- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 04 January 2015 19:19
- Hits: 2863
2558 ปีทองธุรกิจโซลาร์เซลล์ เม็ดเงินสะพัด 1.4 แสนล้านบาท
ไทยโพสต์ : ธุรกิจโซลาร์เซลล์ หรือการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ กำลังเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยอยู่ในขณะนี้ และยิ่งกลับมาคึกคัก เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ามาแก้ปัญหาที่ค้างคามานาน ส่งผลให้ผู้ประกอบการเริ่มมีความหวังกับการทำธุรกิจโซลาร์เซลล์อีกครั้ง
ที่ผ่านมาปัญหาโซลาร์เซลล์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาหลายรัฐบาล ตั้งแต่ปี 2550 รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ กำหนดเป้าหมายไว้ 500 เมกะวัตต์ เมื่อขายไฟฟ้าเข้าระบบปกติ จะได้รับเงินประมาณ 3 บาทต่อหน่วย นอกจากนี้รัฐบาลยังกำหนดให้เงินส่วนเพิ่มในการรับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์) อีกในอัตรา 8 บาทต่อหน่วย ดังนั้น ทำให้ผู้ประกอบการที่ขายไฟฟ้าแสงอาทิตย์เข้าระบบจะได้รับเงินประมาณ 11 บาทต่อหน่วย แต่เนื่องจากต้นทุนการผลิตในช่วงนั้นยังมีราคาสูง เพราะต้องนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากต่างประเทศ จึงทำให้ไม่ได้รับความสนใจมากนัก
แต่ระยะเวลาต่อมา เมื่อเทคโนโลยีในต่างประเทศเริ่มพัฒนาขึ้นและเกิดความนิยมในหลายประเทศ เพราะเป็นพลังงานทดแทนที่สะอาด และช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิง ในการผลิตไฟฟ้าจากต่างประเทศลงได้ ทำให้ต้นทุนเทคโนโลยีแผงโซลาร์เซลล์ของโลกเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการต่างแห่มาขอผลิตไฟฟ้าขายเข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กันจำนวนมาก รวมทั้งรัฐบาลในยุคนั้นมีนโยบายจะปรับลดแอดเดอร์ลง ทำให้ผู้ประกอบการยิ่งเร่งขอสัญญากันเพิ่มขึ้น
จากความนิยมดังกล่าว ผลักดันให้รัฐบาลสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2553 ต้องประกาศเพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าแสงแดดจาก 500 เมกะวัตต์ เป็น 2,000 เมกะวัตต์ แต่ขณะเดียวกันก็ปรับลดแอดเดอร์ลงมาเหลือ 6.50 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการเกิดการปรับเปลี่ยนผลประโยชน์ในรูปแบบใหม่ คือ "เกิดการซื้อขายสัญญาการผลิตไฟฟ้า" หรือ เรียกว่าเกิดเสือกระดาษขึ้น โดยผู้ที่ได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.ไว้ ในอัตราแอดเดอร์ 8 บาทต่อหน่วย ก็เริ่มนำใบสัญญามาเร่ขายใบละหลายสิบล้านบาท ให้กับผู้ที่ต้องการทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าตัวจริง ซึ่งสร้างผลกำไรเป็นกอบเป็นกำทันที และรัฐบาลก็ไม่สามารถหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เนื่องจากในสัญญาไม่มีการระบุกำหนดเส้นตายว่าจะต้องเริ่มผลิตเมื่อใด
จนเมื่อปี 2556 รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ยิ่งเกิดการยื่นขอทำสัญญาผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์กันมากขึ้น จนทำให้รัฐบาลตัดสินใจประกาศเพิ่มเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าแสงอาทิตย์จาก 2,000 เมกะวัตต์ เป็น 3,000 เมกะวัตต์ โดยส่วนที่เพิ่มอีก 1,000 เมกะวัตต์นั้น จะเน้นการผลิตไฟฟ้าบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ซึ่งแบ่งให้กลุ่มบ้านเรือนที่อยู่อาศัยและโรงงานรวม 200 เมกะวัตต์ และอีก 800 เมกะวัตต์ให้โควตากับกลุ่มสหกรณ์ชุมชน
แม้ว่า รัฐบาลจะปรับเพิ่มการรับซื้อ เพราะความต้องการมีมากขึ้น แต่ก็มีปัญหาตามมาเหมือนกัน นั่นคือการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ออกมากำหนดให้โซลาร์รูฟท็อปกลายเป็นโรงงาน และต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ก่อน จากข้อกำหนดดังกล่าว ทำให้เกิดข้อครหาจนนำไปสู่การตกเป็นข่าวอื้อฉาว ทุจริตเรียกรับผลประโยชน์ และเป็นอุปสรรคสำคัญให้ธุรกิจโซลาร์เซลล์ชะงักงันลงทันที
และทันทีที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ได้หันเร่งแก้ปัญหาตั้งแต่การไล่ตรวจใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าว่า ผู้ประกอบการมีแนวโน้มจะผลิตจริงหรือไม่ หรือจะนำใบสัญญาไปขายต่อ หากแนวโน้มความเป็นไปได้สูงว่าจะผลิตไม่ทันอายุสัญญาก็ได้ถอนใบสัญญาทิ้ง
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวว่า รัฐบาลได้เร่งแก้ปัญหาใบ รง.4 จนสำเร็จ และเข้าไปตรวจสอบผู้ประกอบการที่มีใบสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. พบว่า มีผู้ประกอบการที่ติดใบ รง.4 อีกกว่า 1,013 เมกะวัตต์ จากทั้งหมด 3,000 เมกะวัตต์ ที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ หรือเรียกว่ากลุ่มค้างท่อ จึงทำการเปิดรับซื้อทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้ามาดูข้อมูลผู้ประกอบการทั้งหมดแล้ว กระทรวงพลังงานจึงสรุปเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 3,800 เมกะวัตต์ ตามข้อกำหนดว่าต้องเป็นพื้นที่ที่มีสายส่งไฟฟ้ารองรับ พร้อมกับการยอมรับการใช้ระบบให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (ฟีทอินทารีฟ) ที่ 5.66 บาทต่อหน่วย และจะต้องผลิตให้เสร็จภายในปี 2558 นี้
ดังนั้น เชื่อว่าในปี 2558 จะเป็นปีทองของธุรกิจโซลาร์เซลล์ที่มีโอกาสเติบโตสูงมาก เนื่องจากผู้ประกอบการจะต้องเร่งผลิตให้เสร็จภายใน 1 ปี นอกจากนี้รัฐบาลยังมุ่งเน้นการส่งเสริมพลังงานทดแทนโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ดังนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่กระทรวงพลังงานจะปรับเพิ่มเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าแสงแดดจาก 4,500-5,000 เมกะวัตต์ ภายใน 10 ปีข้างหน้าด้วย
นายดุสิต เครืองาม นายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย (ทีพีวีเอ) และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ปัจจุบันราคาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าแสงแดดด้วยแผงโซลาร์เซลล์มีราคาตกลงถึง 50% เมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อนที่ราคา 2.5 แสนบาทต่อกิโลวัตต์ โดยปัจจุบันหากติดตั้งเป็นโซลาร์รูฟท็อป ราคาจะอยู่ประมาณ 7-8 หมื่นบาท ต่อ 2-10 กิโลวัตต์ คืนทุนใน 9 ปี หากติดตั้งเป็นโซลาร์รูฟท็อป อาคารธุรกิจจะอยู่ที่ 6-7 หมื่นบาทต่อ 10 กิโลวัตต์ถึง 1 เมกะวัตต์ คืนทุนใน 7-8 ปี
อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลสามารถปลดล็อกใบ รง.4 สำเร็จ โดยโซลาร์รูฟท็อปที่ติดตั้งไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ ไม่เข้าข่ายเป็นโรงงาน จึงไม่ต้องขอใบ รง.4 อีกต่อไป ส่วนที่ติดกฎหมายกรมผังเมืองนั้น ขณะนี้กรมโยธาธิการกำลังอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ หรือติดตั้งบนเนื้อที่ไม่เกิน 120 ตารางเมตร ไม่เข้าข่ายการดัดแปลงอาคาร จึงไม่ต้องขอเรื่องการดัดแปลงอาคารกับกรมผังเมือง
"หากดำเนินการสำเร็จจะทำให้ปี 2558 เป็นยุคทองของธุรกิจโซลาร์เซลล์เลยทีเดียว เนื่องจากผู้ประกอบการจะเร่งทยอยผลิตตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป โดยเฉพาะกลุ่มค้างท่อที่รัฐบาลเพิ่งปลดล็อกออกมา จะเริ่มผลิตในปี 2558 ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องเติบโต เกิดการลงทุนในธุรกิจโซลาร์เซลล์ถึง 1.4 แสนล้านบาท และจะทำให้มีผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ในไทยเพิ่มมากขึ้นในอนาคต จากปัจจุบันมีอยู่เพียง 5 โรงงานเท่านั้น กำลังการผลิตประมาณกว่า 200 เมกะวัตต์ ซึ่งในอนาคตจะทยอยเพิ่มขึ้นทั้งโรงงานและกำลังการผลิตประมาณปีละหลัก 100 เมกะวัตต์" นายดุสิตกล่าว
เมื่อธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงกลางวันของฤดูร้อนลงได้ และชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าลงอีกมาก ซึ่งหากเทียบกับประเทศเยอรมนีจะพบว่า ปัจจุบันเยอรมนีมีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ถึง 3 หมื่นเมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นแบบโซลาร์รูฟท็อป 80% และโซลาร์ฟาร์ม 20% ขณะที่ไทยปัจจุบันผลิตได้กว่า 1,300-1,400 เมกะวัตต์เท่านั้น ซึ่งยังมีศักยภาพเพิ่มได้อีกมากในอนาคต
นายดุสิต กล่าวในฐานะสมาชิก สปช.ด้วยว่า กรรมาธิการพลังงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ จะนำวาระเร่งด่วนส่งไปถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เร่งดำเนินการ คือ การเปิดเสรีการผลิตไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์รูฟท็อป โดยไม่จำกัดระยะเวลาและปริมาณการเสนอขายไฟฟ้า เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทย และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าใช้เองด้วย
โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาภายใต้โครงการดังกล่าว จะถูกใช้ภายในบ้านที่อยู่อาศัยก่อน ส่วนปริมาณไฟฟ้าที่เหลือก็ให้เสนอขายเข้าระบบให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พีอีเอ) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้ ในอัตราค่าไฟฟ้าเดียวกับที่ครัวเรือนซื้อจากทั้งสองการไฟฟ้า ซึ่งเรื่องนี้คาดว่ารัฐบาลจะรับไปดำเนินการให้ได้ก่อนเดือน เม.ย. ปี 2558 และคาดว่าศักยภาพในการผลิต ไฟฟ้าผ่านโครงการดังกล่าวในระยะ 10-20 ปีข้างหน้า น่าจะมีประมาณ 10,000 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีโซลาร์รูฟท็อปดังกล่าว มีความจำเป็นที่ทางสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทยจะต้องทำหนังสือถึงรัฐบาลและหน่วยงานราชการ ไปวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคที่มีอยู่และแก้ไขให้เสร็จโดยเร็ว อาทิ การปรับเปลี่ยนระบบมิเตอร์เป็นแบบมิเตอร์อัจฉริยะ (สมาร์ทมิเตอร์) เพื่อให้การซื้อและขายไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปสามารถดำเนินการได้สะดวกทันที
รวมถึงการแก้ไขหรือเพิ่มเติมกฎระเบียบราชการในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เนื่องจากพื้นที่ราชการกำหนดห้ามมีโรงงานใกล้ส่วนราชการเกิน 200 เมตร แต่ต่อไปรัฐบาลกำหนดให้มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในพื้นที่หน่วยราชการ สหกรณ์ เป็นต้น ซึ่งต้องพิจารณาดูว่าจะต้องแก้ไขกฎหมายกรมโรงงานปี 2553 นี้หรือไม่
ส่วนการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ด้านโซลาร์เซลล์ในประเทศนั้น ปัจจุบันไทยสามารถทำได้ 2 วิธี อาทิ การกำหนดให้ใช้สินค้าที่มีเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ซึ่งสินค้าที่มี มอก.ได้ก็จะต้องเป็นสินค้าไทยเท่านั้น หรือตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ระบุไว้ว่า โครงการใดที่ใช้งบประมาณแผ่นดินจะต้องใช้สินค้าจากไทยก่อน เพื่อให้มีแต้มต่อและมีระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีรองรับไว้แล้ว ซึ่งต่อไปก็ต้องมาพิจารณาในสิ่งเหล่านี้ด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ในอาเซียนต่อไปด้วย
นอกจากนี้ ในเรื่องการกำจัดแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุนั้น ปัจจุบันยังไม่มีข้อกำหนดออกมา และไทยยังไม่มีแผงโซลาร์เซลล์ที่หมดอายุด้วย ที่จะหมดอายุชุดแรกคงจะอีก 20-30 ปีข้างหน้า ซึ่งต่อไปจะต้องนำตัวอย่างจากต่างประเทศมาพิจารณาด้วย เพราะในต่างประเทศกำหนดให้แผงโซลาร์เซลล์เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ใครเป็นผู้ผลิตออกมาจะต้องรับกำจัดกากของเสียด้วย เช่นเดียวกับผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ถือเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต่อไปผู้ผลิตจะต้องรับกำจัดกากของเสียต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าปัจจุบันรัฐบาลกำลังเร่งเคลียร์ปัญหาโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ที่ค้างท่ออยู่กว่า 1,000 เมกะวัตต์ เพื่อให้ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เดินหน้าต่อไปอย่างเป็นระบบและระเบียบที่ชัดเจนในอนาคต และในปี 2558 จะกลายเป็นปีทองของธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม ผู้ประกอบการหลายรายกระตือรือร้นที่จะกลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าจะสร้างผลกำไรให้กับธุรกิจนี้ได้เป็นอย่างมาก และในอนาคตจะเป็นผลดีต่อการลดนำเข้าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า มีปริมาณไฟฟ้าสำรองใช้ในช่วงเกิดพีก และลดการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศลงได้
เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นที่ขณะนี้กำลังเปิดประมูลโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์กันอย่างมาก เพราะประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดแคลนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่เกิดปัญหาสึนามิ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไทยต้องศึกษาจากญี่ปุ่นคือ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการคิดค้นนวัตกรรมด้านพลังงานใหม่ๆ ออกมาใช้ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญทำให้ลดการใช้พลังงานโดยภาพรวมของประเทศลงได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังมุ่งส่งเสริมโซลาร์ฟาร์มอยู่นั้น จะต้องคำนึงถึงผลดี-ผลเสียด้านการใช้พื้นที่ด้วย เพราะโซลาร์ฟาร์มกินพื้นที่ด้านการเกษตรมาก และอาจทำให้เกิดความแห้งแล้งได้หากส่งเสริมการผลิตโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ขณะที่การส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปก็มีทีท่าจะแผ่วลง ซึ่งในส่วนนี้ควรต้องสร้างความสมดุลของการให้โควตาผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดอย่างเหมาะสมต่อไปด้วย.
"ปี 2558 จะเป็นปีทองของธุรกิจโซลาร์เซลล์ที่มีโอกาสเติบโตสูงมาก เนื่องจากผู้ประกอบการจะต้องเร่งผลิตให้เสร็จภายใน 1 ปี นอกจากนี้รัฐบาลยังมุ่งเน้นการส่งเสริมพลังงานทดแทนโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ดังนั้น มีความเป็นไปได้สูงที่กระทรวงพลังงานจะปรับเพิ่มเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าแสงแดดจาก 4,500-5,000 เมกะวัตต์ ภายใน 10 ปีข้างหน้า"