขึ้น ดังนั้นหากกระจายเชื้อเพลิงได้สำเร็จ นำพลังงานทดแทนและการประหยัดพลังงานมาช่วยเสริมให้มากขึ้น เชื่อว่าอนาคตค่าไฟฟ้าของไทยจะไม่กลายเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางธุรกิจกับต่างประเทศ.