- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 20 October 2014 23:34
- Hits: 2806
ตั้งท่าปรับโครงสร้างราคาพลังงาน
บ้านเมือง : นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความเหมาะสมที่กระทรวงพลังงานควรเร่งปรับโครงสร้างราคาพลังงานในช่วงนี้ เนื่องจากคาดว่าในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2557 นี้ ยังเป็นช่วงราคาน้ำมันขาลง แต่หากปล่อยเลยไปจนถึงเดือนธันวาคมก็จะไม่เหมาะสมเป็นเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งการปรับให้สะท้อนต้นทุน โดยเฉพาะราคาน้ำมันเบนซิน ควรปรับลดลง ส่วนดีเซลก็ควรเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าหากกระทรวงฯ ไม่ต้องการให้กระทบต่อราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการ ควรมีการปรับเปลี่ยนกลไกระหว่างกองทุนน้ำมันฯ กับภาษีสรรพสามิต คือเพิ่มภาษีสรรพสามิตเป็น 3 บาทต่อลิตร จากปัจจุบัน 0.75 บาทต่อลิตร และลดเงินกองทุนฯ ลงเหลือ 0.75 บาทต่อลิตร จากนั้นหากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ก็สามารถเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ อีก 0.50 บาทต่อลิตร เป็น 1.25 บาทต่อลิตร ทำให้มีเสถียรภาพทั้งกองทุนและภาษี รวมทั้งไม่กระทบต่อราคาขายปลีกด้วย
สำหรับ แนวทางการปรับขึ้นราคาแอลพีจี ก็ควรสะท้อนต้นทุนทั้งภาคขนส่งและครัวเรือน ปัจจุบันราคาแอลพีจีขนส่งอยู่ที่ 22 บาทต่อกิโลกรัม และแอลพีจีครัวเรือนอยู่ที่ 22.63 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาเฉลี่ยของกระทรวงที่คำนวณต้นทุนไว้อยู่ที่ 24.82 บาทต่อกิโลกรัม แต่หากคำนวณราคาต้นทุนจากการนำเข้า 25% ก็จะทำให้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 24 บาทต่อกิโลกรัม และเมื่อบวกภาษีและค่าการตลาดจะทำให้ต้นทุนอยู่ที่ระดับ 29 บาทต่อกิโลกรัม
โดยปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการใช้แอลพีจี 7.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งต้องนำเข้า 25% ของความต้องการใช้ทั้งหมด เมื่อราคาขายในประเทศยังต่ำกว่าต้นทุน ก็ทำให้ความต้องการใช้เติบโตจนส่งผลให้ปริมาณนำเข้าสูงขึ้นด้วย จนส่งผลกระทบต่อกองทุนน้ำมันฯ
นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอความคืบหน้าการปรับโครงสร้างราคาพลังงานเข้าที่ประชุม กพช. ในวันที่ 22 ต.ค.นี้ ซึ่งการปรับโครงสร้างพลังงานให้สะท้อนต้นทุนมีหลายส่วน อาทิ ภาษีสรรพสามิต กองทุนน้ำมันฯ เพราะที่ผ่านมากระทรวงการคลังผ่อนผันมานานแล้ว ดังนั้นในช่วงราคาน้ำมันขาลงรัฐจึงต้องเริ่มเก็บเงินเข้ากองทุนฯ เพิ่ม