- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 25 December 2014 19:15
- Hits: 2215
ไทยออยล์สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบปี 2557 และคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบปี 2558
“ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบดูไบปี 58 มีแนวโน้มผันผวน จากแรงกดดันของภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาด และเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง”
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบปี 2557
ราคาน้ำมันดิบในปี 2557 มีการเคลื่อนไหวที่ผันผวนมาก โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบกว้างที่ 55 – 111 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และมีราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปรับลดลงจากราคาเฉลี่ยในปี 2556 ที่ 106 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบในช่วงต้นปีถือว่าปรับลดลงจากปลายปี 2556 เนื่องจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง โดยจีดีพีไตรมาส 1 ของจีนที่ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 18 เดือน ที่ 7.4% ประกอบกับการที่สหรัฐฯ ตัดสินใจปรับลดวงเงินมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) ลงมาอยู่ที่ 55,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน จากเดิม 85,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน ทำให้ตลาดกังวลว่าอาจกระทบภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งนี้เนื่องจากหลายฝ่ายยังมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นอาจยังไม่แข็งแกร่งเต็มที่ ซึ่งหากเศรษฐกิจของสองประเทศยักษ์ใหญ่ตกอยู่ในภาวะที่ไม่ดีนักก็อาจส่งผลให้ภาพรวมอุปสงค์น้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับลดลง นอกจากนี้การบรรลุข้อตกลงในการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรต่อโครงการนิวเคลียร์อิหร่านชั่วคราวเป็นเวลา 6 เดือน นับจากเดือนมกราคม 2557 ทำให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้ราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และส่งผลกดดันราคาน้ำมัน อย่างไรก็ดี เหตุการณ์การแบ่งแยกดินแดนในยูเครน รวมถึงการปิดท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบในลิเบียที่ส่งผลให้การส่งออกน้ำมันดิบของประเทศลดลงส่งแรงหนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงไม่มากนัก
ในไตรมาสที่ 2 ราคาน้ำมันดิบดีดตัวกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง หลังปัญหาความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติในอิรักปะทุขึ้น โดยกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรัก (IS) ได้บุกเข้ายึดเมืองหลักทางภาคเหนือ รวมถึงโรงกลั่นน้ำมันดิบขนาดใหญ่ของอิรัก และเข้าควบคุมท่อส่งออกหลายแห่ง ส่งผลให้ตลาดเกิดความกังวลว่าอาจเกิดปัญหาต่อการส่งออกน้ำมันดิบของอิรัก ซึ่งถือเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกน้ำมันดิบอันดับต้นๆ ของโลก ขณะที่เหตุการณ์ความรุนแรงในลิเบียและยูเครนก็ยังคงยืดเยื้อ โดยกลุ่มกบฏในลิเบียยังคงปักหลักปิดท่าเรือขนส่งน้ำมันดิบต่างๆ ส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียในไตรมาสที่ 2 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 250,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่ผลิตได้ราว 500,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงต้นปี นอกจากนี้เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลยูเครนและกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนฝักใฝ่รัสเซีย ส่งผลให้สหรัฐฯ และยุโรปตัดสินใจออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและอาญัติวีซ่ารายบุคคลต่อรัสเซีย ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของรัสเซียได้ อีกทั้งการเริ่มต้นฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงหลุมน้ำมันดิบหลักบริเวณทะเลเหนือในเดือน ก.ค. สร้างความกังวลต่อภาวะอุปทานตึงตัวในตลาดน้ำมันโลกเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ อันเป็นผลมาจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นตามฤดูกาล รวมถึงตัวเลขจีดีพีสหรัฐฯ ที่ถดถอย 2.9% ยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 3 ปรับลดลงอีกครั้งเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 หลังตลาดคลายความกังวลเรื่องอุปทานน้ำมันดิบตึงตัวลง ทั้งนี้เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆ ส่อเค้าคลี่คลายลง ประกอบกับความรุนแรงในอิรักและยูเครนกลับไม่ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบของประเทศอย่างที่ตลาดเคยกังวล โดยการผลิตน้ำมันดิบของอิรักในเดือนกันยายนปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 3.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะเดียวกันการเจรจาเปิดท่าเรือส่งออกน้ำมันดิบของลิเบียที่เป็นผลสำเร็จทำให้ลิเบียกลับมาส่งออกได้มากขึ้นอีกครั้งและทำให้การผลิตน้ำมันดิบลิเบียปรับเพิ่มขึ้น 650,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 900,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือนกันยายน นอกจากนี้ 3 สถาบันพลังงานหลักของโลก (สำนักงานพลังงานสากล (IEA) สำนักงานข้อมูลสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) และโอเปก) ยังออกมาแสดงมุมมองต่ออุปสงค์น้ำมันดิบโลกในปี 2557 และปี 2558 ว่าไม่น่าจะเติบโตมากนัก โดย IEA ออกมาปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบโลกของปี 2557 และ 2558 ลง มาขยายตัวที่ระดับ 0.7 และ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ โดยมองว่าเศรษฐกิจของผู้บริโภคน้ำมันหลักในโลกอย่างจีนและยุโรปจะยังคงมีเศรษฐกิจที่ไม่เติบโตมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2557 และปี 2558 ลงมาอยู่ที่ 3.3% และ 3.8% ตามลำดับ เช่นกัน
สำหรับไตรมาสสุดท้ายของปี ราคาน้ำมันดิบดูไบมีการปรับลดลงมากเป็นประวัติการณ์และลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี ที่ 60.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในเดือน ธ.ค. ทั้งนี้สาเหตุหลักมาจากอุปทานน้ำมันดิบที่ล้นตลาด ทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันดิบชนิดเบาจากชั้นหินดินดาน (shale oil) ของสหรัฐฯ ประกอบกับการตัดสินใจคงกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา ยังส่งผลให้ตลาดกังวลว่าอุปทานน้ำมันดิบโลกจะมีแนวโน้มล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซา ส่งผลให้อุปสงค์ลดลงรวมถึงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ส่งผลให้นักลงทุนมีการโยกย้ายเงินลงทุนจากตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ไปลงทุนในตลาดปริวรรตเงินตราเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลงราว 30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลภายในเวลา 3 เดือน
ภาวะตลาดน้ำมันดิบและคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในปี 2558
ในปี 2558 คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งถือว่าปรับลดลงอย่างมากจากราคาเฉลี่ยในปี 2557 ที่ประมาณ 96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากมีแนวโน้มว่าอัตราการขยายตัวของอุปทานน้ำมันดิบโลกจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตราการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันโลก ส่งผลให้เกิดภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดมากขึ้น โดยอุปทานน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ในปี 2558 คาดว่าอิหร่านและลิเบียจะกลับมาผลิตได้เพิ่มขึ้น ขณะที่อุปทานน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ถึงแม้จะฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังคงเปราะบาง ส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันดิบยังคงอ่อนตัว
อุปทานน้ำมันดิบ: อุปทานน้ำมันดิบโลกในปี 2558 ถือว่ามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย
สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้คาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันดิบจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกในปี 2558 (รายงาน ณ เดือน ธ.ค. 2557) จะเฉลี่ยอยู่ที่ 57.84 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปรับเพิ่มขึ้น 1.31 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปี 2557 โดยอุปทานน้ำมันดิบส่วนใหญ่มาจากการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale oil) ในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำ อาจส่งผลให้การผลิตรวมถึงการลงทุนด้าน Shale oil ในสหรัฐฯ ชะลอตัว นอกจากนี้ IEA ได้คาดการณ์ว่าในปี 2558 รัสเซียจะผลิตน้ำมันดิบลดลง 70,000 บาร์เรลต่อวันด้วย รวมถึงโอเปกได้ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบของกลุ่มในปี 2558 ลดลงเช่นกัน เหลือ 28.92 ล้านบาร์เรลต่อวัน ถือเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2546
อุปสงค์น้ำมันดิบ: IEA ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันดิบโลกปี 2558 ลง โดยมองว่าจะขยายตัวที่ระดับ 900,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 93.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน บนสมมติฐานการใช้น้ำมันในรัสเซียและประเทศพัฒนาแล้วที่ปรับตัวลดลง เหตุจากความเปราะบางในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น และแรงกดดันจากภาวะเงินผืด ขณะที่จีนซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลกอาจมีความต้องการใช้น้ำมันที่ไม่สูงมากนัก หลังภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศเติบโตด้วยอัตราที่ลดน้อยลงในปี 2558 อย่างไรก็ดี ความต้องการใช้ในประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินเดีย มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ
กำลังการผลิตของโรงกลั่นในภูมิภาค : ในปี 2558 กำลังการผลิตส่วนเพิ่มในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ส่วนใหญ่ยังคงมาจากจีนและอินเดีย ที่ราว 0.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่กำลังการผลิตส่วนเพิ่มในตะวันออกกลางปรับเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยมีกำลังการผลิตส่วนเพิ่มอีกราว 0.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงกลั่นใหม่ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรต
สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศในตะวันออกกลาง: การเจรจาระหว่างอิหร่านและชาติมหาอำนาจ 6 ชาติ ซึ่งจะถึงกำหนดในวันที่ 1 ก.ค. 2558 หากอิหร่านยอมยุติการพัฒนาสมรรถนะแร่ยูเรเนียมไม่ให้ไปถึงระดับที่จะสามารถนำไปผลิตเป็นอาวุธนิวเคลียร์ได้ เพื่อแลกกับการลดทอนมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน จะทำให้อิหร่านสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันดิบได้ตามปกติ แต่การที่อิหร่านจะกลับมาส่งออกน้ำมันได้เต็มที่อีกครั้งยังคงต้องอาศัยเวลาในการฟื้นฟูอุปกรณ์และเครื่องจักรต่างๆ เพื่อที่จะทำให้น้ำมันดิบจากอิหร่านอีกราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน กลับมาสู่ตลาดเหมือนช่วงก่อนที่จะถูกคว่ำบาตรจากตะวันตก ขณะที่เหตุการณ์ความไม่สงบในลิเบียยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง กลุ่มกบฏยังเข้าปิดแหล่งน้ำมันดิบหลักอย่าง El Sharara และ El Feel ท่ามกลางความพยายามที่จะเปิดดำเนินการและการเพิ่มกำลังการผลิตของแหล่งน้ำมันต่างๆ ซึ่งในปี 2558 ลิเบียมีแนวโน้มจะสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้น ในส่วนของอิรักก็ยังมีการก่อความไม่สงบจากกลุ่มกบฏ IS แต่คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันดิบของอิรักแต่อย่างใด ผลกระทบจากการที่โอเปกตัดสินใจคงกำลังการผลิตไว้ อาจทำให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในกลุ่ม โดยเฉพาะอิหร่าน เวเนซุเอลา และไนจีเรีย ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ ซ้ำเติมสภาวะเศรษฐกิจของบางประเทศที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว อาจส่งผลให้เกิดความไม่สงบภายในประเทศขึ้นได้
ฤดูกาลและภัยธรรมชาติ: นอกจากความต้องการใช้น้ำมันแต่ละประเภทในแต่ละฤดูกาลจะมากน้อยแตกต่างกันแล้ว ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในปัจจุบันยังคงส่งผลต่อราคาน้ำมันด้วย ไม่ว่าจะเป็นพายุเฮอริแคนในมหาสมุทรแอตแลนติกที่มักจะสร้างความเสียหายให้กับแหล่งผลิตน้ำมันดิบ รวมถึงโรงกลั่นในแถบอ่าวเม็กซิโก รวมถึงพายุหมุนเขตร้อน หรือพายุไต้ฝุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกหรือทะเลจีนใต้ อาจจะสร้างความเสียหายให้แก่โรงกลั่นในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก
กฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ: การที่รัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลกเริ่มปรับลดนโยบายอุดหนุนราคาพลังงาน เช่นใน อียิปต์ คูเวต จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย มีส่วนกดดันให้อุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปปรับตัวลดลง ประกอบกับในปัจจุบันนี้หลายประเทศทั่วโลกได้ตระหนักถึงการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้มีหลายประเทศออกนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนกันมาก ทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป หรือแม้แต่หลายๆ ประเทศในเอเชียมีการบังคับสัดส่วนการใช้เอทานอลในน้ำมันเบนซินและไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่ประเทศไทยเองก็ตาม