- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Tuesday, 21 October 2014 22:30
- Hits: 2483
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 13-17 ต.ค. 2557 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 20-24 ต.ค. 2557
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 5.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 85.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 4.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 85.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 4.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 82.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 6.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 99.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 4.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 98.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ :
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· IEA ปรับลดประเมินอัตราการเติบโตอุปสงค์น้ำมันโลกปี 57 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 700,000 บาร์เรลต่อวัน (ลดลง 200,000 บาร์เรลต่อวันจากประมาณการณ์ครั้งก่อน) และคาดว่าในปี 2558 อัตราการเติบโตอุปสงค์น้ำมันโลกปี 58 จะ เติบโตที่ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ลดลงจากประมาณการณ์ครั้งก่อน 300,000 บาร์เรลต่อวัน)
· EIA รายงานปริมาณการผลิต Shale oil ของสหรัฐฯในเดือน พ.ย. 57 ที่แหล่ง Bakken อยู่ที่ 1.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 30,000 บาร์เรลต่อวัน แหล่ง Eagle Ford อยู่ที่ 1.61 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 30,000 บาร์เรลต่อวัน และแหล่ง Permian Basin อยู่ที่ 1.81 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 420,000 บาร์เรลต่อวัน
· รายงานประจำเดือนของ OPEC รายงานกลุ่มประเทศ OPEC ผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.ย. 57 เพิ่มขึ้น จากเดือนก่อน 402,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 30.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซี่งเป็นอัตราการผลิตที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดตั้งแต่เดือน พ.ย. 54 และเป็นระดับการผลิตสูงสุดในรอบปี
· ซาอุดีอาระเบียส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องว่าจะไม่ยอมลดกำลังผลิต และได้ปรับลดราคาประกาศขายน้ำมันอย่างเป็นทางการสำหรับลูกค้าเทอม (Official Selling Price: OSP) ของตนลง เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดน้ำมัน จากกลุ่มประเทศผู้ผลิต Non-
OPEC โดยซาอุดีอาระเบียปรับตัวเลขการผลิตเดือน ก.ย. 57เพิ่มขึ้น 100,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 9.70 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตอกย้ำสภาวะอุปทานล้นตลาดในปัจจุบัน
· สถาบัน ZEW ของเยอรมนีรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี ที่มีต่อสภาพเศรษฐกิจ ของประเทศเดือน ต.ค. 57 ลดลงแตะ -3.6 จุด จาก 6.9 จุด ในเดือน ก.ย. 57 ปรับลดติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 และต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· Reuters รายงานนาย Charles L. Evans ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) สาขาชิคาโกเปิดเผยว่า Fed ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เมื่อมั่นใจว่าเศรษฐกิจมีการขยายตัวเพียงพอ ที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานสูงสุด และทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาอยู่ที่ 2% ได้อย่างยั่งยืน มิฉะนั้นจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่รุนแรงที่สุดต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขณะนี้
· ประท้วงในลิเบียล้อมปิดแหล่งน้ำมันดิบ Abu Attifel (60,000 บาร์เรลต่อวัน) เพื่อเรียกร้องให้บริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ENI ของอิตาลีกับบริษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) ของลิเบียจ้างงานแรงงานท้องถิ่นของตน Reuters ประเมินว่าการประท้วงส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียลดลงต่ำกว่า 900,000 บาร์เรลต่อวัน
· กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ต.ค. 57 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 23,000 ราย มาอยู่ที่ 264,000 ราย ต่ำสุดในรอบ 14 ปี ตอกย้ำภาพที่สดใสของตลาดแรงงาน
· สำนักงานสถิติแห่งชาติ (Office for National Statistic-ONS) ของสหราชอาณาจักรรายงานอัตราว่างงาน (unemployment rate) ช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. 57 อยู่ที่ 6.0% ต่ำสุดในรอบเกือบ 6 ปี และต่ำกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters คาดการณ์ไว้ที่ 6.1% แสดงถึงการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหราชอาญาจักร
แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ปิดตลาดวันที่ 17 ต.ค. 57 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 86.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ของ Goldman Sachs ออกมาแสดงความเห็นว่าราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงเร็วและแรงเกิดจาก Sentiment ของนักลงทุนที่วิตกต่อภาวะความไม่สมดุลของน้ำมันดิบโลก ซึ่งอุปทานเพิ่มสูงขึ้นมากสวนทางกับอุปสงค์ที่ลดลง ดังเห็นได้จาก สถาบันชั้นนำเช่น IEA ได้ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันดิบโลกลงอีกทั้งนักวิเคราะห์ชั้นนำจากธนาคารพาณิชย์ใหญ่ต่างออกมาปรับลดประมาณการราคาน้ำมันดิบปี 58 ลง ทั้งยังชี้ว่าในทุกครั้งที่ราคาน้ำมันลดลง 10% จะส่งผลให้อุปสงค์โลกเพิ่มขึ้น 500,000 บาร์เรลต่อวัน หรือ 0.15% ส่วนอีกด้านหนึ่ง ประเทศหลักๆ ใน OPEC ยังแสดงท่าทีให้ตลาดเห็นว่าสามารถยอมรับกับราคาน้ำมันดิบที่ต่ำลงได้ ทั้งนี้ประเทศที่มีจุดคุ้มทุน (Breakeven Cost) ของการสำรวจและผลิตน้ำมันผนวกรวมงบประมาณของประเทศ อาทิ ลิเบียและอิหร่านเริ่มออกมาแสดงความหวาดหวั่นต่อระดับราคาน้ำมันดิบในปัจจุบันที่ต่ำกว่า Breakeven Cost ของตน จะเห็นได้ว่า OPEC ยังคงขาดความเป็นเอกภาพในหมู่กลุ่มสมาชิก หากมีการปรับลดปริมาณการผลิตในการประชุมวันที่ 27 พ.ย. 57 นี้ ล่าสุด ลิเบียออกมาเรียกร้องให้ OPEC ปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลง แต่กลับขอให้โควต้าของตนถูกยกเว้น โดยทางเทคนิค กรอบการเคลื่อนไหวของ ICE Brent อยู่ที่ระดับ 82.9 - 88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ WTI NYMEX อยู่ที่ 79.8 - 86.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และดูไบ อยู่ที่ 81.5 - 86.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงจากโรงกลั่นเริ่มกลับมาดำเนินการกลั่นภายในเดือนต.ค. 57 หลังจากปิดซ่อมบำรุง โดย บริษัทข้อมูลทางด้านพลังงาน JBC คาดการณ์ตัวเลขกำลังการกลั่นเเดือน พ.ย. 57 ในสหรัฐฯ ที่ปิดซ่อมบำรุงจะน้อยกว่าเดือน ต.ค. 57 อยู่ 250,000 บาร์เรลต่อวัน เช่นเดียวกับ โรงกลั่น Nansei Sekiyu (กำลังการกลั่น 100,000 บาร์เรลต่อวัน ) ของญี่ปุ่นกลับมาดำเนินการหลังจากปิดทำการเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 57 เนื่องจากพายุไต้ฝุ่น Hud Hud เคลื่อนตัวเข้าชายฝั่ง อย่างไรก็ตาม อุปสงค์จากเวียดนามมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลัง บริษัทน้ำมันแห่งชาติเวียดนาม Petrolimex ปรับลดราคาขายปลีก Gasoline 95 RON ลง 2.8% จากการปรับลดราคาครั้งก่อนในเดือน ก.ค. 57 ไปอยู่ที่ 23,490 ด่องเวียดนามต่อลิตร ($1.09/ Liter) และปรับราคา Gasoline 92 RON ลง 2.8% ไปอยู่ที่ 22,890 ด่องเวียดนามต่อลิตร ($1.08/ Liter)ขณะที่ บริษัท Moody’s คาดอุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปของอินเดียในปี 58 เติบโตคงที่ อยู่ที่ระดับ 1-2% จากปีก่อน ทั้งนี้ยอดขาย Gasoline ในเดือน เม.ย – ส.ค.57 สูงขึ้น 8.8% จากปีก่อน อยู่ที่ 0.51 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillate ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ต.ค. 57 ลดลง 880,000 บาร์เรล หรือลดลงจากสัปดาห์ก่อน 9.9% มาอยู่ที่ระดับ 11.23 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 96-101 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง จาก IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillate ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ต.ค. 57 เพิ่มขึ้น 300,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 11.56 ล้านบาร์เรล และ Saudi Aramco Mobil Refinery Co. (SAMREF - ร่วมทุนระหว่างบริษัท Saudi Aramco กับ Exxon Mobil Corp.) ออกประมูลขาย Gasoil แบบเทอม จำนวน 11-12 เที่ยวเรือ ปริมาณรวมกว่า 6 ล้านบาร์เรล จากโรงกลั่นน้ำมัน Yanbu (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) สำหรับส่งมอบช่วงปี 58 และ บริษัท Essar Oil ของอินเดียออกประมูลขาย Gas Oil ชนิด 0.5%S ปริมาณ 510,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 3 -7 พ.ย. 57 และ Reuters รายงานจากมุมมองของผู้ค้าว่า Arbitrage ของ Gasoil จากสหรัฐฯ สู่ยุโรปจะปิดต่อเนื่องนานไปถึงเดือน พ.ย. 57 เนื่องจากสหรัฐฯ ตลอดจนอเมริกาใต้ เริ่มเก็บสำรองไว้สำหรับใช้ทำความอบอุ่นในฤดูหนาว ขณะที่ รัสเซียยังส่งออก Gasoil มายุโรปค่อนข้างจำกัดหลังเพิ่งผ่านช่วงสูงสุด (Peak) ของการปิดซ่อมบำรุงไปหมาดๆ และ Platts รายงานโรงกลั่น Kurnell (กำลังการกลั่น 135,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Caltex ในออสเตรเลียได้ปิดดำเนินการถาวร หลังจากที่บริษัท Caltex เผยการปรับเปลี่ยนโรงกลั่นดังกล่าวเป็นคลังกักเก็บน้ำมัน (Oil Storage) ซึ่งสามารถกักเก็บน้ำมันได้กว่า 4.7 ล้านบาร์เรล สำหรับภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 94.2-99.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล