WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

อานิสงส์น้ำมันโลกดิ่ง รัฐบาลฉวยจังหวะปรับโครงสร้างยกแผง ของขวัญปีใหม่คนไทยใช้ของถูก

 

 

 
 

มติชนออนไลน์ :  


    ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา นอกจากจะทำให้ราคาขายปลีกในบ้านเราลดลงฮวบฮาบแล้ว อีกทางหนึ่งยังช่วยรัฐบาล ?บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา? ในการบริหารนโยบายราคาน้ำมันที่เป็นปัญหาสะสมจนยากจะแก้ไขมานานแล้ว เพราะการเคลื่อนไหวของราคาขายปลีกน้ำมันทุกบาททุกสตางค์ คือ คะแนนนิยมที่จะเพิ่ม/ลดของประชาชนคนไทยด้วยเช่นกัน

    โดยสาเหตุที่ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง กูรูหลายสำนักฟันธงในแนวเดียวกันว่ามาจากอุปทาน หรือ ปริมาณน้ำมันพร้อมขายที่มากเกินความต้องการของตลาด เพราะกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันหรือโอเปกยังคงกำลังการผลิตไว้เท่าเดิม แม้ว่าสหรัฐอเมริกาซึ่งในอดีตคือผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลกจะสามารถผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน หรือ เชลออยล์มาใช้เองแล้วก็ตาม นอกจากนี้ยังมีผลมาจากการที่เศรษฐกิจโลกยังซบเซา 

ลุ้นราคาน้ำมันโลกดิ่งถึงกลางปี

   อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์กันว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันจะคงตกต่ำต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2558 เพราะในช่วงเดือนมิถุนายน โอเปกจะมีการประชุมสมาชิก ซึ่งคาดว่าอาจจะมีการพูดถึงกำลังการผลิตแน่นอน แต่ก็มีความกังวลว่าอาจมีการเคลื่อนไหวของราคาก่อนกลางปีก็ได้ เพราะประเทศสมาชิกโอเปกบางประเทศก็เริ่มเรียกร้องให้โอเปกทบทวนแนวทางที่ดำเนินการอยู่

   จากการที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดต่อเนื่องนั้นได้ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยปรับลดลงด้วยเช่นกัน ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันต่างกุมขมับไปตามๆ กัน เพราะขาดทุนจากการสต๊อกน้ำมันที่ราคาดิ่งลงฮวบฮาบ 

    โดยราคาน้ำมันในประเทศเริ่มปรับลดมาตั้งแต่ในช่วงเดือนสิงหาคม ภายใต้การบริหารงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งใช้โอกาสที่ราคาเริ่มลดลง กันเงินส่วนหนึ่งเก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่กำลังติดลบหลายพันล้านบาท โดยเก็บเงินจากน้ำมันดีเซลมากกว่าเบนซิน เพราะดีเซลเป็นเชื้อเพลิงหลักสัดส่วน 60-70% ของระบบ ถือเป็นขั้นตอนการเตรียมตัวสู่การปฏิรูปพลังงานเต็มตัว

   คสช.นำร่องปรับโครงสร้างน้ำมัน

   ทั้งนี้ ข้อมูลราคาน้ำมันขายปลีก ณ วันที่ 22 พฤษภาคม วันที่ คสช.เข้าบริหารประเทศ ราคาน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ 49.15 บาทต่อลิตร เงินเก็บเข้ากองทุน 10 บาทต่อลิตร ภาษีสรรพสามิต 7 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ราคา 41.13 บาทต่อลิตร เงินเก็บเข้ากองทุน 3.3 บาทต่อลิตร ภาษีสรรพสามิต 6.3 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ราคา 38.68 บาทต่อลิตร เงินเก็บเข้ากองทุน 1.2 บาทต่อลิตร ภาษีสรรพสามิต 6.3 บาทต่อลิตร, อี20 ราคา 36.18 บาทต่อลิตร เงินกองทุนชดเชย 1.05 บาทต่อลิตร ภาษีสรรพสามิต 5.6 บาทต่อลิตร, อี85 ราคา 24.78 บาทต่อลิตร เงินกองทุนชดเชย 11.60 บาทต่อลิตร ภาษีสรรพสามิต 1.05 บาทต่อลิตร และดีเซล ราคา 29.99 บาทต่อลิตร เงินเข้ากองทุน 0.28 บาทต่อลิตร ภาษีสรรพสามิต 0.005 บาทต่อลิตร 

   และเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ราคาน้ำมันตลาดโลกเริ่มปรับลด ราคาน้ำมัน เงินกองทุนน้ำมันมีการเปลี่ยนแปลงชัดเจน โดย เบนซิน 95 ราคา 48.75 บาทต่อลิตร เงินเก็บเข้ากองทุน 11.85 บาทต่อลิตร ภาษีสรรพสามิต 7 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ราคา 39.93 บาทต่อลิตร เงินเก็บเข้ากองทุน 4.85 บาทต่อลิตร ภาษีสรรพสามิต 6.3 บาทต่อลิตร, น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ราคา 37.48 บาทต่อลิตร เก็บเข้ากองทุน 2.75 บาทต่อลิตร ภาษีสรรพสามิต 6.3 บาทต่อลิตร , อี20 ราคา 34.98 บาทต่อลิตร เก็บเข้ากองทุน 0.50 บาทต่อลิตร ภาษีสรรพสามิต 5.6 บาทต่อลิตร, อี85 ราคา 24.28 บาทต่อลิตร เงินกองทุนชดเชย 9.75 บาทต่อลิตร ภาษีสรรพสามิต 1.05 บาทต่อลิตร และดีเซล ราคา 29.85 บาทต่อลิตร เงินเข้ากองทุน 1.55 บาทต่อลิตร ภาษีสรรพสามิต 0.005 บาทต่อลิตร 

   จนวันที่ 28 สิงหาคม การปรับโครงสร้างราคาแบบเล็กๆ ก็เริ่มขึ้น เมื่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตดีเซล เป็น 0.75 บาทต่อลิตร ขณะเดียวกันยังลดภาษีสรรพสามิตกลุ่มเบนซิน โดยเบนซิน 95 ลดลง 3.89 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 ลดลง 2.13 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 ลดลง 1.70 บาทต่อลิตร อี20 ลดลง 1 บาทต่อลิตร ส่วน อี85 คงเดิม

    ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม เป็นดังนี้ เบนซิน 95 ราคา 44.86 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 ราคา 37.80 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 ราคา 35.78 บาทต่อลิตร อี20 ราคา 33.98 บาทต่อลิตร อี85 ราคา 24.28 บาทต่อลิตร และดีเซล 29.99 บาทต่อลิตร

    กพช.ปรับภาษีดีเซลครั้งใหญ่

    ต่อมาสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกตกต่ำจนแตะระดับ 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ยิ่งทำให้ราคาในประเทศลดลงเรื่อยๆ ล่าสุดรัฐบาล โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมมีมติปรับโครงสร้างราคาน้ำมันอีกครั้ง โดยวางกรอบให้น้ำมันทุกชนิดจะต้องเสียภาษีสรรพสามิตในอัตราใกล้เคียงกัน คือระหว่าง 2.85-5.50 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ให้บิดเบือดอย่างในอดีต พร้อมกับมีมติขึ้นภาษีดีเซล จาก 0.75 บาทต่อลิตร เป็น 3.25 บาทต่อลิตร ให้มีผลวันที่ 16 ธันวาคม

    แม้จะปรับโครงสร้างไปแล้ว แต่ราคาขายน้ำมันดีเซลยังคงอยู่ที่ 26.89 บาทต่อลิตรคงเดิม เพราะใช้วิธีดึงเงินจากที่เคยเก็บเข้ากองทุนน้ำมันมาเก็บภาษีสรรพสามิตแทน แต่ยังเหลือเงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอีกเล็กน้อย เพราะสถานะกองทุนน้ำมันเป็นบวกมีเงินไหลเข้าทะลุ 10,000 ล้านบาทแล้ว

   กบง.กดอี20ถูกกว่าดีเซล

   ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีมติปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ในอัตรา 0.30 บาทต่อลิตร และน้ำมันดีเซล 0.70 บาทต่อลิตร และจากค่าการตลาดระดับสูง ผู้ค้า คือ ปตท.และบางจาก ยังลดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95 น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ อี20 จะลดลงประมาณ 0.30 บาทต่อลิตร ส่วน อี85 ราคาเท่าเดิม มีผลวันที่ 24 ธันวาคม 

ผลจากมติดังกล่าวทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 95 ราคา 37.06 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 ราคา 30 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 คงเดิม 28.28 บาทต่อลิตร อี20 ราคา 26.68 บาทต่อลิตร อี85 คงเดิม 22.48 บาทต่อลิตร และดีเซลคงเดิม 26.89 บาทต่อลิตร สร้างปรากฏการณ์น้ำมันอี20 ถูกกว่าดีเซล

ปชช.-เอกชน ร้องขอค่าขนส่ง ค่าไฟ

แม้ราคาน้ำมันจะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ค่าครองชีพประชาชน ตลอดจนต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจยังนิ่ง ไม่ได้ปรับลด สวนทางกับช่วงราคาน้ำมันแพง ที่ต่างก็ขึ้นราคาสินค้าไปดักรอล่วงหน้า 

จนในที่สุดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ออกมากดดันรัฐบาลให้เข้าไปดูและต้นทุนการขนส่งและค่าไฟฟ้า เพราะทั้ง 2 ส่วนอ่อนไหวตามราคาน้ำมันมากที่สุด โดย ส.อ.ท. ระบุว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดต่ำกว่า 50% ควรต้องมีการปรับลดค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปร (เอฟที) ลง 20 สตางค์ และควรจะปรับลดค่าขนส่ง และค่าโดยสารลงอย่างน้อย 15-20% เพื่อให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่ลดลง เพื่อบรรเทาภาระรายจ่ายให้กับประชาชน

ล่าสุดคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง มีแนวโน้มให้ปรับลดค่าโดยสารรถประจำทางลง 00.02 บาทต่อกิโลเมตรโดยให้มีผลหลังปีใหม่ 2558 

กกพ.ลดเอฟที 10.4 สตางค์

ส่วนค่าเอฟทีนั้น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้พิจารณาค่าเอฟที สำหรับงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2558 มีมติให้ลดค่าเอฟทีลง 10.04 สตางค์ ทำให้เอฟทีในช่วง 4 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 58.96 สตางค์ต่อหน่วย จากงวดที่ผ่านมาค่าเอฟทีอยู่ที่ 69 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.86 บาทต่อหน่วย 

โดยสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟลดลงมาก เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงแรง จึงสะท้อนมายังราคาก๊าซธรรมชาติให้ปรับตัวลง และส่งสัญญาณว่าตลอดปี 2558 หากราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยประมาณ 60 เหรียญฯต่อบาร์เรลตลอดทั้งปีอาจส่งผลให้ค่าเอฟทีอีก 2 งวดที่เหลือปรับตัวลดลงแน่นอน 

พร้อมตอบโต้ ส.อ.ท. ที่ต้องการเห็นค่าเอฟทีงวดนี้ลดลง 20 สตางค์ต่อหน่วยว่านำตัวเลขมาจากไหน เพราะการพิจารณาจะยึดตามต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งเชื้อเพลิงหลัก คือก๊าซธรรมชาติมีสูตรราคาก๊าซฯอิงกับน้ำมันเตาย้อนหลัง 6 เดือน-1 ปี ตามสัญญาซื้อขายของแหล่งก๊าซ ดังนั้นแม้น้ำมันจะลดลงแต่จะไม่มีผลต่อค่าไฟฟ้าทันที งวดนี้จึงลดได้แค่ 10.04 สตางค์เท่านั้น

ปตท.สผ.พร้อมชิงจังหวะซื้อกิจการ

ความเคลื่อนไหวอีกด้านจากราคาน้ำมันโลก คือ การลงทุนผลิตปิโตรเลียมของบริษัทน้ำมันทั่วโลกที่อาจซบเซา แต่ไม่รวมบริษัท ปตท.ผลิตและสำรวจปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ล่าสุดระบุว่าจะใช้โอกาสดังกล่าวเข้าไปซื้อกิจการสำรวจและผลิตเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจของบริษัท พบว่ามีแหล่งผลิตหลายแห่งหยุดดำเนินงานเพราะต้นทุนไม่คุ้มกับราคาน้ำมันที่ลดลง โดยจะซื้อกิจการทั้งในประเทศและนอกประเทศ ทั้งที่อินโดนีเซีย พม่าและเวียดนาม และแหล่งเชลออยล์ในสหรัฐอเมริกา

แต่อยากจะเตือนคนไทยและรัฐบาล แม้จะมีความสุขกับราคาน้ำมันแล้ว แต่ต้องไม่ลืมว่าโภคภัณฑ์ตัวนี้อ่อนไหวมาก ควรต้องวางแผนรับมือเมื่อราคาถีบตัวสูงขึ้นดีกว่า....

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!