- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 24 November 2014 19:34
- Hits: 2209
ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 73-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 77-83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (24 – 28 พ.ย. 57)
ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้คาดว่าจะยังคงผันผวนอย่างมาก โดยตลาดจับตาการประชุมโอเปกที่จะมีขึ้นในวันที่27 พ.ย. นี้ ว่าจะปรับลดกำลังการผลิตลงตามคำเรียกร้องของหลายประเทศสมาชิกในกลุ่มโอเปกหรือไม่ แม้มีหลายกระแสออกมาคาดการณ์ว่าโอเปกอาจปรับลดกำลังการผลิต ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น แต่ซาอุดิอาระเบียเองยังคงไม่มีท่าทีใด ขณะเดียวกันตลาดยังคงติดตามความคืบหน้าของการเจรจาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านว่าจะออกมาในทิศทางใด ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านด้วย นอกจากนี้กำลังผลิตน้ำมันดิบของลิเบียที่หายไปจากตลาดในขณะนี้ และการทยอยกลับมาดำเนินการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ หลังเสร็จสิ้นจากการปิดซ่อมบำรุง รวมถึงอุณหภูมิในสหรัฐฯ ที่หนาวเย็นมากเกินคาดอาจส่งแรงหนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
จับตาการประชุมกลุ่มโอเปกที่จะจัดขึ้นในวันที่ 27 พ.ย. ว่าจะมีการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงหรือไม่ กลุ่มโอเปกยังคงขาดความเป็นเอกภาพในการตัดสินใจ โดยเวเนซุเอลาและแอลจีเรียออกมาเรียกร้องให้มีการลดกำลังการผลิตลงเพื่อหนุนราคาน้ำมัน รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของลิเบียก็แสดงความเห็นว่ากลุ่มฯ ควรจะลดกำลังการผลิตให้ไปแตะระดับ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน สำหรับซาอุดิอาระเบียยังคงมองว่าราคาน้ำมันดิบควรเป็นไปตามกลไกตลาด
การประชุมพิเศษระหว่างรัสเซียและกลุ่มโอเปกในวันที่ 25 พ.ย. ซึ่งจัดขึ้นก่อนการประชุมโอเปก 2 วัน มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้กลุ่มฯ ปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลง ล่าสุดรัสเซียออกมาให้ข่าวว่าซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มจะให้ความร่วมมือกลับกลุ่มประเทศสมาชิก ขณะที่เวเนซุเอลล่าก็มีแนวโน้มปรับลดกำลังผลิตของประเทศลงเล็กน้อยด้วย
สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เยอรมนี จีน รัสเซียและฝรั่งเศส ยื่นกำหนดเส้นตายแก่อิหร่านในวันที่ 24 พ.ย.นี้ สำหรับข้อสรุปของการเจรจาโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งหากการเจรจาลุล่วงและไม่มีการคว่ำบาตรการซื้อน้ำมันดิบ ก็จะส่งผลให้น้ำมันดิบจากอิหร่านเข้ามาในตลาดมากขึ้นราว 1 ล้านบาเรลล์ต่อวัน
ติดตามแหล่งผลิตน้ำมันหลัก El Sharara ของลิเบีย ว่าจะสามารถกลับมาผลิตน้ำมันดิบได้ตามปกติหรือไม่ หลังกลุ่มกบฏติดอาวุธเข้ายึดครอง โดยล่าสุดลิเบียสามารถผลิตน้ำมันได้เพียง 500,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่เคยผลิตได้ราว 900,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และอัตราการว่างงานของยูโรโซน รวมถึงดัชนีชี้นำเศรษฐกิจจีน (CB Leading Economic Index)
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 – 21 พ.ย. 57)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 69.51 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน 0.95 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 80.36 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 75 เหรียญสหรัฐฯ
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมามีความผันผวนและปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังมีกระแสข่าวเรื่องการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของโอเปก รวมถึงการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของจีน และตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ สัญญาซื้อขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีภาคอุตสาหกรรมของธนาคารกลางฟิลาเดลเฟีย ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นหลังโรงกลั่นน้ำมันหลายแห่งในสหรัฐฯ เริ่มกลับมาดำเนินการอีกครั้งหลังเสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุง รวมถึงอุณหภูมิที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 40 ปีของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาด รวมถึง GDP ของญี่ปุ่นที่ปรับลดลงมากกว่าคาดการณ์ และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับที่คาดการณ์ไว้ยังคงเป็นปัจจัยกดดันราคา