WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1BEN

ก.พลังงาน เปิดแผนปี 66 ผ่าน 4 มิติผลักดันไทยสู่ Net Zero แจงปี 65 ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานประชาชน 2.8 แสนล้านบาท - กระตุ้นลงทุนรวม 2.6 แสนล้านบาท

    กระทรวงพลังงานสรุปผลงานปี 2565 มีส่วนช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชนรวมกว่า 280,000 ล้านบาท และยังกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานอีกราว 260,000 ล้านบาท พร้อมชี้ทิศทางปี 2566 มุ่งเดินหน้าแผนงานด้านพลังงานใน 4 มิติ ทั้งสร้างความมั่นคงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เสริมสร้างเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาองค์กรเพื่อให้บริการ ทั้งนี้เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065

      นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานพร้อมด้วยคณะผู้บริหารสังกัดกระทรวงพลังงานแถลงผลการดำเนินงานของกระทรวงพลังงาน ปี 2565 ของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชน และแผนการดำเนินงานของกระทรวงพลังงาน ปี 2566

     นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญภาวะความผันผวนด้านพลังงานทั้งปัจจัยจากสถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน การลดการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกพลัส ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และค่าครองชีพประชาชนปรับตัวสูงขึ้น กระทรวงพลังงานได้ดำเนินมาตรการสำคัญๆ หลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนด้านราคาพลังงานที่เกิดจากปัจจัยดังกล่าว ซึ่งในปี 2566 คาดว่าสถานการณ์ความผันผวนด้านพลังงานจะยังคงอยู่ และเพื่อให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งมีสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวเดินหน้าไปได้ต่อเนื่อง

กระทรวงพลังงานจึงดำเนินโครงการสำหรับช่วยเหลือประชาชนสำหรับก๊าซหุงต้ม (LPG) เพื่อลดต้นทุนค่าครองชีพต่อเนื่องจากปี 2565 โดยตรึงราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 และช่วยส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม (LPG) แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 นอกจากนี้ ปตท.ยังคงให้ส่วนลดแก่ร้านค้าหาบเร่ แผงลอยอาหารที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือน เพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าครองชีพ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566

      สำหรับ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ประชาชนต้องมีการเดินทางจำนวนมาก เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย กระทรวงพลังงานโดยความร่วมมือกลุ่ม ปตท. จะตรึงราคาน้ำมันทุกชนิดระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม 2565 – 3 มกราคม ครึ่งราคาที่พักที่เขื่อน กฟผ.

      การส่งเสริมสินค้าชุมชนผ่านโครงการเอนจี้ มีดี และแจกผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็น Box Set ให้ผู้เดินทางที่กลับจากต่างจังหวัดโดยรถไฟอีกด้วย

 

เปิดทิศทางพลังงานปี 66

     นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวถึง ทิศทางของนโยบายพลังงานในปี 2566 ว่า ยังต้องติดตามสถานการณ์พลังงานอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการพลังงานให้มีความต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอกับที่คาดการณ์ว่าแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้น กระทรวงพลังงานต้องปรับบทบาทองค์กรก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition)

นอกจากจะต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ยังต้องเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและการดำเนินการหลายด้านเพื่อขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ทั้งการส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดให้เป็นไปตามเป้าหมาย การปรับตัวเพื่อรองรับและส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมๆ ไปกับติดตามและบริหารจัดการสถานการณ์ราคาพลังงาน เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการ รวมทั้งสร้างพันธมิตรและร่วมมือกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการพัฒนา เพื่อให้เกิดการลงทุนธุรกิจพลังงานใหม่ๆ ตามเป้าหมาย

      สำหรับ แผนงานสำคัญของกระทรวงพลังงานในปี 2566 จึงมุ่งสู่พลังงานสะอาดเพื่อตอบโจทย์สังคมยุคไร้คาร์บอน โดยได้วางแผนงานและโครงการแบ่งเป็น 4 มิติ ประกอบด้วย

     มิติที่ 1 พลังงานสร้างความมั่นคงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยแผนพลังงานชาติและแผนพลังงานรายสาขาใหม่เน้นการส่งเสริมพลังงานสะอาด ตามเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 มีแผนการลงทุน Grid Modernization ของประเทศฉบับแรก ปลดล็อค ปรับปรุงกฎ กติกา เพื่อส่งเสริมการซื้อขายไฟฟ้าสะอาดเชิงพื้นที่ ส่งเสริมการลงทุนรถ EV และสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมทั้งศึกษาศักยภาพ กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS)

      มิติที่ 2 พลังงานเสริมสร้างเศรษฐกิจ ด้วยการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการนำเข้า Spot LNG เร่งพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน พร้อมกันนี้ยังส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับหน่วยงานของรัฐ การบังคับใช้เกณฑ์ด้านพลังงานสำหรับการออกแบบอาคารสร้างใหม่ (BEC)

       มิติที่ 3 พลังงานลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยส่งเสริมการลงทุนโรงไฟฟ้า    ชีวมวล/ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานเพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก โดยเร่งการลงทุน 200 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 20 ปีประมาณ 37,700 ล้านบาท และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 630,737 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ในมิตินี้ยังมีการพัฒนาระบบไฟฟ้าสำหรับพื้นที่เกาะและพื้นที่ห่างไกล และที่สำคัญก็คือมาตรการการช่วยเหลือด้านพลังงานแบบเฉพาะให้กับกลุ่มเปราะบาง เช่น ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ผู้มีรายได้น้อย

     มิติที่ 4 การพัฒนาองค์กรเพื่อให้บริการ โดยเผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานรูปแบบ Interactive Dashboard แสดงข้อมูลเชิงลึกด้านพลังงานผ่านการประมวลผลรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อใช้สื่อสารให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพด้านดิจิทัลในการดำเนินงานด้านพลังงาน

     “ในปี 2566 สภาพัฒน์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3 - 4% จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว การบริโภค การลงทุน และการผลิตภาคเกษตร สถานการณ์กำลังปรับตัวไปในทิศทางที่เป็นบวก แต่เรายังเผชิญปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนด้านพลังงาน และกระแสการลดโลกร้อนกำลังทวีความสำคัญ เพราะฉะนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดจะเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการดูแลผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ผันผวนต่อเนื่องให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าว

 

ปี 65 ก.พลังงานช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชน และส่งเสริมการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ

      นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในปี 2565 กระทรวงพลังงานได้ดำเนินมาตรการหลายด้าน ประกอบด้วย ด้านลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน โดยช่วยลดภาระค่า Ft ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมูลค่าการช่วยเหลือทางด้านพลังงานในปี 2565 รวมทั้งสิ้นกว่า 232,800 ล้านบาท

      ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบด้านราคาน้อยที่สุดจากความผันผวนของราคาพลังงานในตลาดโลก โดยแนวทางในการบริหารจัดการพลังงานหากเกิดสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานในปี 2566 จะเน้นดำเนินการใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าจากเดิมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นการใช้เชื้อเพลิงอื่นที่มีราคาต่ำก่าการนำเข้า Spot LNG เช่น น้ำมันดีเซล นำมันเตา ถ่านหินจากแหล่งแม่เมาะ

การใช้ไฟฟ้าพลังน้ำที่นำเข้าจาก สปป. ลาว 2) การลดความต้องการใช้ก๊าซในประเเทศ ด้วยการลดรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตประเภท SPP รวมถึงขอความร่วมมือประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม  3) การเพิ่มการจัดหาก๊าซธรรมชาติ ทั้งจากแหล่งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน และการนำก๊าซจากอ่าวไทยเข้าสู่การผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยการเพิ่มก๊าซฯ Bypass และลดการใช้ในภาคอุตสาหกรรม

ด้านสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ได้จัดทำแผนพลังงานชาติ และแผนย่อยรายสาขา เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2050 เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาพลังงานของไทยรองรับสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงาน โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ ตลอดจนการบริหารจัดการการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานแหล่งก๊าซเอราวัณ และแหล่งบงกช การเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 24 ในประเทศ จัดทำโรดแมประบบเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ด้านส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า โครงการพลังงานทดแทนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และโครงการอื่นๆ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 260,000 ล้านบาท ด้านส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ทั้งการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะ การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน การส่งเสริมสนับสนุนสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ปัจจุบันมี 869 สถานีทั่วประเทศ การประหยัดพลังงานหน่วยงานรัฐ 

ตลอดจนด้านการอำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ประชาชน อาทิ ปรับปรุงการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซปิโตรเลียมเหลว ก๊าซธรรมชาติ การพัฒนาด้านการให้บริการแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-service) เพื่ออำนวยความสะอาด ลดระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ผู้รับบริการพลังงานชาติ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050

และมุ่งเน้นส่งเสริมความมั่นคงภาคพลังงานเพื่อรองรับรูปแบบการผลิตและการใช้พลังงานที่มีความหลากหลายมากขึ้นในอนาคต โดยแผนพลังงานชาติมีแนวนโยบายที่สำคัญคือ เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากกำลังผลิตใหม่ให้มากกว่าร้อยละ 50, ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ผ่านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30, เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้ได้มากกว่าร้อยละ 30 – 40,

ปรับโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานตามแนวทาง 4D1E เช่น การพัฒนาระบบไฟฟ้าที่มีการกระจายตัวและยืดหยุ่น รวมถึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานเป็นพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำแผนย่อยรายสาขาด้านพลังงานทั้งด้านไฟฟ้า ก๊าซ น้ำมัน พลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลสำหรับแผนพลังงานชาติ คาดว่าจะเสนอร่างแผนพลังงานชาติภายในปี 2566

ทั้งนี้ สนพ.ยังมีแผนงานด้าน EV โดยขับเคลื่อนแผนงานด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการส่งเสริมการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องกำหนดมาตรการสนับสนุนการจัดตั้งสถานีฯ เช่น การกำหนดค่าไฟของผู้ให้บริการที่อัตรา Low Priority การให้สิทธิประโยชน์ BOI  รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำหรับ EV โดยร่วมกับกรมสรรพสามิต ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศภายในปี 2568

นอกจากนี้ สนพ.อยู่ระหว่างการร่างแผนบูรณาการการลงทุน Grid Modernization ของประเทศฉบับแรก เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้าระยะ 5 ปี (ปี 2565 – 2570) เป็นการบูรณาการการลงทุนและจัดลำดับความสำคัญของโครงการของ 3 การไฟฟ้าทั้งในส่วนระบบผลิต ระบบส่ง และระบบจำหน่าย

ดร.สราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า แผนงานสำคัญที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติให้ความสำคัญ คือ ด้านการจัดหาเชื้อเพลิงพลังงานที่ต้นทุนไม่สูง ทั้งจากแหล่งในประเทศและเพื่อนบ้าน ซึ่งมีส่วนช่วยลดผลกระทบต้นทุนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าและภาระค่าฟ้าของประชาชน โดยเฉพาะการจัดหาเชื้อเพลิงพลังงานจากแหล่งในประเทศ ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ

และการนำเข้าจากต่างประเทศในสถานการณ์ราคาพลังงานโลกวิกฤตและราคา Spot LNG มีความผันผวนสูง โดยในปี 2565 ที่ผ่านมาแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ได้สิ้นอายุสัมปทานและได้เปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ติดตามการดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างใกล้ชิด

      อย่างไรก็ดี การผลิตของแหล่งเอราวัณที่ไม่สามารถผลิตได้ตามเป้าในช่วงแรกของสัญญา เนื่องจากการเจรจาระหว่างผู้รับสัญญารายใหม่และผู้รับสัมปทานรายเดิมเกี่ยวกับข้อตกลงในการเข้าพื้นที่ และการเจาะหลุมเพื่อเตรียมการผลิตปิโตรเลียมเป็นการล่วงหน้า ล่าช้ากว่าแผน แต่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้บริหารจัดการโดยประสานผู้รับสัมปทานรายเดิมและผู้รับสัญญารายใหม่ให้ผลิตอย่างเต็มความสามารถของแต่ละแหล่ง จัดทำธรรมชาติเข้าระบบ

สำหรับ ในปี 2566 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะจัดทำและทบทวนแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องเป็นระยะๆ พร้อมทั้งจัดหาก๊าซธรรมชาติเข้าระบบเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง กำกับดูแลผู้รับสัมปทานและผู้รับสัญญาในการจัดหาก๊าซธรรมชาติและการหยุดซ่อมบำรุงให้เป็นไปตามแผน โดยในระยะยาว กระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

โดยมีการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อความมั่นคงเพิ่มเติม ได้แก่ การเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ (รอบที่ 24) จำนวน 3 แปลง ในบริเวณทะเลอ่าวไทย มีพื้นที่ครอบคลุมกว่า 35,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอการพิจารณาคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

 

นอกจากนั้น ด้านการดำเนินงานและพัฒนา เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ในชั้นหินทางธรณีวิทยาของประเทศไทย จะเร่งผลักดันการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCUS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลและมีประสิทธิภาพสูงในการจัดการ CO2 เพื่อเป็นไปตามนโยบายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ

การดำเนินงานด้าน CCUS ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบันมีการดำเนินงานด้าน CCUS ในประเทศ 23 โครงการ

มีโครงการนำร่องที่สำคัญ ได้แก่ โครงการอาทิตย์ตั้งอยู่ในอ่าวไทย นอกชายฝั่งจังหวัดสงขลา จะเริ่มอัด CO2 ได้จริงภายในปี ค.ศ. 2026 โครงการพื้นที่อ่าวไทยตอนบน คาดว่า จะมีศักยภาพในการกักเก็บ CO2 ในชั้นหินอุ้มน้ำเค็ม เพื่อจัดการ CO2 ที่มีการปลดปล่อยบริเวณพื้นที่จากนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกของประเทศ และโครงการแอ่งแม่เมาะและแอ่งลำปาง จังหวัดลำปาง โดยร่วมกับกรมการพลังงานทหาร กฟผ. ปตท.สผ. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาพื้นที่ศักยภาพเพื่อใช้ในการกักเก็บ CO2 จากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ

 

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า

ปี 2565 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินโครงการต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การรับซื้อพลังงานหมุนเวียนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ขยะอุตสาหกรรม และขยะชุมชน, การบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code: BEC), การช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านการประหยัดพลังงานตามโครงการ 30-70/20-80

โดยสนับสนุนกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม อาคาร วิสาหกิจชุมชน ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์เพื่อการประหยัดพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม ผลการดำเนินโครงการมีเงินลงทุนหมุนเวียน 2,300 ล้านบาท ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 100,000 ตัน/ปี เกิดผลประหยัดรวม 764 ล้านบาท/ปี

การช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ห่างไกล/พื้นที่พิเศษ 83 พื้นที่ สนับสนุนให้ประชาชนและเกษตรกรมีการใช้พลังงานทดแทนและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ด้วยการติดตั้งเทคโนโลยี เช่น 10,778 ครัวเรือน ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ 106 ล้านบาท/ปี ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น

การติดฉลาก'ฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง'จากการดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบัน สามารถจัดพิมพ์ฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง 3.8 ล้านใบ ลดการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว 69.7 ล้านกิโลกรัม/ปี ลดการใช้น้ำมันดีเซล 3.55 ล้านลิตร / ปี ลดการใช้น้ำมันเบนซิน 8.88 ล้านลิตร/ปี ลดการใช้ไฟฟ้า 366 ล้านหน่วย/ปี เกิดผลประหยัดพลังงาน 122.2 ktoe หริอ 3,604.48 ล้านบาท/ปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 7,429 พันตันต่อปี

           สำหรับ แผนงานในปี 2566 มีกิจกรรมสำคัญ อาทิ การบังคับใช้ข้อบัญญัติเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (BEC) ซึ่งการบังคับใช้จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มโอกาสการแข่งขัน สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ และในปี 2566 BEC จะมีผลบังคับใช้ในอาคารพื้นที่ ไม่ต่ำกว่า 2,000 ตรม.ทันที คาดจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ 13,700 ล้านหน่วย หรือกว่า 47,000 ล้านบาท รวมถึง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1 ล้านตัน/ปี         

การส่งเสริมให้ส่วนราชการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และนำร่อง ESCO อนุรักษ์พลังงาน, การพัฒนาแพลตฟอร์มทางการเงิน, สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการใช้อุปกรณ์ เครื่องจักรประสิทธิภาพสูง, โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล/ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน เพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก โดยเร่งการลงทุน 200 เมกะวัตต์ คาดว่าจะทําให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 20 ปี มูลค่ารวมกว่า 37,700 ล้านบาท อีกทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 630,737 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า ปี 2565 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานใน 2 กลุ่ม คือ การช่วยเหลือราคา LPG กลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตั้งแต่เมษายน 2565 - มีนาคม 2566 โดยใช้งบกลางสนับสนุนส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม จาก 45 บาท/คน/3 เดือน เพิ่มอีก 55 บาท/คน/3 เดือน รวมเป็น 100 บาท/คน/3 เดือน  มีผู้ใช้สิทธิ์โดยเฉลี่ยในแต่ละรอบประมาณ 5 ล้านราย สามารถช่วยลดภาระค่าครองชีพของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกว่า 950 ล้านบาท 

และการช่วยเหลือราคาเบนซินสำหรับกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ (วินเซฟ) ตั้งแต่พฤษภาคม - กรกฎาคม 2565 โดยรัฐสนับสนุนวงเงินร่วมจ่ายแก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะในการเติมน้ำมันกลุ่มเบนซินร้อยละ 50 ของค่าน้ำมัน เดือนละ 250 บาท/คน/เดือน เป็นจำนวน 3 เดือน รวม 750 บาท/คน ทั้งนี้ มีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะเข้าร่วมโครงการ 44,651 ราย  สามารถช่วยลดภาระค่าครองชีพประมาณ 18 ล้านบาท  

กรมธุรกิจพลังงานยังปรับบทบาทกรมธุรกิจพลังงานเพื่อรองรับนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า โดยสร้างความร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นปิโตรเลียมสนับสนุนการลงทุนต่อยอดในธุรกิจใหม่ ได้แก่ ปิโตรเคมีขั้น

นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนา EV ได้มีการตั้งคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติงาน เพื่อการกำกับดูแลการประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดรูปแบบการส่งเสริมการติดตั้งและกำกับดูแลสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ติดตั้งภายในบริเวณพื้นที่สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2566 เกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าภายในสถานีบริการ รูปแบบการดำเนินการ การกำกับดูแลและข้อกฎมาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าในพื้นที่สาธารณะในปี พ.ศ. 2573 จำนวน 12,000 หัวจ่าย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!