- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 20 October 2014 18:56
- Hits: 2679
นักวิชาการ’หนุน‘บอร์ดกพช.’ ปรับโครงสร้างพลังงาน 22 ต.ค.นี้
แนวหน้า : 'นักวิชาการ'หนุนปรับโครงสร้างราคาพลังงานช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย.ชี้จังหวะเหมาะเพราะอยู่ในช่วงราคาตลาดโลกลดลงกระทบผู้ใช้น้อย ฝั่งเอกชนยันราคาก๊าซ LPG ขนส่ง ปรับขึ้นครั้งก่อนหน้านี้ ยังไม่ส่งผลกระทบยอดขาย
นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวในงานอบรมความรู้ด้านพลังงานภาคประชาชน เรื่อง “รู้ทันสถานการณ์พลังงานประเทศไทย” ว่า ขณะนี้เป็นจังหวะเหมาะสมที่สุดที่รัฐบาลจะตัดสินใจปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) เพราะราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับลดลงต่อเนื่องต่ำกว่า90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ดังนั้น หากไม่รีบปรับราคาภายในเดือน ต.ค.- พ.ย. 2557 ราคาอาจกลับมาสูงอีกครั้งช่วงเดือนธันวาคม 2557 เพราะเข้าสู่ฤดูหนาวทำให้เชื้อเพลิงปริมาณมาก ล่าสุดราคาน้ำมันดิบตลาดสิงคโปร์มีแนวโน้มลดลงอีก 1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้วันที่ 17 ตุลาคม อาจเห็นการประกาศปรับลดราคาน้ำมันขายปลีกอีกครั้ง
ส่วนของน้ำมันดีเซลซึ่งล่าสุดราคาขายปลีกอยู่ที่ 29.39 บาทต่อลิตร ดังนั้นจึงไม่ควรปรับลดลงอีก แม้ตลาดโลกจะมีแนวโน้มลดลงได้อีก 50 สตางค์ต่อลิตร เพราะควรนำส่วนต่างดังกล่าวไปบวกเพิ่มในอัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะปัจจุบันยังมีฐานะติดลบ
“อยากเสนอให้รัฐบาลปรับโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลในช่วงนี้เลยโดยสามารถคงราคาขายปลีกดีเซลไว้ที่ 29.39 บาทต่อลิตร ไม่มีผลกระทบต่อประชาชน” นายมนูญ กล่าว
นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาปรับโครงสร้างราคาพลังงาน โดยเชื้อเพลิงที่ควรเร่งปรับราคาคือ แอลพีจีขนส่งและครัวเรือน
“การปรับราคาแอลพีจีครัวเรือนจะไม่สร้างผลกระทบให้กับประชาชน เพราะกระทรวงพลังงานมีนโยบายตรึงราคาไว้ที่ 18.13 บาทต่อกก.ให้กับครัวเรือนยากจน และร้านค้าอาหารขนาดเล็ก โดยผู้ได้รับสิทธิต้องลงทะเบียนกระทรวง พลังงานจังหวัดทั่วประเทศ “นายคุรุจิต กล่าว
น.ส.นิตา ตรีวีรานุวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาคูนิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TAKUNI หนึ่งในผู้ประกอบการจัดจำหน่ายก๊าซแอลพีจี ตามมาตรา 7 กล่าวว่าหลังจากที่ กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้มีการปรับราคาก๊าซแอลพีจี เพิ่มขึ้นในส่วนของราคาขายปลีกของภาคขนส่ง ตามมติ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น 0.62 บาทต่อกิโลกรัม หรือ จาก 21.38 บาท ต่อกิโลกรัม เป็น 22 บาทกิโลกรัม ไม่น่าจะมีผลกระทบทำให้ยอดการใช้ในส่วนของภาคขนส่งลดลง