- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 04 January 2015 19:22
- Hits: 2125
กางแผนประหยัดพลังงานประเทศ
ไทยโพสต์ : นับวันการใช้พลังงานในประเทศมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเติบโตขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจประเทศและจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น การจัดหาพลังงานในประเทศมีแนวโน้มจะยากขึ้น ทั้งจากทรัพยากร โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติในประเทศที่จะหมดลงในอีก 7-8 ปีข้างหน้า และการต่อต้านจากสังคมในการผลิตพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น
ดังนั้น แนวทางที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงมีแนวคิดที่จะดึงแนวทางการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทนขึ้นมาเป็นนโยบายอย่างจริงจัง และให้เริ่มดำเนินการทันที
นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทนมาก โดยดึงเข้ามาอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือพีดีพี ฉบับใหม่ที่กำลังจัดทำอยู่ในขณะนี้ และนำแผนการประหยัดพลังงาน (อีอี) และแผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน (อาร์อี) มากำหนดเป้าหมายให้สอดคล้องกับแผนพีดีพีดังกล่าว
สำหรับ นโยบายประหยัดพลังงานนั้น กระทรวงพลังงานตั้งเป้าลดการใช้ไฟฟ้าในระยะยาว 21 ปี หรือตั้งแต่ปี 2558-2579 ให้ได้ 10,000 เมกะวัตต์ หรือลดให้ได้ 500 เมกะวัตต์ต่อปี โดยจะมุ่งลดการใช้พลังงานในกลุ่มภาคอุตสาหกรรมและขนส่งเป็นหลัก
ซึ่งข้อมูล สนพ.เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2557 ที่ผ่านมา พบว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคที่เกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด มีการใช้พลังงานสูงถึง 36% ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ รองลงมาได้แก่ ภาคขนส่ง 35% ภาคที่อยู่อาศัย 15% ภาคอาคารธุรกิจ 8% และภาคเกษตรกรรม 6% ดังนั้นหากสามารถลดใช้พลังงาน และสร้างการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดได้ จะช่วยให้ประเทศชาติลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ประหยัดเงินตราลงได้มาก
นอกจากนี้ ในแผนการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนนั้น กระทรวงพลังงานกำหนดเป้าหมายจะใช้พลังงานทดแทนสำหรับผลิตไฟฟ้าในปี 2558 ให้ได้ 7,236 เมกะวัตต์ จากนั้นอีก 10 ปี (2569) เพิ่มเป็น 12,686 เมกะวัตต์ และสิ้นสุดแผนปี 2579 เพิ่มเป็น 16,728 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันใช้อยู่เพียง 4,485 เมกะวัตต์เท่านั้น
โดยได้จัดลำดับความสำคัญของพลังงานทดแทนที่จะนำมาใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ได้แก่ 1.พลังงานขยะ ปัจจุบันผลิตไฟฟ้าได้ 66 เมกะวัตต์ ยังมีศักยภาพเหลืออยู่อีก 631 เมกะวัตต์ โดยกำหนดเป้าหมายในปี 2558 ให้ได้ 156 เมกะวัตต์ จากนั้นอีก 10 ปี (พ.ศ.2569) ให้ได้ 483 เมกะวัตต์ และอีก 21 ปี (พ.ศ.2579) ให้ได้ 501 เมกะวัตต์
2.ชีวมวล ปัจจุบันผลิตไฟฟ้าได้ 2,452 เมกะวัตต์ ยังมีศักยภาพเหลืออยู่อีก 6,040 เมกะวัตต์ โดยกำหนดเป้าหมายในปี 2558 ให้ได้ 2,706 เมกะวัตต์ จากนั้นอีก 10 ปี (พ.ศ. 2569) ให้ได้ 4,494 เมกะวัตต์ และอีก 21 ปี (พ.ศ.2579) ให้ได้ 5,570 เมกะวัตต์
3.ก๊าซชีวภาพ (ประเภทน้ำเสีย ของเสีย) ปัจจุบันผลิตไฟฟ้าได้ 313 เมกะวัตต์ ยังมีศักยภาพเหลืออยู่อีก 345 เมกะวัตต์ โดยกำหนดเป้าหมายในปี 2558 ให้ได้ 360 เมกะวัตต์ จากนั้นอีก 10 ปี (พ.ศ.2569) ให้ได้ 435 เมกะวัตต์ และอีก 21 ปี (พ.ศ.2579) ให้ได้ 600 เมกะวัตต์
4.ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) ปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ แต่ยังมีศักยภาพเหลืออยู่อีก 4,287 เมกะวัตต์ แต่ยังไม่ได้กำหนดเป้าหมายในปี 2558 แต่ในอีก 10 ปี (พ.ศ.2569) ตั้งเป้าผลิตให้ได้ 268 เมกะวัตต์ และอีก 21 ปี (พ.ศ.2579) ให้ได้ 680 เมกะวัตต์
5.พลังงานน้ำ ปัจจุบันผลิตไฟฟ้าได้ 142 เมกะวัตต์ ยังมีศักยภาพเหลืออยู่อีก 268 เมกะวัตต์ โดยกำหนดเป้าหมายในปี 2558 ให้ได้ 174 เมกะวัตต์ จากนั้นอีก 10 ปี (พ.ศ.2569) ให้ได้ 248 เมกะวัตต์ และอีก 21 ปี (พ.ศ.2579) ให้ได้ 376 เมกะวัตต์
6.พลังงานลม ปัจจุบันผลิตไฟฟ้าได้ 224 เมกะวัตต์ ยังมีศักยภาพเหลืออยู่อีก 13,917 เมกะวัตต์ โดยกำหนดเป้าหมายในปี 2558 ให้ได้ 554 เมกะวัตต์ จากนั้นอีก 10 ปี (พ.ศ.2569) ให้ได้ 2,092 เมกะวัตต์ และอีก 21 ปี (พ.ศ.2579) ให้ได้ 3,002 เมกะวัตต์
7.พลังงานแสงอาทิตย์ ปัจจุบันผลิตไฟฟ้าได้ 1,288 เมกะวัตต์ ยังมีศักยภาพเหลืออยู่อีก 41,069 เมกะวัตต์ โดยกำหนดเป้าหมายในปี 2558 ให้ได้ 3,286 เมกะวัตต์ จากนั้นอีก 10 ปี (พ.ศ.2569) ให้ได้ 4,666 เมกะวัตต์ และอีก 21 ปี (พ.ศ.2579) ให้ได้ 6,000 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้กางแผนด้านการประหยัดพลังงาน รวมถึงแผนการอนุรักษ์พลังงานออกมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจากนี้คงต้องรอติดตามดูว่ากระทรวงพลังงานจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งหากทำได้จะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ทุกคนเอาใจใส่ต่อการประหยัดพลังงานมากขึ้น และจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป.