WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ค้านเลิก'โซฮอล์ 91'ชี้ไม่เป็นธรรม รัฐบอกใบ้จ่อปรับค่าไฟเพิ่ม

   แนวหน้า : นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายจะยกเลิกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 นั้นเห็นว่า ในปัจจุบันรถยนต์ส่วนใหญ่ใช้น้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 95 จึงไม่ควรที่จะยกเลิกน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 เพราะเท่ากับบังคับให้ผู้ใช้รถต้องใช้น้ำมันราคาแพงและเกินความจำเป็น อีกทั้ง ไม่มีราคาเปรียบเทียบและราคาหน้าโรงกลั่นของน้ำมันเบนซิน 91 ถูกกว่าเบนซิน 95 ซึ่งการที่รัฐมีนโยบายจะยกเลิกน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 เพราะต้องการจะเพิ่มการใช้เอทานอล แต่ไม่ควรที่จะมายกเลิกน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 เนื่องจากที่ผ่านมารัฐส่งเสริมให้ใช้น้ำมันที่มีค่าออกเทนต่ำมาตลอด

     อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ภาครัฐต้องการส่งเสริมน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ E20 ให้เป็นน้ำมันหลักคิดว่ามีความเหมาะสม ผลประโยชน์ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศ แต่ในกรณีที่จะส่งเสริมน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ E85 มากเกิน อาจจะส่งผลกระทบต่อเงินกองทุนน้ำมันที่ต้องใช้อุดหนุนเป็นจำนวนมากได้ และเมื่อมีการใช้กันเป็นจำนวนมากในกรณีที่จะลดส่วนต่างราคาลงจะทำยาก

     ดังนั้น ควรส่งเสริมการใช้น้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ E85 ให้อยู่ในระดับที่ไม่เกินร้อยละ 20 ซึ่งในระดับนี้ก็สามารถทำให้มีการใช้เอทานอลสูงถึง 3.7 ล้านลิตรต่อวัน เมื่อคิดยอดการใช้รวมทั้งหมดทั้ง E10, E20, E85 จะทำให้ยอดการใช้เอทานอลทั้งหมดของประเทศสูงกว่า 6 ล้านลิตรต่อวัน

     "รัฐควรดูแลประชาชนมากกว่า เพราะโรงกลั่นน้ำมันและผู้ค้าน้ำมันอยู่ในฐานะที่ปรับตัวได้ และควรให้ประชาชนมีเสรีภาพในการเลือกใช้น้ำมันชนิดต่างๆ ที่เหมาะสมกับตัวเอง ผู้ค้าก็มีเสรีภาพในการเลือกขาย ไม่ใช่มาใช้วิธีการบังคับประชาชน โดยถ้าจะยกเลิกควรวางแผนยกเลิกเบนซิน 95 ดีกว่า เนื่องจากนำเข้าต่างจากประเทศ อีกทั้งผสมสาร MTBE ที่เป็นสารมีพิษ โดยถูกนำใช้สำหรับรถหรูเป็นส่วนมาก ซึ่งกระทรวงพลังงานอาจถูกฟ้องศาลปกครองได้"นายอนุสรณ์กล่าว

     ด้าน นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เนื่องจากปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะหมดลงในอีก 8 ปีข้างหน้า โดยปัจจุบันไทยใช้ก๊าซถึงวันละ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต แต่ผลิตได้เพียง 4,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ที่เหลือต้องนำเข้าจากเมียนมาร์ 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และนำเข้าในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ซึ่งการเปิดสัมปทานนับว่ามีความจำเป็น เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยหาแหล่งปิโตรเลียมมาทดแทนที่ใช้อยู่ได้เพียง 1 ใน 4 เท่านั้น และมีแนวโน้มว่าภายในปี 2567 ปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าชธรรมชาติในไทยจะลดลงเหลือ 1 ใน 3 ของปริมาณการผลิตในปัจจุบันเท่านั้น

     สำหรับ การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่จะให้ผลตอบแทนในรูปแบบไทยแลนด์ 3 กำหนดผลประโยชน์ตอบแทนเข้ารัฐที่ร้อยละ 72 เหมาะสมกับศักยภาพแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทย และยังเป็นอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอื่น อาทิ อินโดนีเซียและมาเลเซีย ที่ให้ผลตอบแทนเกือบร้อยละ 80 โดยสัมปทานจะมีอายุ 20 ปี ลดลงจากไทยแลนด์ 1 ที่สัมปทานมีอายุถึง 30 ปี เนื่องจากเห็นว่าเป็นระยะเวลาที่ผู้ประกอบการสามารถคืนทุนได้แล้ว แต่ยังจะสามารถต่อสัญญาสัมปทานได้ครั้งละ 10 ปี

    นายศิริ กล่าววว่า ส่วนกรณีที่เปิดให้ต่างชาติเข้ามายื่นขอสำรวจแหล่งปิโตรเลียมด้วย เนื่องจากแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทยหายาก จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการสำรวจขุดเจาะ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวประเทศไทยไม่มี และหากไม่สามารถจัดหาก๊าชธรรมชาติได้เพิ่มขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ พีดีพี 2015 อย่างไรก็ตาม หากการเปิดสัมปทานแหล่งปิโตรเลียมรอบใหม่ไม่พบก๊าซหรือน้ำมัน ประเทศไทยก็ต้องนำเข้าก๊าซ LNG เข้ามาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า และจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นเป็นหน่วยละ 5.50 บาท จากปัจจุบันอยู่ที่หน่วยละ 3.99 บาท

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!