- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 04 November 2014 00:09
- Hits: 3250
ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 80-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 83-88 เหรียญสหรัฐฯ
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (3 – 7 พ.ย. 57)
ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้คาดว่าจะยังคงผันผวน โดยได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่ล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง และท่าทีของสมาชิกในกลุ่มโอเปกที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงเพื่อพยุงราคาน้ำมันไว้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงรอความชัดเจนจากการประชุมของธนาคารกลางสหภาพยุโรป (อีซีบี) ในวันที่ 6 พ.ย. นี้ ในประเด็นของการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ นอกจากนั้นการที่โรงกลั่นของสหรัฐฯ เริ่มกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง ในช่วงเดือน พ.ย. นี้ จะส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นและอาจส่งแรงหนุนราคาน้ำมันดิบให้ปรับลดลงไม่มากนัก
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ท่าทีของสมาชิกในกลุ่มโอเปก ในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพื่อพยุงราคาน้ำมันก่อนที่จะถึงการประชุมกลุ่มโอเปกในช่วงปลายเดือนนี้ หลังล่าสุดเลขาธิการกลุ่มเปิดเผยว่า โอเปกยังไม่มีความจำเป็นมากนักที่จะต้องลดกำลังการผลิตลง และตลาดยังไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนกต่อราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำในขณะนี้
การประชุมอีซีบีในวันที่ 6 พ.ย. นี้ ซึ่งตลาดยังคงมีความหวังว่าอีซีบีจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งแรงหนุนต่อราคาน้ำมัน หลังมีแรงกดดันจากความกังวลต่อภาวะเงินฝืดที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น และปัญหาทางการเมืองของประเทศสมาชิกที่อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวมของภูมิภาคฯ
การเริ่มกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันของสหรัฐฯ ในช่วงเดือน พ.ย. นี้ อาจส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น ทั้งยังอาจทำให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลงด้วย ซึ่งจะส่งแรงหนุนต่อราคาน้ำมันดิบให้ปรับลดลงไม่มากนัก
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต (ISM/PMI) ดัชนีภาคการบริการ การจ้างงานภาคเอกชนและยอดคำสั่งซื้อของโรงงานสหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ของอีซีบีและดัชนีภาคการผลิตยุโรป(Markit)
รวมถึงดัชนีภาคการบริการจีน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 – 31 ต.ค. 57)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 80.54 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลงเช่นกัน 0.27 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 85.86 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบขยับลงมาเคลื่อนไหวที่ระดับเฉลี่ย 83 เหรียญสหรัฐฯ
ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลงต่อเนื่อง โดยราคายังคงได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่ล้นตลาดของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ซึ่งในขณะนี้ทางกลุ่มโอเปกยังไม่มีทีท่าว่าจะลดกำลังการผลิตลง ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเยอรมนี ทำให้อุปสงค์น้ำมันดิบลดน้อยลงด้วย นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นล้วนส่งผลกดดันราคาน้ำมัน
อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด การประกาศยุติมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังภาวะเศรษฐกิจโดยรวมและตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้น ยังคงส่งแรงหนุนต่อราคาน้ำมัน