WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

อีโค+โฟกัส : เรกูเลเตอร์งัดกฎหมาย ดันโซลาร์รูฟท็อปเต็มสูบ

    ไทยโพสต์ : จับตามองกับปัญหาของ 2 กระทรวง ที่มีปัญหาคาใจกันมานาน และยังสมานรอยร้าวไม่ได้ ระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมที่ขัดแย้งกันเรื่องใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) กันหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะกรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้ปั๊มก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) ที่เป็นปั๊มหลักตามแนวท่อหรือที่เรียกกันว่าปั๊มแม่ ต้องกลับมาขอใบ รง.4 แต่จนแล้วจนรอดค่าย บมจ.ปตท.ผู้ค้าเอ็นจีวีรายใหญ่ก็ไม่ยอมมาจ่ายค่าปรับและขอใบ รง.4 ด้วยเหตุผลที่ว่าที่ผ่านมาดำเนินการตามนโยบายกระทรวงพลังงาน ที่ไม่ได้กำหนดให้ขอใบ รง.4 เพราะไม่ได้เข้าข่ายเป็นโรงงาน  และหากต้องไปจ่ายค่าปรับขอใบ รง.4 เท่ากับที่ผ่านมา ปตท.ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ทำผิดกฎหมายมาตลอด ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับบริษัทและยอมรับไม่ได้ที่จะต้องไปจ่ายค่าปรับดังกล่าว

    ขณะที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ยืนยันตามที่กฤษฎีกาตีความว่าปั๊มแม่เอ็นจีวีทุกปั๊มต้องกลับมาขอใบ รง.4 เพื่อให้กรมฯ ดูแลเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัย เพราะที่ผ่านมาเคยเกิดเหตุการณ์ระเบิดในปั๊มเอ็นจีวีแม่มาแล้ว ซึ่งในเรื่องนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาแยกกฎหมายกำกับดูแลในส่วนที่เกี่ยวข้องของใครของมัน โดยกระทรวงพลังงานก็ดูแลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรมก็ดูแลโรงงานไป แต่ในเรื่องใบ รง.4 ของปั๊มเอ็นจีวีก็ยังหาข้อยุติลงตัวไม่ได้จนถึงบัดนี้

    นอกจากนี้ ปัญหาล่าสุดระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมก็กลับมาอีกรอบ เมื่อกระทรวงพลังงานเดินหน้านโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าบนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งเดินหน้าไปแล้วจนมีผู้ผ่านการคัดเลือกให้ติดตั้งขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามเป้าหมายรวม 200 เมกะวัตต์ แต่ภายหลังกรมโรงงานก็ออกมาระบุอีกว่า โครงการโซลาร์รูฟท็อปเข้าข่ายต้องขอใบ รง.4 สำหรับที่ติดตั้งผลิตไฟฟ้าเกิน 3.75 กิโลวัตต์ขึ้นไป ซึ่งเท่ากับทุกรายต้องขอใบ รง.4 นั่นเอง ซึ่งในเรื่องนี้ ล่าสุดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ ออกมาหักดิบชนกับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยออกประกาศให้ผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปสามารถดำเนินการได้ทันทีไม่ต้องไปขอใบ รง.4 อีกต่อไป

   นายกวิน ทังสุพานิช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ออกมาระบุว่า เมื่อปลายเดือน มี.ค.2557 ที่ผ่านมา เรกูเลเตอร์ได้ออกประกาศให้โครงการติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปไม่เข้าข่ายต้องขอใบ รง.4 จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยยึดหลักกฎหมายตามมาตรา 48 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ได้ให้อำนาจหน้าที่ของเรกูเลเตอร์ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลกิจการพลังงานเป็นผู้พิจารณาอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน

    นอกจากนี้ ยังเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ให้ทางเรกูเลเตอร์เข้าไปดูแลโครงการโซลาร์รูฟท็อปแบบครบวงจร หรือวันสต็อปเซอร์วิสเพื่อลดปัญหาขั้นตอนการขออนุญาตที่ยุ่งยากและหลายขั้นตอนด้วยสำหรับเหตุผลที่เห็นว่าไม่เข้าลักษณะเป็นโรงงาน เนื่องจากอุปกรณ์และรูปแบบการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นเครื่องจักร ไม่มีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของการใช้งานอาคารในพื้นที่ใช้สอยปกติ นอกจากนี้พลังงานแสงอาทิตย์ยังเป็นแหล่งพลังงานที่สะอาด ปราศจากมลพิษ ไม่มีการปล่อยมลพิษทางน้ำ อากาศ หรือเสียงที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนกับการประกอบกิจการโรงงานทั่วไป

     ทั้งนี้ เรกูเลเตอร์ได้วินิจฉัยแล้วเห็นว่า อุปกรณ์โซลาร์รูฟท็อปไม่มีลักษณะเป็นโรงงานตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535  ดังนั้นผู้ยื่นคำขอขายไฟฟ้าในโครงการที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้า รวมทั้งผู้ที่ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. จึงไม่ต้องยื่นขอใบ รง.4 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ประกอบการจะไม่ต้องขอใบ รง.4 แต่ยังมีกฎหมายอื่นเกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยมารองรับอีกมาก อาทิ การขออนุญาตดัดแปลงอาคาร การตรวจสอบมาตรการอุปกรณ์แผงโซลาร์เซลล์ แบ่งเป็นโรงงาน 600 เมกะวัตต์ และบนหลังคา 50 เมกะวัตต์ ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะสามารถติดตั้งในส่วนของโรงงานได้ 100 เมกะวัตต์ และบ้าน 50 เมกะวัตต์ ส่วนในอนาคตทางกระทรวงพลังงานจะพิจารณาเพื่อขยายอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น เชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใดคงหนีไม่พ้นกระแสโลก รวมทั้งการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปไม่มีประเทศใดที่นับรวมว่าเป็นโรงงาน จึงทำให้การขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ตัดโซลาร์รูฟท็อปออกจากการเป็นโรงงานแล้ว จากนี้จะต้องเร่งพัฒนากฎหมายให้เท่าทันเทคโนโลยีหรือเทียบเท่ามาตรฐานโลกด้วย

    อย่างไรก็ตาม เรกูเลเตอร์อยู่ระหว่างพิจารณาเพื่อทบทวนระยะเวลากรอบการซื้อขายไฟฟ้า (ซีโอดี) ของโซลาร์รูฟท็อป จากและระบบการติดตั้งที่ต้องได้มาตรฐานสากล ซึ่งเรกูเลเตอร์จะ ประสานการตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนจะพิจารณาอนุมัติต่อไป

    สำหรับเป้าหมายการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปนั้น ปัจจุบันมีผู้ขอใบอนุญาตติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปปัจจุบันที่เลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการโซลาร์ฟาร์มไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ต้องการให้นับรวมอยู่ในมาตรา 48 ด้วยนั้น เรกูเลเตอร์เห็นว่าโซลาร์ฟาร์มเป็นการก่อสร้างเพื่อประกอบกิจการหรือทำเพื่อขายไฟฟ้าเป็นหลัก ไม่เหมือนกับการติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย ดังนั้นจึงไม่อยู่ในข่ายเดียวกัน

    นายกวิน กล่าวว่า นอกจากปัญหาโซลาร์รูฟท็อปที่เรกูเลเตอร์ ได้เข้ามาดูแล ขณะนี้กระทรวงพลังงานยังติดปัญหากรณีที่ท่อส่งก๊าซ ธรรมชาติเส้นที่ 4 (ระยอง-แก่งคอย) ระยะทาง 300 กิโลเมตร ของ บมจ.ปตท. ต้องล่าช้าออกไป 1 ปี จากเดิมที่กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2557 เนื่องจากเกิดปัญหาจากผู้รับเหมาก่อสร้างนั้น ทางเรกูเล เตอร์ยังได้สั่งการให้ ปตท.หาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะหากล่าช้าจากแผนเดิมจะส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นตามแนวท่อดังกล่าวประมาณ 4 โรง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าไอพีพี 2 โรง คือ โรงไฟฟ้าหนองแซง จ.สระบุรี และโรงไฟฟ้าอุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ของบริษัท กัลฟ์ เจพีเอนเอส จำกัด และอีก 2 โรง เป็นโรงไฟฟ้าเอสพีพี

   อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าดังกล่าวทำให้ กกพ.ต้องเจรจากับทาง ปตท.เกี่ยวกับต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น ซึ่งทาง ปตท.คงต้องเป็นผู้รับผิดชอบดังกล่าว นอกจากนี้ ทาง กกพ.ได้ประสานไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เพื่อเตรียมแผนรองรับผลิตไฟฟ้าในกรณีดังกล่าวด้วย เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) น้อยที่สุด

   นายกวิน กล่าวว่า ส่วนการปิดซ่อมแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาตินั้น ล่าสุดจะปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซบงกชในอ่าวไทย ระหว่างวันที่ 10-27 เม.ย.2557 นี้ แต่ได้รวมค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นในค่าเอฟทีงวดปัจจุบันแล้ว ส่วนการปิดซ่อมแหล่งก๊าซในพื้นที่พัฒนาร่วมระหว่างไทยและมาเลเซีย (เจดีเอ) ที่จะปิดซ่อมวันที่ 13 มิ.ย.-10 ก.ค.2557 นี้ คาดว่าจะส่งผลให้ค่าเอฟทีงวดถัดไปเพิ่มขึ้น 1.18 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งทางเรกูเลเตอร์คงต้องติดตามสถานการณ์อีกครั้งว่าจะส่งผลกระทบต่อค่าไฟในปริมาณเท่าใด โดยยืนยันว่าทาง กกพ.จะดูแลค่าไฟให้สะท้อนต้นทุนความเป็นจริงมากที่สุด

  ส่วนการหารือกับทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เพื่อขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการภาคใต้ลดใช้ไฟฟ้า 200-300 เมกะวัตต์ เบื้องต้นได้รับคำยืนยันว่าไม่มีปัญหา แต่รอสรุปตัวเลขอีกครั้งก่อนสงกรานต์นี้ สำหรับเอฟทีในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2557 นี้ คาดว่าจะปรับขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น มาจากปัจจัยอัตราค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันอยู่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ราคาเชื้อเพลิง เช่น ก๊าซและน้ำมันเป็นราคาที่พิจารณาย้อนหลัก 6 เดือน ซึ่งพบว่าราคาไม่ได้เปลี่ยนแปลงจนมีผลกระทบต่อค่าเอฟทีมากนัก ส่วนค่าเอฟทีจะเป็นเท่าไหร่นั้น ทางเรกูเลเตอร์จะพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้ง และจะประกาศประมาณปลายเดือน เม.ย.2557 นี้ต่อไป

   ปัญหาด้านพลังงานยังมีอีกหลายประการที่หน่วยงานอิสระอย่างเรกูเลเตอร์ต้องเข้าไปช่วยดูแล ส่วนความขัดแย้งด้านกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมที่ผ่านมาตลอดรัฐบาลที่กำกับดูแลทั้งสองกระทรวงก็ยังไม่สามารถหาทางสร้างความปรองดองให้กับสองกระทรวงได้ จึงไม่แปลกใจที่จะเกิดความขัดแย้งระดับชาติขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องรอลุ้นว่าจะมีผู้ประกอบการรายใดเป็นหน่วยกล้าตายออกมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเป็นรายแรกตามกฎหมายที่เรกูเลเตอร์ประกาศ เพราะรายแรกจะเป็นฉนวนที่ทั้ง 2 กระทรวงจะนำเอากฎหมายมาดำเนินการทันที ซึ่งท้ายที่สุดความเสียหายก็ตกกับประชาชนและประเทศชาติหากผู้นำทั้งสองกระทรวงยังไม่สามารถเจรจาตกลงกันให้เรียบร้อยได้

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!