- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 19 October 2022 18:13
- Hits: 2011
กระทรวงพลังงาน เดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
กระทรวงพลังงาน จัดการประชุมคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ ณ ห้องประชุม 9 ชั้น 15 ศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ กระทรวงพลังงาน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านพลังงาน เศรษฐกิจอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมประชุม
การประชุมในวันนี้ มีผลมาจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบ ให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593
และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHGs Emission) ในปี พ.ศ. 2608 ตามที่ประเทศไทยโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเป้าหมายไปเมื่อการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) ณ กรุงกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร รวมทั้งเป็นการยกระดับการดำเนินงานเพื่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับประชาคมโลก โดยการนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน มาประยุกต์ใช้ในภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการดักจับการใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ ประกอบด้วยผู้แทนต่างๆ ทั้งจากภาคพลังงานและอุตสาหกรรม เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในองค์รวมของประเทศไทยได้อย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
โดยมีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เป็นคณะอนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีองค์ความรู้และประสบการณ์การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ตลอดจนมีความเข้าใจในกระบวนการทางด้านธรณีวิทยาปิโตรเลียม และวิศวกรรมปิโตรเลียม โดยเฉพาะการบริหารจัดการแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมใต้ผิวดิน ซึ่งสามารถนำความรู้ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการวางแผน การศึกษา วิจัย และการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์จากทั้งภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรม มากักเก็บในชั้นหินทางธรณีวิทยาใต้ผิวดิน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้พยายามผลักดันให้เกิดความร่วมมือในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการดักจับการใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) โดยรวบรวมโครงการการดำเนินงานในประเทศไทยที่ผ่านมา พร้อมกับแผนงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการด้านการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ และเชิญผู้เชี่ยวชาญด้าน CCUS จากองค์กรทั้งในและต่างประเทศ อาทิ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัดJapan Oil,Gas and Metals National Corporation (JOGMEC), Ministry of Economy, Trade and Industry (METI) ประเทศญี่ปุ่น , สหราชอาณาจักร และอื่น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และแนวทางการพัฒนา พร้อมทั้งแสวงหาความร่วมมือกับนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมและผลักดันการดำเนินงานและพัฒนา CCUS ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
“การประชุมคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวนี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อร่วมกันพิจารณา เสนอแนะ และให้ข้อคิดเห็นต่อแผนการดำเนินการด้านเทคโนโลยี CCUS ในภาพรวมของประเทศ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเป็นโอกาสของประเทศไทยในการร่วมสนับสนุนและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี CCUS เพื่อบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งในระยะต่อไป หน่วยงานต่างๆ จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ประเทศก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ สอดรับนโยบายรัฐบาล อีกทั้งยังจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
สำหรับ การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) นั้น คือการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ ซึ่งมีการดำเนินงานในสองแนวทาง คือ 1. การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา อาทิ การปลูกป่าเพื่อเพิ่มจำนวนต้นไม้ และ 2. การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ คือ การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนที่มากขึ้น และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยการยกระดับในทุกภาคส่วน ทั้งโรงไฟฟ้า ภาคขนส่ง ภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ