- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Thursday, 25 December 2014 07:40
- Hits: 3110
กองทุนอนุรักษ์ฯ ทุ่มงบเกือบ 7 พันลบ.ปี 58 หนุนโครงการลดใช้พลังงาน
พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในฐานะประธานกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน(กทอ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ ว่า การจัดสรรเงินกองทุนฯ ในปี 2558 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาให้เป็นไปตาม 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.สอดคล้องวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535, 2.สอดคล้องกับแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ตามมติ กพช. และ 3.สอดคล้องกับยุทธศาสตร์แผนอนุรักษ์พลังงาน (พ.ศ. 2554-2573) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(พ.ศ. 2555-2564)
โดยได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 วงเงิน 6,943 ล้านบาท แบ่งเป็น แบบงานตามแผนที่หน่วยงานคิดและวางแผนไว้แล้ว 5,944 ล้านบาท และแบบวงเงินรวม (Block Grant) ประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้ประกาศให้ทุนสนับสนุนแก่โครงการอื่นๆ ตามความเหมาะสม เช่น ทุนวิจัยด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน การลงทุนเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในภาคอุตสาหกรรมการดำเนินงานในระดับชุมชน เป็นต้นการจัดสรรงบกองทุนปีนี้ได้พยายามกระจายให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายต่างๆ จะแบ่งออกได้ 8 กลุ่ม ได้แก่ 19% กลุ่มชุมชน 13% หน่วยงานภาครัฐ 22% หน่วยงานความมั่นคง 23% ภาคเอกชน 9% งานศึกษาวิจัย 7% งานประชาสัมพันธ์4%งานพัฒนาบุคลากรและ 2% เป็นงานบริหาร
ทั้งนี้ คาดว่า การดำเนินโครงการต่างๆ ในปี 58 จะช่วยลดการใช้พลังงานลงได้อีก 227 ktoe/ปี คิดเป็นมูลค่า 7,350 ล้านบาท/ปี และช่วยบรรเทาการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานลงได้ 1.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ โดยยังคงกำกับดูแลการใช้พลังงานในอาคารภาครัฐกว่า 10,000 หน่วยงาน การใช้พลังงานในภาคเอกชนที่เป็นอาคารควบคุม 2,250 แห่ง และโรงงานควบคุม 5,500 แห่ง โดยเพิ่มความเข้มข้นขึ้นด้วยการมีมาตรฐานการใช้พลังงานมากำกับ และเพิ่มการช่วยเหลือ SMEs ให้มากขึ้นเพื่อลดต้นทุนรายจ่ายด้านพลังงาน เป็นต้น
"เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจได้ว่า การปฏิบัติงานตามแผนการใช้จ่ายเงินของกองทุนเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องและสามารถสร้างผลงานที่สอดคล้องตามเป้าประสงค์หรือจุดมุ่งหมายที่วางเอาไว้ กทอ.จึงได้มอบคณะอนุกรรมการกองทุนในการกำกับดูแลโดยให้มีรายงานผลการดำเนินงานทุก 4 เดือนเป็นอย่างน้อย และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประเมินผลขึ้นอีกคณะหนึ่ง เพื่อช่วยประเมินผลการดำเนินงาน รายงานจากคณะอนุกรรมการทั้ง 2 คณะ จะเป็นตัวบ่งชี้ผลสำเร็จ ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น จะเป็นข้อมูลแก่กทอ.ในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและจะรายงานผลอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ ให้สาธารณะชนรับทราบต่อไป" พล.อ.อุดมเดช กล่าว
สำหรับ ฐานะการเงินของกองทุนฯ ณ วันที่ 30 กันยายน 2557 และงบการเงินกองทุนปี 2554-2556 ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบรับรองแล้ว โดยมีรายรับเฉลี่ย 500-600 ล้านบาทต่อเดือน ตามปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตจำหน่าย และนำเข้าเพื่อใช้ในราชอาณาจักรในอัตราที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) กำหนดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2553 ประมาณ 25 สตางค์ต่อลิตร และมีรายจ่ายตามที่ กพช. ในการประชุมเมื่อ 23 มีนาคม 2555 ได้กำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนตามวัตถุประสงค์ที่ พ.ร.บ.อนุรักษ์พลังงานฯ กำหนดไว้ โดยเฉลี่ย 500-600 ล้านบาทต่อเดือน
ส่วนผลการดำเนินงานของกองทุนในช่วง 3 ปีย้อนหลังได้เกิดผลงานเชิงประจักษ์ เช่น การลดการใช้พลังงานในภาครัฐ การกำกับดูแลการใช้พลังงานภาคเอกชนทั้งในโรงงานและอาคาร เป็นต้น ซึ่งในช่วงปี 2555-2557 ได้ใช้เงินกองทุนไป 14,841 ล้านบาท ช่วยลดการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ 2,055 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ/ปี (ktoe/ปี) คิดเป็นมูลค่า 67,000ล้านบาท/ปี ถ้านำไปเทียบกับการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของประเทศ ณ ปี 2557 ที่ใช้ไปประมาณ 79,700 ktoe เท่ากับกองทุนได้เข้าไปช่วยทำให้การใช้ลดลงร้อยละ 2.5 ช่วยทำให้มีการใช้พลังงานทดแทนคิดเป็นร้อยละ 10.7ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจกได้ 12.26 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์และคิดเป็นร้อยละ 57 ถ้าเทียบกับเป้าหมายตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ณ ปี 2557
อินโฟเควสท์