WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

อีโค+โฟกัส: หมดยุคอุดหนุนพลังงาน ก้าวสู่โหมดสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

     ไทยโพสต์ : โครงสร้างราคาพลังงานของประเทศได้ถูกบิดเบือนมาโดยตลอด ทำให้ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลพยายามที่จะเข้าปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง โดยเฉพาะราคาก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจีที่ถูกอุ้มมาร่วม 20 ปี ทำให้ประเทศต้องสูญเสียเงินตราไปจำนวนมาก

    ดังนั้น ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ไม่ต่างจากรัฐบาลยุคอื่นๆ คือได้ชูนโยบายการปรับโครงสร้างราคาพลังงานของประเทศ เป็นนโยบายสำคัญ และล่าสุดได้มีการส่งสัญญาณว่าภายในสิ้นปี 2557 นี้ จะปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงแน่นอน โดยเฉพาะราคาก๊าซหุงต้มที่ปัจจุบันภาครัฐต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เรียกเก็บจากราคาน้ำมันมาอุดหนุนอยู่เป็นระยะเวลานาน

   ซึ่งในเรื่องนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่มนักวิชาการ ต่างก็มีความเห็นตรงกันว่า การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงควรเร่งดำเนินการในช่วงที่ราคาน้ำมันขาลง โดยเฉพาะการปรับราคาน้ำมันดีเซลที่สามารถเพิ่มอัตราเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้อีก และหากไม่ต้องการให้กระทบต่อราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการ   อย่างไรก็ตาม ราคาก๊าซแอลพีจีต้นทุนควรอยู่ที่ 550 เหรียญสหรัฐ/ตัน หรือคิดเป็นประมาณ 24.82 บาท/กก. จากปัจจุบันราคาแอลพีจีขนส่งอยู่ที่ 22 บาท/กก. และครัวเรือนอยู่ที่ 22.63 บาท/กก.

   โดยปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการใช้แอลพีจี 7.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งต้องนำเข้า 25% ของความต้องการใช้ทั้งหมด เมื่อราคาขายในประเทศยังต่ำกว่าต้นทุน ก็ทำให้ความต้องการใช้เติบโตจนส่งผลให้ปริมาณนำเข้าสูงขึ้นด้วย จนส่งผลกระทบต่อกองทุนน้ำมัน

   อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันโลกขณะนี้ดิ่งลงต่ำสุดในรอบ 4 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมัน หรือโอเปก ตัดสินใจคงกำลังการผลิต ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงทันทีถึง 3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และยังคงลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. บมจ.ไทยออยล์ รายงานถึงแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 4 ปี โดยน้ำมันดูไบปรับลดลง 3.24 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 68.77 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันเวสเทกซัสลดลง 7.54 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 66.15 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

   ทั้งนี้ จากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องนั้นถือว่าส่งผลดีกับผู้บริโภค เพราะผู้ประกอบการที่จำหน่ายน้ำมันได้ปรับลดลงราคาน้ำมันลง 60 สตางค์ต่อลิตร และหลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารพลังงาน (กบง.) ได้เรียกประชุมด่วนเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพราะเห็นว่าราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลงต่อเนื่อง ทำให้ค่าการตลาดของผู้ค้าปรับขึ้นสูง ดังนั้น กบง.จึงมีมติเห็นชอบการปรับอัตราเงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯ ทุกชนิด ทั้งกลุ่มเบนซินและดีเซลลิตรละ 0.50 บาท ขณะเดียวกันค่าการตลาดที่ยังสูง จึงมอบให้ผู้ค้าน้ำมันไปพิจารณาประกาศลดราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินและก๊าซโซฮอล์ลง 0.50 บาทต่อลิตร ยกเว้น E85 คงเดิม ส่วนดีเซลจะปรับลดลง 0.40 บาทต่อลิตร โดยทั้งหมดจะมีผลตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.เป็นต้นไป

   "ผลจากการดำเนินงานดังกล่าวส่งผลให้สถานะกองทุนน้ำมันสุทธิเป็นบวกที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท จากเดิมในช่วงวันที่ 18 พ.ค.57 ติดลบ 7,412 ล้านบาท ซึ่งแนวโน้มราคาน้ำมันตลาดโลกที่ยังมีทิศทางลดลงนั้น เราก็คาดหวังว่าจะทยอยเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ได้เพิ่มขึ้นในระดับหนึ่งที่พอใจ ถึงตอนนั้นรัฐบาลก็จะประกาศปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเพื่อให้สะท้อนกลไกที่แท้จริง ถึงตอนนั้นราคาน้ำมันโดยเฉพาะกลุ่มเบนซินก็จะปรับตัวลดลงแน่นอน" นายณรงค์ชัยกล่าว

     นอกจากนี้ ยังเห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเป็นโอกาสที่เหมาะสม สำหรับการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ดังนั้น กบง.จึงมีมติยกเลิกการอุดหนุนราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี)  ที่ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนอยู่ 1.03 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ทำให้ราคาขายปลีกของแอลพีจีทั้งภาคครัวเรือน ขนส่ง ขึ้นอีก 1.03 บาทต่อ กก. มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.เป็นต้นไป ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนั้น ทำให้ราคาแอลพีจีมีการเปลี่ยนแปลง จนทำให้ราคาแอลพีจีภาคครัวเรือน, ขนส่ง  และอุตสาหกรรม ขยับไปสู่ในระดับเดียวกัน คือ 24.16 บาทต่อ กก.

    ส่วนก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ที่ใช้ภาคขนส่ง กบง.มีมติปรับขึ้นอีก 1 บาทต่อ กก. มีผล 3 ธ.ค.เป็นต้นไป ส่งผลให้ราคาเอ็นจีวีหน้าปั๊มจะปรับขึ้นจาก 11.50 บาทต่อ กก. เป็น 12.50 บาทต่อ กก. ส่วนเอ็นจีวีในรถบริการสาธารณะจะปรับขึ้นจาก 8.50 บาทต่อ กก. เป็น 9.50 บาทต่อ กก.

    นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า  การปรับลดการอุดหนุนราคาแอลพีจีในครั้งนี้ ถือเป็นการปรับโครงสร้างราคา เพื่อไปสู่การลอยตัวที่จะสะท้อนกลไกตลาดโลกที่ต่อไปจะมีการประกาศราคาแนะนำเป็นรายเดือนที่จะเป็น LPG ราคาเดียว โดยจะใช้สูตรราคาหน้าโรงกลั่น ที่ปัจจุบันอิงราคานำเข้า (CP) 76% และราคาหน้าโรงแยกก๊าซ 24% โดยขณะนี้อยู่ที่ 651 เหรียญฯ ต่อตัน

    ด้านนักวิชาการอิสระด้านพลังงาน อย่าง นายมนูญ ศิริวรรณ ในฐานะกรรมาธิการพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ  (สปช.)ได้ออกมาระบุชัดว่า ภายหลังจากที่กลุ่มโอเปกตัดสินใจคงระดับการผลิตน้ำมันดิบเอาไว้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง แต่จะไม่ต่ำกว่าระดับ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพราะหากต่ำกว่าระดับดังกล่าว เป็นระดับที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบ จากแหล่งเชลล์ออยล์ของสหรัฐอเมริกา  ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตไม่ลงทุนที่จะผลิตน้ำมันออกมา เพราะเห็นแล้วว่าไม่คุ้มกับการลงทุน ดังนั้นกระทรวงพลังงานควรจะใช้จังหวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงอย่างมาก ปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบไป

    อย่างไรก็ตาม นายมนูญได้มองถึงการปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคขนส่งและภาคครัวเรือนในครั้งนี้ ถือเป็นการปรับขึ้นราคาแอลพีจีในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าการปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีเท่ากันไม่ต้องอุดหนุน และยังลดการเก็บเงินเข้ากองทุนทั้งในส่วนของเบนซินและก๊าซโซฮอล์ ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันทั้ง 2 ชนิดมีราคาถูกลง แต่จะถูกลงเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับ กบง.ว่าจะตัดสินใจอย่างไร อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วราคาน้ำมันดังกล่าวน่าจะถูกลงอีก 1-3 บาทต่อลิตร

    "วันนี้ถือว่าเข้าลักษณะการลอยตัวถาวรแล้ว เพราะราคาแอลพีจีได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เนื่องจากกองทุนน้ำมันไม่ต้องอุดหนุน  และราคาจะขึ้น-ลงตามต้นทุน แถมยังไม่ต้องเก็บเงินจากน้ำมันเพื่อเข้ากองทุนน้ำมันและนำไปอุดหนุนราคาแอลพีจีให้ถูกลงแล้ว ดังนั้นถ้าพูดถึงผลดีคือเข้าสู่ความเป็นจริง แต่ในด้านผลเสีย คนใช้แอลพีจีก็ต้องจ่ายแพงขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาในอดีตนั้นคนใช้แอลพีจีได้เปรียบมานานแล้ว"นายมนูญกล่าว

     อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้จะเรียกกันว่า เริ่มก้าวสู่โหมดการปรับโครงสร้างราคาพลังงานแล้วก็ว่าได้ เพราะตามมติ กบง.ที่ลดการอุดหนุนราคาแอลพีจีนั้น ทำให้ราคาก๊าซแอลพีจีทั้ง 3 ชนิดคือขนส่ง ภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม มีราคาเดียวกันคือ 24.16 บาทต่อ กก. ซึ่งสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ที่ยังเหลืออีกคือการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตของน้ำมันดีเซลอีกประมาณ 4 บาทต่อลิตร และการปรับขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) ที่ถูกตรึงไว้ ให้อยู่ในระดับที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงคือ 16.50 บาทต่อกิโลกรัม ก็ถือว่าหมดยุคการอุดหนุนราคาพลังงานที่แท้จริง ราคาลอยตัวตามกลไกตลาดโลกอย่างถาวร.

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!