- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 02 December 2014 07:23
- Hits: 3995
อีโคโฟกัส : PTT 9 ปี ลงทุน 2.2 แสนล้านแผนแม่บท 'ก๊าซธรรมชาติ'..ปตท.
ไทยโพสต์ : ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่มนุษย์จำเป็นต้องใช้ ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรม ยานพาหนะ เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และสามารถแข่งขันด้านราคากับน้ำมันได้ ดังนั้น การเสาะหาแหล่งใหม่ หรือหาวิธีเก็บกักก๊าซธรรมชาติไว้สำรองใช้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ในปี 2556 ตลาดโลกมีปริมาณการซื้อ-ขาย LNG (Liquefied Natural Gas) หรือก๊าซธรรมชาติเหลว ที่ปรากฏตามสัญญาประมาณ 236.9 ล้านตันต่อปี (MTPA) ซึ่งประเทศที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติมีหลายประเทศ แต่รายใหญ่ที่สุดคือ ประเทศกาตาร์ ส่งออกประมาณ 78MTPA รองลงมาคือประเทศมาเลเซีย 24.6 MTPA ส่วนผู้ที่นำเข้า LNG มากที่สุดเป็นประเทศญี่ปุ่น 87.9 MTPA รองลงมาคือเกาหลีใต้ 40.4 MTPA
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีปริมาณมาก อยู่ในประเทศทางแถบตะวันออกกลาง อาทิ อิหร่าน กาตาร์ เยเมน และยังมีแหล่งก๊าซจำนวนมากในประเทศออสเตรเลียเช่นกัน แต่ประเทศเหล่านี้อยู่ห่างไกล ดังนั้นจึงต้องมีการขนส่งด้วยเรือ โดยการแปลงสภาพก๊าซธรรมชาติให้กลายสภาพเป็นของเหลวก่อน ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการขนส่งด้วยระบบท่อ
ทั้งนี้ เรือที่ใช้ในการขนส่ง LNG ได้รับการออกแบบไว้สำหรับขนส่ง LNG โดยเฉพาะ เพื่อความปลอดภัยในการขนส่งและยังคงสภาพของเหลวมากที่สุด นอกจากนี้ในทวีปเอเชีย มีการผลิตและส่งออก LNG จากประเทศบรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน
* LNG ปลอดภัยกว่า LPG จริงหรือ
LNG หรือ ก๊าซธรรมชาติเหลว มาจากการนำก๊าซธรรมชาติมาผ่านกระบวนการลดอุณหภูมิ ให้กลายเป็นของเหลวที่ความดันบรรยากาศ หลังจากนั้นจึงถูกบรรจุลงถังเพื่อขนถ่ายทางเรือไปยังแหล่งที่มีความต้องการใช้ ซึ่งก๊าซธรรมชาติเหลวจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการเพิ่มความร้อนอีกครั้ง เพื่อทำให้กลับมีสถานะเป็นก๊าซดังเดิม LNG มีความสามารถในการติดไฟสูง
ส่วน LPG (Liquid Petroleum Gas) คือ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่า ก๊าซหุงต้ม ซึ่งนำก๊าซมาผ่านกรรมวิธีเช่นเดียวกับ LNG ในประเทศไทยได้จากการกลั่นของหอกลั่นน้ำมัน เหมือนกับดีเซลและเบนซิน และได้มาจากโรงแยกก๊าซ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่มีความสำคัญในปัจจุบัน ใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในครัวเรือน ร้านอาหาร อุตสาหกรรม และในรถยนต์ เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่ขนส่งสะดวกไม่เปลืองที่เก็บ และที่สำคัญคือ เผาไหม้แล้วเกิดเขม่าน้อยกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น
อย่างไรก็ตาม LPG ค่อนข้างมีอันตรายมากกว่า LNG เพราะ LPG จะไม่ลอยตัว เป็นก๊าซที่หนักกว่าอากาศ เมื่อรั่วไหลจะกองลงสู่พื้น ส่วน LPN นั้น จะลอยขึ้นที่สูงเพราะน้ำหนักเบากว่าอากาศ และเมื่อลอยตัวในระดับหนึ่งจะกระจายหายไป ไม่รวมตัว ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุก๊าซจะไม่เกิดการระเบิดหรือติดไฟ การใช้ LNG จึงมีความสำคัญที่ดีกว่าในแง่ความปลอดภัย
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. หรือ PTT กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยไม่จำเป็นต้องนำเข้า LNG มา 100% เพราะมีแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และอีกส่วนนำเข้าจากพม่า ซึ่งไม่ไกลจนเกินไปจึงมีการขนส่งผ่านทางท่อก๊าซได้
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวความต้องการใช้งานจะเพิ่มมากขึ้น การค้นพบแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ในไทยเองไม่มากพอ ประกอบกับก๊าซมีค่าความร้อนต่างกัน โดยฝั่งพม่ามีค่าต่ำกว่า ซึ่งมาตรฐานของไทยอยู่ที่ 38 เมกะจูล จึงต้องใช้วิธีเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป ดังนั้น การกักเก็บก๊าซ LNG ไว้ใช้สำรองจึงเป็นสิ่งจำเป็น
"ทำให้ในรัฐบาลที่ผ่านมา ได้อนุมัติให้ ปตท.ก่อสร้างคลัง LNG เฟสแรกแล้วที่มาบตาพุด และกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างคลังเฟสที่ 2 ซึ่งมีโตเกียว ก๊าซ เป็นที่ปรึกษาการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2560 รวม 2 เฟส บรรจุได้ 10 ล้านตัน ใช้เงินลงทุนรวม 5 หมื่นล้านบาท และกำลังเสนอต่อกระทรวงพลังงาน ให้สร้างเฟส 3 อีก 5 ล้านตัน ในพื้นที่ใหม่ เพื่อรองรับความต้องการในอนาคต" นายไพรินทร์ ระบุนอกจากนี้ ปตท.เตรียมเงินลงทุนตามแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติ โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2.19 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 9 ปี (2558-2566) ที่คณะกรรมการ ปตท. ได้มีมติอนุมัติไปแล้ว และจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาอนุมัติเห็นชอบการลงทุน ก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาค่าผ่านท่อก๊าซ
สำหรับ แผนการลงทุน ปตท.จะเน้นที่โครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติ คือ ท่อก๊าซหลักเส้นที่ 5 จาก จ.ระยอง-ไทรน้อย ผ่านเข้าไปยังโรงไฟฟ้าพระนครเหนือและโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ใช้เงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564
อีกทั้ง ยังมีโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ (FLNG) 2 ลำ วงเงินลงทุน 3 หมื่นล้านบาทต่อลำ โดยจะตั้งบริเวณภาคใต้ 1 ลำ เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานในภาคใต้ และจะลงทุนในโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำอีก 1 ลำ ในฝั่งพม่า
* ปตท.เล็งขยายกำลังผลิตโรงแยกก๊าซ
"การปรับขึ้นราคา LPG ทำให้ ปตท.มีโอกาสขยายกำลังการผลิตของโรงแยกก๊าซได้อีกประมาณ 1.5 แสนตันต่อปี โดยปัจจุบันราคาขายหน้าโรงแยกก๊าซถูกกำหนดไว้ที่ 333 เหรียญสหรัฐต่อตัน ที่ผ่านมา ปตท.ได้ขอปรับราคาขายที่ 500 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่ยังไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาล ทั้งๆ ที่ราคานำเข้าก๊าซ LPG สูงถึง 900 เหรียญสหรัฐต่อตัน ทำให้ปัจจุบันต้นทุนเฉลี่ยก๊าซ LPG ของ ปตท.อยู่ที่ 540 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งมาจาก 3 แหล่ง คือ โรงแยกก๊าซของ ปตท. ในสัดส่วน 46% โรงกลั่นของกลุ่ม ปตท. 27% และมาจากการนำเข้าอีกประมาณ 27% ขณะที่ราคาขายก๊าซ LPG ในตลาดโลก ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 605 เหรียญสหรัฐต่อตัน" นายไพรินทร์กล่าวสำหรับเงินลงทุนในปี 2558 จะอยู่ที่ประมาณ 5.29 หมื่นล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่จะใช้เงินลงทุน 5.55 หมื่นล้านบาท โดยงบการลงทุนดังกล่าวยังคงเป็นไปตามแผนลงทุน 5 ปี (ปี 2557-2561) ทั้งนี้ ปตท.ได้มีการปรับลดงบลงทุนในปี 2557 ลงเหลือ 5.55 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่จะลงทุน 8.69 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ทำให้คงเหลืองบลงทุนในช่วงปี 2558-2561 อยู่ที่ 2.39 แสนล้านบาท
* ยึดญี่ปุ่นต้นแบบใช้ LNG
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยเกาะ การขนส่งผ่านระบบท่อจึงทำได้ยาก และมีค่าใช้จ่ายสูง จึงมีเทคโนโลยีที่ทำให้ก๊าซกลายเป็นของเหลว หรือที่เรียกว่า LNG จะสะดวกในการขนส่งด้วยรถ ซึ่งก๊าซธรรมชาติเหลว มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทนประมาณ 75-90% ผ่านการแยกเอาสิ่งเจือปนออก จากนั้นลดอุณหภูมิลบ 160 องศาเซลเซียส เพื่อแปรสภาพก๊าซให้เป็นของเหลวทำให้ปริมาตรลดลง 600 เท่า ซึ่งสะดวกต่อการขนส่งทางเรือ โดยญี่ปุ่นเป็นชาติแรกในโลกที่นำเข้า LNG มาใช้แทนน้ำมันตั้งแต่ปี พ.ศ.2513
ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญอีกประการที่ทำให้ญี่ปุ่นตัดสินใจนำเข้า LNG มาใช้ แม้ว่าราคาจะแพงมากในอดีต เพราะญี่ปุ่นต้องการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดหลังจากการเร่งพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอย่างหนัก ต่อมาในภาวะที่ราคาน้ำมันแพง ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพราะมีการเก็บกัก LNG ไว้ใช้แทนน้ำมันจำนวนมาก ทำให้ปัจจุบันญี่ปุ่นกลายเป็นผู้นำเข้า LNG รายใหญ่สุดของโลก ในปริมาณสูงถึง 87 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 36.6% ของ LNG ทั้งโลก รองลงมาเป็นเกาหลีและไต้หวัน
สำหรับ บริษัทนำเข้า LNG รายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น คือ บริษัท โตเกียว ก๊าซ (TOKYO Gas) และเป็นบริษัทที่ปรึกษาในการก่อสร้างคลัง LNG ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อีกด้วย โดยโตเกียว ก๊าซ มีสถานีรับ LNG แห่งแรกที่เมืองโยโกฮามา ก่อสร้างเมื่อปี 2509 มีคลัง LNG ทั้งสิ้น 3 แห่ง จากทั้งหมด 32 สถานี โดยโตเกียวก๊าซมีคลังใต้ดินขนาด 2.5 แสนลูกบาศก์เมตร อยู่ที่โอกิชิมะ ซึ่งถือเป็นคลังใหญ่สุดในโลก ซึ่งคลังที่ฝังอยู่ใต้ดินมีข้อดีคือ จะยืดหยุ่นเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว และที่สำคัญไม่กระทบทัศนียภาพ
อีกทั้ง สถานี LNG ดังกล่าว ยังเชื่อมกับระบบ City Gas โดย 80% จะถูกส่งไปในเมืองเพื่อกระจายสู่ภาคครัวเรือน อุตสาหกรรม และ 20% จะถูกส่งไปยังโรงไฟฟ้าโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ โดยลูกค้าของบริษัททั้งโดยตรงและผ่านการขายให้กับบริษัทอื่นๆ มีการใช้งานภาคครัวเรือนถึง 10 ล้านคน แต่ปริมาณที่ส่งมากที่สุดเป็นภาคอุตสาหกรรม ซึ่งลูกค้าบางรายที่อยู่นอกเขตท่อก๊าซ ผ่านบริษัทจะใช้วิธีการขนส่งทางรถในการให้บริการแทน
อย่างไรก็ตาม LNG ที่นำเข้ามานั้นทางโตเกียวก๊าซจะมาจากหลายแหล่ง ทั้งจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย จะมีค่าความร้อนไม่เท่ากัน และต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 44 เมกะจูล ทำให้ต้องเติมก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LPG ผสมเข้าไปเพื่อทำให้ค่าความร้อนอยู่ในมาตรฐานที่กำหนด ประกอบกับทำให้เกิดกลิ่นเมื่อเวลาเกิดการรั่วไหลก็จะได้รับรู้
การลงทุนระยะยาวของ ปตท. เป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงทางด้านพลังงานในอนาคต.