- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 19 October 2014 23:29
- Hits: 3024
รายงานพิเศษ : หากในอีก 6-8 ปี ข้างหน้า ก๊าซฯ ในอ่าวไทยหมดไป อนาคต LPG จะมาจากไหน?...รัฐต้องทบทวน
แนวหน้า : เราไม่อาจปฏิเสธว่า ก๊าซหุงต้ม หรือ LPG เป็นสินค้าการเมือง ซึ่งนับตั้งแต่อดีตที่ผ่านมารัฐบาลส่วนใหญ่ไม่กล้าตัดสินใจขยับราคาขึ้นให้สะท้อนต้นทุนที่ควรจะเป็น เพราะด้วยกลัวคะแนนเสียงจะหายไป ขณะที่การใช้ LPG กลับเติบโตขึ้นมากกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากเดิมไทยเคยส่งออก LPG เพราะเหลือใช้กลับกลายเป็นผู้นำเข้านับตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน
การแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคา LPG ทั้งระบบใหม่ ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมีนโยบายชัดเจนว่า จะต้องส่งเสริมการใช้อย่างมีประสิทธิภาพและสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง แต่หนทางที่จะทำให้ไทยมีความมั่นคง มี LPG ใช้ในระยะยาวการแก้ไขปัญหาจึงต้องครบวงจร มีการบริหารความต้องการใช้อย่างบูรณาการ...ทั้งด้านอุปสงค์ หรือการใช้ LPG ให้ถูกต้อง ไม่ก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต และต้องมองเรื่องการจูงใจให้เกิดการจัดหา LPG ด้วย
เมื่อพิจารณาในแง่ของการใช้ พบว่าปัจจุบัน LPG ภาคครัวเรือนมีการใช้มากสุด รองลงมาเป็นภาค ปิโตรเคมี ภาคขนส่งและ ภาคอุตสาหกรรม ตามลำดับ ซึ่งที่ผ่านมารัฐใช้นโยบายควบคุมราคาให้ต่ำกว่าต้นทุนหน้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ทั้งในส่วนของ LPG ครัวเรือนและภาคขนส่ง ขณะที่การนำเข้า LPG จากต่างประเทศมีราคาแพง แต่ขายราคาที่ต่ำ รัฐจึงต้องใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่เก็บจากผู้ใช้น้ำมัน มาช่วยอุดหนุนส่วนต่างราคา โดยขณะนี้ราคาLPG ภาคครัวเรือน อยู่ที่ 22.63 บาท/กก. LPG ภาคขนส่งอยู่ที่ 22 บาท/กก. (มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. 2557) แต่ต้นทุนราคาหน้าโรงแยกก๊าซฯ อยู่ที่ 24.82 บาท/กก. (ราคาที่ถูกตรึงไว้หน้าโรงแยกก๊าซที่ 333 เหรียญฯ ต่อตัน) ขณะที่ต้นทุนการจัดหาอยู่ที่ประมาณ 27.85 บาท/กก.ดังนั้น หากจะให้สะท้อนกลไกตลาด ก็ควรจะสะท้อนไปที่ต้นทุนการจัดหา
ดังนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ ราคา LPG ในภาคขนส่ง นั้นต่ำกว่าภาคครัวเรือน ซึ่งในความเป็นจริงแนวทางราคาควรจะเท่ากันโดยเฉพาะภาคขนส่ง มีอัตราการขยายตัวมากที่สุด ซึ่งเป็นผลมาจากราคาขายปลีกที่ต่ำกว่าราคาน้ำมันเบนซินมาก โดยราคา LPG ภาคขนส่ง ที่ 21.38 บาท/กก. ในปัจจุบัน เทียบเท่า 11.55 บาท/ลิตร (ในขณะที่ราคาขายจริงในสถานีบริการ LPG จะสูงกว่าที่ 12-14 บาท/ลิตร เนื่องจากไม่มีการควบคุมค่าการตลาดของผู้ค้า ซึ่งค่าการตลาดที่ผู้ค้าได้จริงจะมากกว่า 3 บาท/ลิตร หรือ กว่า 6 บาท/กก.) ราคาเมื่อเทียบค่าความร้อนที่เท่ากับน้ำมันเบนซิน ที่ประมาณ 15 บาท/ลิตร ซึ่งต่ำกว่า E10 ที่ประมาณ 38 บาท/ลิตร อยู่มาก ดังนั้นการใช้ LPG ที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นอุปสรรคต่อนโยบายการส่งเสริมการใช้เอทานอลที่ผลิตได้ในประเทศ ในขณะที่การจัดหา LPG รองรับการใช้เพิ่มขึ้นในภาคขนส่งต้องมาจากการนำเข้า (หากไม่มีการกระตุ้นการจัดหาในประเทศมากขึ้น)
การใช้ LPG ในครัวเรือนเพื่อใช้เป็นก๊าซหุงต้มมีความจำเป็นต่อชีวิตความเป็นอยู่และมีผลกระทบต่อค่าครองชีพสำหรับผู้มีรายได้น้อย แต่เป็นภาคที่มีการใช้มากที่สุดถึง 2.4 ล้านตัน/ปี การใช้กลไกการควบคุมราคาให้ต่ำเพื่อชดเชยค่าครองชีพจะต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่การอุดหนุนทั้งระบบก็พบว่ากลับมีการช่วยคนที่ไม่ได้จนจริงและอีกส่วนทำให้เกิดการลักลอบไปยังประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดนและกองทุนน้ำมันฯที่ชดเชยราคาที่ต่ำที่เก็บจากผู้ใช้น้ำมันฯกลายเป็นว่าเราไปช่วยเพื่อนบ้านด้วยไม่ใช่แค่คนไทยกันเอง
ดังนั้น จึงเกิดกลไกการช่วยเหลือโดยตรงกับผู้มีรายได้น้อยที่ใช้ในปัจจุบันที่เกิดในสมัย นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีต รมว.พลังงานที่ปรับราคา LPG ภาคครัวเรือน ในปี 2556 จาก 18.13 บาท/กก. เป็น 24.82 บาท/กก. ทำให้การใช้ในปี 2556 ปรับลดลงจากปี 2555 ที่ 3.047 ล้านตัน/ปี เหลือ 2.409 ล้านตัน/ปี ลดลง 20% แต่มาตรการก็ควรจะปรับปรุงให้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้นการใช้ LPG ในภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เห็นผลของการปล่อยราคาลอยตัวสะท้อนต้นทุนการจัดหาที่แท้จริง ซึ่งการปรับราคาขายปลีกเริ่มในปี 2554 ในยุครัฐมนตรีพลังงานพิชัย นริพทะพันธุ์ โดยพบว่าการใช้ LPG ในภาคอุตสาหกรรมลดลงจากปี 2553 จาก 7.7 แสนตัน/ปี เหลือเพียง 6 แสนตัน/ปี ในปี 2556 หรือลดลง 8% ต่อปี ทำให้เมื่อเทียบกับปี 2547 ที่การใช้มีเพียง 4 แสนตัน/ปี เพิ่มขึ้น 10% ต่อปี (เทียบกับในอดีตที่เติบโต 7%)
อย่างไรก็ตาม มีคนเปรียบเทียบว่ารัฐบาลอเมริกายังส่งเสริมให้ใช้ LPG ในภาคขนส่งได้แต่นั่นก็เพราะความโชคดีที่สหรัฐอเมริกา มีการค้นพบ Shale gas และนำมาแยกโพรเพนใช้ในบ้านและรถยนต์ จากเดิมที่ต้องนำเข้าโพรเพนวันนี้อเมริกาส่งออกโพรเพนจำนวนมาก ดังนั้นการส่งเสริมใช้ LPG ในภาคขนส่งจึงมีส่วนช่วยพัฒนาการจัดหา Shale gas และสร้างโรงแยกก๊าซฯ เพิ่มขึ้น เป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ แต่ราคาขาย LPG ในภาคขนส่งในอเมริกาไม่มีการควบคุมหรืออุดหนุนราคา โดยอยู่ที่ 42.5 บาท/กก. ซึ่งสูงกว่าประเทศไทยมาก
ขณะที่ประเทศไทยอดีตการค้นพบก๊าซในอ่าวไทยซึ่งมีคุณสมบัติเป็นก๊าซเปียกที่สามารถ นำมาแยกเพื่อป้อนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้รัฐบาลสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จึงมีแนวคิดสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ จ.ระยอง ภายใต้แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจนถึงปัจจุบัน แต่การจัดหาจากอดีตที่พอใช้เวลานี้ LPG ต้องนำเข้ามาเสริมกับความต้องการเพิ่มขึ้น โดยเริ่มนำเข้าตั้งแต่ปี 2551 ถึงขณะนี้นำเข้ามากถึง 2 ล้านตันขณะที่อนาคตก๊าซฯในอ่าวไทยที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติประเมินหากไม่มีการจัดหาเพิ่มจะทยอยหมดใน 6-8 ปีข้างหน้า
การที่มีเสียงเรียกร้องบางส่วนให้รัฐบาลเรียกกลับเอา LPG มาใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือจัดสรรให้กับประชาชนเป็นหลักไม่ให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมี คงต้องพิจารณาถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ในขณะที่ไทยยังคงมีนโยบายส่งเสริมให้มีการลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอยู่ นอกจากนี้สัญญาซื้อขาย LPG เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบของโรงงานโอเลฟินส์ Gas-based ล้วนเป็นสัญญาซื้อขายระยะยาวกับบริษัทเอกชนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การแทรกแซงสัญญาระยะยาวที่มีอยู่เดิม อาจส่งผลต่อเนื่องถึงตลาดทุนและความเชื่อถือของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกด้วย
ดังนั้น การสร้างความมั่นคงในการจัดหา LPG นอกจากจะพิจารณาการเรื่องลอยตัวราคาขายของผู้ผลิตให้สะท้อนต้นทุนหรือตลาดโลกแล้วเพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการผลิต LPG ในประเทศคงต้องมีการพิจารณาว่าในอนาคตเมื่อก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเริ่มลดลง การผลิต LPG จากโรงแยกก๊าซฯจะลดลงตาม ดังนั้น เราจะหา LPG ในระยะยาวจากไหน ซึ่งปัจจุบันเรานำเข้า LPG จากตะวันออกกลาง แต่ในอนาคตเมื่อ การค้นพบ Shale gas ในอเมริกา ทำให้มีการส่งออกโพรเพนมากขึ้น การนำเข้าโพรเพนจากอเมริกาจึงจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก แต่หมายถึงจะต้องมีการศึกษาการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานด้านถังเก็บผลิตภัณฑ์และท่าเทียบเรือรองรับ รวมทั้งการหาพันธมิตรในภูมิภาคเพื่อให้เกิดความประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) เพื่อช่วยลดต้นทุนนำเข้า
การบริหารความต้องการใช้และการสร้างความมั่นคงทางการจัดหาจะไม่สามารถบรรลุผลหากไม่มีการทบทวนการควบคุมราคา LPG โดยกระแสโลกปัจจุบันจะมุ่งสู่การลอยตัวราคาพลังงาน เพราะนอกจากจะช่วยให้การใช้มีประสิทธิภาพ เพิ่มการจัดหาแล้ว ยังเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง จากการประหยัดการใช้ และยังเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้เชื้อเพลิงภาคอื่น ที่ปัจจุบันกองทุนมีการเรียกเก็บเพื่อนำมาอุดหนุนราคา LPG พร้อมกับช่วยส่งเสริมการใช้เอทานอลซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกที่ผลิตได้เองในประเทศอีกด้วย
อนันตเดช พงษ์พันธุ์