- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 28 May 2014 23:02
- Hits: 3839
พลังงานชิงจังหวะชงคสช.เคาะ 30 เรื่อง ไล่บี้รง.4 รูฟท็อป-ปั๊ม NGV
แนวหน้า : พลังงานชิงจังหวะชงคสช.เคาะ 30 เรื่อง ไล่บี้รง.4 รูฟท็อป-ปั๊ม NGV เสนอ7เรื่องด่วนทำทันที
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้สรุป 30 โครงการ/งาน ที่จะเสนอให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ พิจารณาวันที่ 27 พ.ค. ทั้งนี้ และ พล.อ.อ.ประจิน จะไปตรวจเยี่ยมกระทรวงพลังงาน ในวันศุกร์ที่ 30 พ.ค. ในเวลา 14.00 น.
สำหรับแผนงานที่รายงานแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.โครงงานเร่งด่วนที่สุดต้องดำเนินการทันที 7 เรื่อง 2.โครงงานเร่งด่วนมาก 7 เรื่อง ต้องดำเนินการภายใน 1-6 เดือนข้างหน้า และ 3.โครงการ/งานที่ต้องดำเนินงาน 14 เรื่อง สามารถดำเนินงานภายหลัง 6 เดือนได้
ทั้งนี้ เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที ได้แก่ 1.ขออนุญาตให้ผู้ประกอบการด้านพลังงานที่ต้องทำงาน 24 ชั่วโมง แบ่งการทำงานเป็น 3 กะ เช่น ธุรกิจโรงกลั่น โรงแยกก๊าซฯระบบส่ง สามารถทำงานได้ตามปกติโดยไม่ติดประกาศเคอร์ฟิวระหว่างเวลา 22.00-05.00 น. 2.เร่งรณรงค์ประหยัดพลังงานในกรณีที่แหล่งก๊าซฯ ในพื้นที่ร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) ปิดซ่อมวันที่ 13 มิถุนายน-10 กรกฎาคม ซึ่งจะขออนุญาตประชุมทำงาน เพราะอาจถูกมองว่าเป็นการชุมนุมเกิน 5 คน 3.ขอความชัดเจนด้านกฎหมายในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพราะตามระเบียบแล้วรัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายจะต้องเป็นประธานในการประชุม ซึ่งเรื่องมีความจำเป็นมาก เพราะ กบง. ต้องปรับการเก็บเงินเข้าหรือออกจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้ทันต่อราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นลงทุกวัน 4.ขอกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในกองทุนน้ำมันชื้อเพลิงที่ปัจจุบันมีสถานะติดลบกว่า 7,000 ล้านบาท โดยกู้จากธนาคารกรุงไทย และออมสิน เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น
5.การขอความชัดเจนเรื่องใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) เนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ได้แก้บัญชีแนบท้ายกฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ.โรงงาน เพื่อให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไม่ต้องขอ รง.4 โดยขณะนี้สถานีบริการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) หลัก จำนวน 14 แห่ง ที่ขอผ่อนผันให้ดำเนินงานโดยไม่มีใบ รง.4 จากรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมจะหมดเวลาขอผ่อนผันวันที่ 12 มิถุนายนนี้ ซึ่งจะส่งผลให้สถานีบริการต้องถูกปิด และผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าปรับแก่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) รวมถึงจะขอความชัดเจนเรื่องการขอ รง. 4 ในโครงการโซลาร์รูฟท็อปที่ปัจจุบันคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังรอการตีความจากคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปถือเป็นโรงงานและต้องขอใบ รง. 4 หรือไม่
6.ขอผ่อนผันการขนส่งวัตถุระเบิดของผู้ประกอบการจากสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อนำไปใช้ในการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม 7.ขอผ่อนผันขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ซึ่งตาม พ.ร.บ.จราจร ต้องขนส่งเวลากลางคืนระหว่าง 21.00-06.00 น. แต่ติดการประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งหลังการหารือกับ คสช. แล้ว อนุญาตให้ผู้ประกอบการขนส่งในเวลาเดิมได้ แต่ต้องมีใบกำกับการขนส่งของกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) โดยเรื่องที่ 7 นี้ คสช.ได้ออกประกาศผ่อนผันเรียบร้อยแล้ว
ส่วนโครงการเร่งด่วนมาก เช่น การอนุมัติแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าแห่งชาติ (พีดีพี) ฉบับใหม่ การเปิดสัมปทานรอบที่ 21 การปรับโครงสร้างปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) เป็นต้น ซึ่งจะต้องหารือต่อไปรวมถึงเรื่องราคาแอลพีจีภาคขนส่งที่ถูกกว่าภาคครัวเรือนที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย