- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 02 June 2014 16:21
- Hits: 3279
กูรูหนุน คสช.ปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ ชี้การตรึงราคาควรทำเพียงช่วงสั้น
กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน เสนอแนวคิดให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ปฏิรูปโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย หลังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างคะแนนนิยมของนักการเมือง
"เป็นเรื่องดีที่ คสช.จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องการปฏิรูปพลังงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนในอนาคต ที่ผ่านมามีการนำเรื่องพลังงานมาใช้เพื่อสร้างคะแนนนิยม โดยการเข้าไปอุดหนุนจนทำให้รัฐขาดรายได้จำนวนมหาศาล" นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน กล่าว
ที่ผ่านมาโครงสร้างราคาพลังงานบางชนิดถูกบิดเบือน เช่น น้ำมันดีเซลที่ลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้กว่า 3 แสนล้านบาท, การอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) ที่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้กว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งรายได้ดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในระบบรางได้
"บางอย่างควรขึ้น บางอย่างควรลด ราคาดีเซลในปัจจุบันไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้เบนซินและแก๊สโซฮอล์ รายได้ที่ขาดหายไปน่าจะนำไปพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะได้อย่างสบาย" นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
ประธานกลุ่มปฏิรูปพลังงานฯ กล่าวว่า การปรับโครงสร้างราคาพลังงานควรต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม อย่างน้ำมันดีเซลที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าหากมีการปรับราคาขึ้นจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพ
นอกจากเรื่องโครงสร้างราคาแล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องมีการปฏิรูป เช่น การแต่งตั้งข้าราชการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้าไปเป็นคณะกรรมการของรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน, การแก้ไขกฎกระทรวงที่กำหนดให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ตามบ้านที่อยู่อาศัยต้องขอใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม, การให้สินเชื่อการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานงานแสงอาทิตย์กับบ้านที่อยู่อาศัย เป็นต้น
"เรื่องนี้ควรเป็นกติกาที่เป็นมาตรฐานสากลสำหรับทุกรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่แค่ด้านพลังงาน หากข้าราชการเข้าไปเป็นกรรมการแล้วควรได้รับผลประโยชน์ที่เหมาะสม ไม่มากเกินควร" นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
ขณะที่นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า ราคาพลังงานในปัจจุบันบิดเบือน จึงมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ต้องสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
ขณะนี้ทาง คสช. ชะลอการปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนและน้ำมันดีเซล ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าจะมีผลระยะสั้นเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น เพราะสุดท้ายแล้วในระยะยาวจะต้องมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ เนื่องจากของการอุดหนุนราคาดีเซลตั้งแต่ปี 2554 ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ปีละ 1 แสนล้านบาท รวมระยะ 3 ปีอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท และเมื่อรวมกับเงินที่อุดหนุนราคาแอลพีจี รวมอีก 2 แสนล้านบาท ก็ทำให้รัฐสูญเสียรายได้แล้วรวม 5 แสนล้านบาท
"อย่าไปคิดว่าคนที่ใช้ดีเซลหรือแอลพีจีเป็นคนจน ส่วนคนที่ใช้เบนซินเป็นคนรวย...ถ้าจะปรับราคาดีเซลต้องดูราคาตลาดโลก ซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 3 น่าจะเหมาะสม"นายมนูญ กล่าว
นายมนูญ กล่าวว่า หลังจากนี้ต้องลดการผูกขาด และเพิ่มการแข่งขัน โดยการปรับสถานะทางธุรกิจของ บมจ.ปตท.(PTT) โดยแยกระบบท่อส่งก๊าซออกมาเพื่อให้เกิดการแข่งขัน เพราะแนวโน้มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศจะมีเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องทบทวนเพื่อการให้สัมปทานสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยรอบที่ 21 ซึ่งไม่ได้ดำเนินการมา 7 ปีแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เพื่อแสวงหาแหล่งสำรองพลังงานเพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศที่เพิ่มขึ้น และเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
สำหรับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น นายมนูญ เห็นว่า ยังเป็นกลไกที่สำคัญสำหรับการดูแลราคาพลังงานให้เกิดเสถียรภาพ ไม่ให้ความผันผวนในระยะสั้นๆ แต่ไม่ใช่การเข้าไปอุดหนุนราคาพลังงานเหมือนที่ผ่านมา
อินโฟเควสท์
สมาคม LPG หนุน คสช.ทบทวนราคาภาคครัวเรือนที่ 22.63 บาทต่อกิโลกรัม
นายกสมาคมแอลพีจี สนับสนุนแนวคิดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตรึงราค ที่ 22.63 บาทต่อกิโลกรัม
นายชิษณุพงศ์ รุ่งโรจน์งามเจริญ นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) เผยว่า สมาคมเห็นด้วยกับแนวคิดคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ให้ปรับลดราคาแอลพีจีภาคครัวเรือน 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม โดยให้ใช้ราคาของเดือนพฤษภาคม 2557 ที่ 22.63 บาทต่อกิโลกรัม พร้อมยื่นหนังสือให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เดิมที่ให้ปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคครัวเรือน เดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม จนกว่าราคาสุดท้ายจะอยู่ที่ 24.83 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากเห็นว่าราคาแอลพีจีครัวเรือนปรับขึ้นมา 4.50 บาทต่อกิโลกรัม แล้วนับจากเดือนกันยายน 2556
อินโฟเควสท์
วันที่ 02 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8587 ข่าวสดรายวัน
ไม่ขยับ แก๊สหุงต้ม-ดีเซล สั่งปรับแผน-ตรึงไม่มีกำหนด 'บิ๊กจิน'ลุยโรดแม็ปเศรษฐกิจ ให้ธอส.ปล่อยกู้เพิ่ม-ลูกค้าชั้นดี
คสช.ปรับมาตรการช่วยเหลือ"บิ๊กจิน" หัวหน้าทีมเศรษฐกิจสั่งตรึง "ดีเซล" ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ก๊าซหุงต้ม "แอลพีจี" ภาคครัวเรือน 22.63 บาทต่อกิโลกรัมออกไปไม่มีกำหนด คงภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ออกไปอีก 1 ปี พร้อมลุยโครงการเร่งด่วน เงินประกันภัยข้าวนาปี รถไฟฟ้า รางรถไฟ ถนน พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดน ทั้งมาเลเซีย ลาว พม่า ให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ "บิ๊กตู่" เรียกถกทั้ง 7 กลุ่มงานที่มอบหมายไป สั่งลุยแผนโรดแม็ปเศรษฐกิจ ด้านแบงก์ออมสินเตรียมประมูลเงินกู้ล็อตที่ 2 ค่าจำนำข้าวอีก 4.2 หมื่นล้าน ยันมีหลายสถาบันการเงินร่วมประมูลกันคึกคัก
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่กระทรวงการคลัง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ประชุมข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ โดยใช้เวลาหารือกันนานกว่า 4 ชั่วโมง
พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า โรดแม็ปเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าจะปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน ขณะเดียวกันให้ตรึงราคาก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจี ภาคครัวเรือนไว้ที่ 22.63 บาทต่อกิโลกรัม ออกไปไม่มีกำหนด ดังนั้นตามนโยบายรัฐบาลเดิมที่จะขึ้นแอลพีจีภาคครัวเรือนในวันที่ 1 มิ.ย. อีก 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม ให้ระงับไปเลย และให้คงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต ที่ 7 เปอร์เซ็นต์ ออกไปอีก 1 ปี พร้อมเร่งปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ โดยมอบหมายให้นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า
หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีโครงการเร่งด่วน คือโครงการประกันภัยข้าวนาปี 2557 โดยให้เตรียมวงเงินไว้สำหรับจ่ายค่าเบี้ยประกัน และจ่ายค่าเสียหายที่จะเกิดขึ้น ส่วนโครงการรับจำนำข้าวจะยกเลิกหรือไม่ ต้องขอพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง และให้เร่งลงทุนขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟฟ้า รางรถไฟ และถนน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมด่วน เพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ทั้งไทย-มาเลเซีย ไทย-ลาว ไทย-พม่า อย่างเป็นรูปธรรมให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้
พล.อ.อ.ประจินกล่าวด้วยว่า ให้ขับเคลื่อนโครงการเร่งด่วน เช่น การค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โอท็อป และไมโคร เพื่อให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น และให้ผลักดันสินเชื่อที่อยู่อาศัยผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดยจะปล่อยกู้ให้กับลูกค้าที่มีประวัติดี ไม่เป็นหนี้เสีย รายละ 1.5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1-3 ปี คงที่ 4.125 เปอร์เซ็นต์ และเร่งแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ
รองหัวหน้า คสช.กล่าวต่อว่า โครงการเร่งด่วนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ 30 โครงการเร่งด่วนที่ต้องให้แล้วเสร็จในเดือนมิ.ย. สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 30 ด้าน สรุปออกมาได้เป็น 10 เรื่อง คือ 1.การใช้งบประมาณไม่เกินตัวจนผิดวินัยการคลัง 2.สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน 3.เร่งงบประมาณปี 2557 ที่ค้างอยู่ 4.แก้ไขข้อจำกัดด้านกฎหมายที่ส่งผลต่อด้านเศรษฐกิจ 5.เร่งรัดเขตเศรษฐกิจพิเศษ 6.ยึดวินัยการคลัง กฎกติกาของบริษัทมหาชน 7.จัดตั้งกองทุนเอกชน ทดแทนการลงทุนภาครัฐ 8.เพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานรัฐวิสาหกิจ 9.ผลักดันด้านพลังงานทดแทน และ 10.เน้นความโปร่งใสตรวจสอบได้
ด้านพ.อ.ณัฐวัฒน์ จันทร์เจริญ ทีมโฆษก คสช.แถลงว่า วันที่ 2 มิ.ย. เวลา 08.30 น. ที่บก.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เชิญรองหัวหน้า คสช.ทั้งหมด และ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. ประชุมหารือภายหลังจากที่ให้หัวหน้าหน่วยต่างๆ ไปประชุมส่วนย่อยทั้ง 7 กลุ่มงานที่ได้รับผิดชอบ โดยเฉพาะกลุ่มงานเศรษฐกิจ ที่หัวหน้า คสช.ให้ความสำคัญ เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขให้เร็วที่สุด จึงเชิญสำนักงบประมาณ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานกระทรวงการคลัง เพื่อบรรยายสรุปผลการดำเนินการที่ผ่านมา รวมถึงแผนงานเร่งด่วน แผนการจัดการ การบูรณาการ เสนอเป็นโรดแม็ปเพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการปฏิบัติต่อไป
พ.อ.ณัฐวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนการประเมินสถานการณ์ประจำวันนั้น คสช.ประชุมทุกวันอยู่แล้ว เพราะยังมีกลุ่มต่อต้าน หัวหน้า คสช.เน้นย้ำให้เจรจาและทำความเข้าใจเป็นหลัก และขอความกรุณาให้คสช.ทำงานแก้ปัญหาบ้านเมือง ปัญหาปากท้องของประชาชน ก่อน อยากให้กลุ่มต้านได้เห็นถึงความตั้งใจจริงและรอดูผลงานของ คสช.ก่อนว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติหรือไม่ และถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ ขอให้มั่นใจว่า คสช.จะคืนอำนาจ และจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างแน่นอน
ขณะเดียวกัน นายสมชัย สัจจพงษ์ ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า จะเสนอ คสช.ออกพ.ร.บ.การติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม เพราะจะเป็นประโยชน์กับประชาชนจำนวนมาก และปัจจุบันพบว่ามีลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลจำนวนมากถูกทวงหนี้อย่างไม่เหมาะสม สำหรับหลักการเบื้องต้นของพ.ร.บ.ทวงถามหนี้ฯ จะให้บริษัททวงหนี้มาลงทะเบียนกับกระทรวงการคลัง โดยจะมีกฎระเบียบควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น ห้ามข่มขู่หรือประจานลูกหนี้ ต้องทวงหนี้ในเวลาที่กำหนด หากทำผิดมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท จำคุก 1 ปี เป็นต้น นอกจากนี้ จะเสนอ คสช.ออกพ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น
นายสมชัย กล่าวว่า ยังมีพ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะเสนอให้คสช.เห็นชอบด้วย เพราะเป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับประเทศ และจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะลดภาระงบฯ ในการให้อุดหนุน กับอปท. ทำให้ประเทศมีเงินเหลือเพื่อไปการลงทุนพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ มากขึ้น สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.นี้ สศค.เคยศึกษาไว้มี 3 อัตรา ได้แก่ อัตราภาษีทั่วไปไม่เกิน 0.5 เปอร์เซ็นต์ ที่อยู่อาศัยไม่เกิน 0.1 เปอร์เซ็นต์ และที่เกษตรกรรมไม่เกิน 0.05 เปอร์เซ็นต์ ที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าใน 3 ปีแรกให้เก็บภาษีไม่เกิน 0.5 เปอร์เซ็นต์ หากยังไม่ทำประโยชน์อีกให้เสียเพิ่ม 1 เท่าในทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์ โดยทางอปท.แต่ละท้องถิ่นเป็นผู้เก็บ ไม่ใช่รัฐบาลกลาง
"จะผลักดันกฎหมายทวงถามหนี้เป็นธรรม กับหลักประกันธุรกิจก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเป็นประโยชน์กับประชาชนและธุรกิจ ส่วนพ.ร.บ.ที่ดินฯ จะดำเนินการต่อมา เพราะยังไม่เป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ก็มีความจำเป็นต้องดำเนินการเพราะถือเป็นโอกาสดี ตอนนี้ คสช.มีอำนาจเต็ม สามารถอนุมัติกฎหมายได้ทันที หากเป็นรัฐบาลปกติกฎหมายดังกล่าวผลักดันให้เกิดได้ยาก"ผอ.สศค.กล่าว
ส่วนน.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผอ.สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สัปดาห์หน้า สบน.จะได้ข้อสรุปแผนการกู้เงินรอบที่ 2 อีก 42,000 ล้านบาท เพื่อนำไปชำระคืนสภาพคล่องให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่ทยอยจ่ายให้เกษตรกรในโครงการรับจำนำข้าวไปก่อนหน้านี้ เบื้องต้นมีแนวทางการกู้ 2 ลักษณะ คือ 1.ออกพันธบัตรระยะสั้น 3 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2 เปอร์เซ็นต์ หรือ 2.กู้เงินโดยตรงจากสถาบันการเงิน (เทอมโลน) ที่มีข้อดีคือเมื่อขายข้าวคืนก็สามารถทยอยจ่ายคืนได้ทันที ไม่เหมือนการออกพันธบัตร
นายธัชพล กาญจนกูล รอง ผอ.ธนาคารออมสินอาวุโส กลุ่มลงทุนและบริหารเงิน รักษาการแทน ผอ.ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารเมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบที่จะร่วมประมูลวงเงินกู้ในโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด 50,000 ล้านบาท เนื่องจากขณะนี้สภาพคล่องของธนาคารมีสูงถึง 280,000 ล้านบาท ประเมินแล้วว่าถ้าเข้าไปร่วมประมูลได้ทั้งหมด อีกทั้งสามารถปล่อยกู้ได้ตามแผนที่จำนวน 80,000 ล้านบาท ธนาคารยังมีสภาพคล่องเหลือเพียงพอในระดับที่เหมาะสม
วงเงินกู้โครงการรับจำนำข้าว เชื่อว่าสถาบันการเงินทุกแห่งจะให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ที่จะมาร่วมประมูลแน่นอน คือ ธนาคารกรุงเทพ ทหารไทย และกรุงไทย ยังไม่ได้เสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคาร เชื่อว่าคงแข่งขันกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยที่จะเสนอ" นายธัชพลกล่าว และว่าที่ประชุมคณะกรรมการอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะร่วมประมูลเงินกู้ล็อตที่ 2 อีก 42,000 ล้านบาทหรือไม่ โดยในส่วนนี้ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม แต่สภาพคล่องที่มีอยู่ก็เพียงพอที่จะเข้าร่วมประมูลได้ ไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานธนาคาร
นายธัชพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ธนาคารเตรียมเสนอ 2 แนวทาง ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งขนาดกลางและขนาดย่อม ให้ คสช.พิจารณา ได้แก่ 1.มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยการออกโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอี "เอสเอ็มอีสุขใจ" วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท ปล่อยกู้รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท ระยะเวลาการกู้ 10 ปี ใช้เวลาในการอนุมัติภายใน 10 วันหลังจากยื่นเอกสารครบ และ 2.มาตรการพัฒนาผู้ประกอบการและประชาชนรายย่อย จะเสนอจัดตั้งกองทุนให้ความช่วยเหลือข้าราชการ ทหาร ครู เป็นต้น โดยการปรับโครงสร้างหนี้ในลูกหนี้กลุ่มดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันลูกหนี้กลุ่มนี้เริ่มมีแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มมากขึ้น