- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 20 October 2014 23:34
- Hits: 2837
GEP จับมือพม่าสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
แนวหน้า : นายออง ทีฮา กรรมการบริหาร บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GEP (Green Earth Power) ได้เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOA - Memorandum of Agreement) อย่างเป้นทางการกับกระทรวงพลังงานไฟฟ้าของประเทศเมียนมาร์ เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดกำลังการผลิตสูงสุดที่ 220 เมกะวัตต์ ณเมืองมินบู รัฐแมคเกวย์ นครหลวงเนปิดอร์ ประเทศเมียนมาร์ เนื่องจากบริษัทเห็นถึงศักยภาพของประเทศเมียนมาร์ในปัจจุบันที่จะมีผลต่อการพัฒนาพลังงานสะอาดในภูมิภาคนี้
ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นที่เมืองมินบู นับเป็นข้อพิสูจน์และตอกย้ำความมั่นใจให้แก่บริษัท ถึงความตั้งใจของนโยบายรัฐบาลเมียนมาร์ในการสนับสนุนโครงการที่นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพด้านพลังงานที่ยั่งยืนให้กับประเทศและประชาชน เนื่องจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่นำมาสร้างโรงผลิตไฟฟ้า ถือเป็นทางออกด้านพลังงานทางเลือกที่สามารถทำได้สะดวกและรวดเร็วกว่าโรงไฟฟ้าประเภทอื่น ซึ่งไม่จำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งกำเนิดพลังงาน เช่น ถ่านหิน และที่สำคัญยังปลอดจากความผันผวนของราคาในการหาวัตถุดิบและกระบวนการผลิต เมื่อเทียบกับพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ รวมถึงเรื่องความขัดแย้งกับประชาชนในประเด็นดังกล่าว
นายศุภศิษฏ์ โภคินจารุรัสมิ์ กรรมการผู้จัดการ GEP กล่าวว่า เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา บริษัทได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับผู้แทนจากรัฐบาลเมียนมาร์แล้ว หลังจากนั้นจึงได้มีการเตรียมข้อมูลในด้านต่างๆ ศึกษาความเป็นไปได้และโอกาสในเชิงธุรกิจ พร้อมเก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลต่อการบริหารโครงการ รวมถึงการร่วมประชุมอภิปรายกับผู้แทนจากรัฐบาลเมียนมาร์ ในการพัฒนาโครงสร้างด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมร่วมกับกระทรวงพลังงานไฟฟ้า
โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เมืองมินบู ตั้งอยู่บนพื้นที่ 2,150 ไร่ จะเริ่มก่อสร้างในไตรมาสแรกปี 2558 แบ่งการดำเนินงานเป็น 4 ระยะ (เฟส) ใช้เวลาประมาณ 30 เดือน เฟสแรกจะใช้เวลาก่อสร้าง 12 เดือน จะสามารถให้กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ เฟสที่ 2 ใช้เวลาการก่อสร้าง 6 เดือน สามารถให้กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ เฟสที่ 3 ใช้เวลาการก่อสร้าง 6 เดือน ให้กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ และเฟสที่ 4 ใช้เวลาการก่อสร้าง 6 เดือน ให้กำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตทั้งโครงการ 220 เมกะวัตต์ จะสามารถจ่ายกระแสไฟได้ในไตรมาสแรกปี 2559 ใช้งบประมาณการลงทุน 10,000 ล้านบาท