- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Saturday, 15 November 2014 07:29
- Hits: 2836
ปตท.เร่งขายหุ้นบางจากให้กลุ่มทุน
บ้านเมือง : นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากที่ ปตท.ต้องการลดการถือครองหุ้นทั้ง บมจ.บางจากฯ และโรงกลั่นเอสพีอาร์ซี เพื่อลดข้อครหาของสังคม ที่ระบุว่า ปตท.ผูกขาดทางธุรกิจพลังงานนั้น ขณะนี้ในส่วนของการแก้ไขร่างสัญญาแก้ไขเพิ่ม เติม (ฉบับที่ 3) เรื่อง "สัญญาจัดสร้างและประกอบกิจการโรงกลั่นปิโตรเลียมระหว่างกระทรวงพลังงานกับ SPRC" รออยู่ระหว่างการพิจารณาของ ครม. ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบแล้วก็คงจะเริ่มกระจายหุ้นได้คาดอย่างช้าไตรมาส 2 ปี 2558 ส่วนการจำหน่ายหุ้นในบางจากฯ ที่ ปตท.ถือไว้ประมาณร้อยละ 27 จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งเบื้องต้นทราบว่ามีทั้งกลุ่มนายประยุทธ์ มหากิจศิริ, ซัสโก้, พีที, และบางจากฯ สนใจจะซื้อหุ้น โดย ปตท.จะพิจารณาจากราคาตลาดและผลตอบแทนที่ดีที่สุด
สำหรับ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ลดลงอย่างรวดเร็ว จากกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เหลือประมาณ 80 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ว่า เรื่องนี้เห็นชัดว่าเป็นความผันผวนทางธุรกิจปิโตรเลียม ไม่แน่นอน หากขณะนี้ โรงกลั่นฯ ขายน้ำมันตามต้นทุนอย่างที่กลุ่มต่อต้านธุรกิจพลังงานออกมาเรียกร้องราคา น้ำมันขายปลีกจะไม่ลดลง แต่ที่ผ่านมาโรงกลั่นฯ ขายตามกลไกตลาด จึงทำให้ราคาน้ำมันลดลงมาได้ทั้งโรงกลั่นฯ และผู้ค้าน้ำมันมีความเสี่ยงจากการขาดทุนน้ำมันในสต๊อกที่ปฏิบัติตามนโยบายภาครัฐและสต๊อกเพื่อการค้า อย่างไรก็ตาม กลุ่ม ปตท.ได้บริหารความเสี่ยงโดยมีการจัดการซื้อประกันความเสี่ยง จึงสามารถลดผลกระทบได้ส่วนหนึ่ง
รายงานข่าวจากบางจากฯ แจ้งว่า นายพิชัย ชุณหวชิร ประธานบอร์ดบางจากฯ ได้พบพนักงานและเชิญชวนให้ร่วมซื้อหุ้นจาก ปตท. ในสัดส่วน 3% ส่วนที่เหลือประมาณ 24% บางจากฯ อาจตั้งบริษัทใหม่และเชิญชวนพันธมิตร ซึ่งภาพรวมอาจต้องซื้อราคาตลาดหรือสูงกว่าและบางจากฯ ต้องจัดหาเงินกู้คาดใช้เงินไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท
นายมนูญ ศิริวรรณ กรรมการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า สิ่งที่ สปช.พลังงานจะพิจารณา คือ เรื่องโครงสร้างระยะกลางและระยะยาวที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ส่วนเรื่องเร่งด่วน คือ พิจารณาตามที่นายกรัฐมนตรีส่งให้ดำเนินการเร่งด่วน คือ สัมปทานปิโตรเลียม 21 ควรดำเนินการอย่างไรให้เหมาะสมโดยเห็นด้วยกับกระทรวงพลังงานที่จะเร่งปรับโครงสร้างราคาพลังงานสะท้อนต้นทุน โดยในส่วนของภาษีน้ำมันแม้จะปรับโครงสร้างเบนซินและดีเซลให้ใกล้เคียงกัน แต่ไม่จำเป็นต้องลดภาษีให้อยู่ในอัตราเดียวกัน หากยังต้องการส่งเสริมรถดีเซลให้บรรทุกสินค้าต่อไป ภาษีดีเซลอาจอยู่ 4 บาท/ลิตร จากปัจจุบัน 0.75 บาท แต่เบนซินอาจอยู่ประมาณ 5 บาท จากปัจจุบัน 5.60 บาท/ลิตร แล้วปรับลดเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลงมาให้อยู่ในอัตราเหมาะสม
ส่วนแอลพีจี ควรค่อยๆ ขยับ ซึ่งหากคำนวณต้นทุนทุกภาคส่วนทั้งการนำเข้า ราคาหน้าโรงแยกก๊าซฯ โรงกลั่นฯ และภาษีแล้ว ราคาขายปลีกอาจขยับไปอยู่ที่ประมาณ 27 บาท/กก. จากปัจจุบันอยู่ที่ 22.63 บาท/กก. ส่วนเอ็นจีวี ปตท.ระบุราคาต้นทุน 15-16 บาท/กก. จากราคาขายปลีก 11.50 บาท/กก. ก็คงค่อยขยับเช่นกัน และสิ่งที่ควรพิจารณา คือ การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเอ็นจีวี เพราะที่ผ่านมายกเว้นการจัดเก็บ เพราะอุดหนุนในช่วงเริ่มต้น แต่ขณะนี้มีการใช้ถึง 9,000 ตัน/วัน ดังนั้น หากจัดเก็บ 1 บาท/กก. ก็จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น และสะท้อนหลักภาษีสรรพสามิตที่เชื้อเพลิงก็ควรจะจ่ายภาษีนี้