- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 29 December 2014 19:53
- Hits: 2319
ไทยออยล์ คาด ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 53-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 58-63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (29 ธ.ค. 57 – 2 ม.ค. 58)
ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้คาดว่าจะยังคงผันผวนที่ระดับต่ำ เนื่องจากตลาดคาดว่าปริมาณการซื้อขายจะเบาบางในช่วงวันหยุดปลายปี ประกอบกับราคายังคงได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันดิบที่ล้นตลาด จับตาผลกระทบของราคาน้ำมันดิบที่ลดต่ำลงต่อเศรษฐกิจโลก แม้ว่าราคาที่ลดลงจะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจโลกโดยรวมก็ตาม ซึ่งผู้ส่งออกน้ำมันบางประเทศ อย่างรัสเซีย อาจต้องเผชิญกับแรงกดดันต่อภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี อุปสงค์หน้าหนาว รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาดี ยังเป็นปัจจัยที่มีส่วนหนุนราคาน้ำมันในช่วงนี้
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ :
จับตาท่าทีของกลุ่มโอเปกและการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในท่ามกลางภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดที่คอยกดดันราคาน้ำมันดิบให้อยู่ในระดับต่ำ
จับตาผลกระทบของราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงต่อเศรษฐกิจโลก แม้ว่าราคาที่ลดลงจะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจโลกโดยรวมก็ตาม แต่ผู้ส่งออกน้ำมันบางประเทศ เช่น รัสเซีย ไนจีเรีย และเวเนซุเอลา อาจต้องเผชิญกับสภาวะความไม่สมดุลทางการเงิน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เกิดการไหลออกของเงินทุน ทำให้ค่าเงินอ่อนตัวลงจนเกิดแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้จากการเชื่อมโยงของระบบการเงินทั่วโลก สถานการณ์เหล่านี้อาจบานปลายและกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมก็เป็นได้
ติดตามวิกฤตการณ์เงินรูเบิลอ่อนค่าของรัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก ภายหลังทางการรัสเซียมีมาตรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 10.5% เป็น 17% และเรียกร้องให้ผู้ส่งออกรายใหญ่ขายเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น มาตรการเหล่านี้ช่วยให้ค่าเงินรูเบิลฟื้นตัวกลับมาจากระดับกว่า 60 รูเบิลต่อเหรียญสหรัฐฯ มาเป็นประมาณ 55 รูเบิลต่อเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่การใช้นโยบายให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงนี้ ส่งผลให้ธนาคาร Trust Bank ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 15 ของรัสเซีย ประสบปัญหาทางการเงิน ธนาคารกลางรัสเซียจึงต้องนำเงินเข้าช่วยเหลือเพื่อป้องกันไม่ให้ธนาคารดังกล่าวล้มละลาย
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิตของยูโรโซน รวมถึงดัชนีภาคการผลิตและดัชนีภาคการบริการของจีน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 – 26 ธ.ค. 57)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 55.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 60.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวลดลงเช่นกันมาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวผันผวน โดยรวมแล้วตลาดน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันสำคัญจากการที่ซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุด ออกมายืนยันว่ากลุ่มโอเปกจะไม่ลดกำลังการผลิตไม่ว่าราคาจะตกไปที่ระดับใดก็ตาม เพื่อเป็นการรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบยังคงล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากการที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ได้แก่ ตัวเลขจีดีพี ไตรมาส 3/57 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ถือเป็นปัจจัยที่พยุงราคาน้ำมันดิบไม่ให้ปรับตัวลดลงมากนัก