- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Monday, 13 October 2014 19:51
- Hits: 2432
เวที ค.3 กระบี่คึกคักหนุน-ต้านอื้ออึง วอนกฟผ.ทบทวน-หวั่นสารพิษตกค้าง
แนวหน้า : ที่ศาลาประชาคมอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(ค.3) โครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งจะสร้างที่ตำบลคลองขนาน อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่
ทั้งนี้ บรรยากาศก่อนการประชุมเป็นไปอย่างคึกคักและเข้มงวดโดยมีกองกำลังทหาร ตำรวจและพลเรือน จำนวนหลายร้อยคนมาคอยดูแลความเรียบร้อยซึ่งมีการตั้งจุดตรวจไว้บริเวณถนนทางเข้าด้านต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการตรวจบัตรประชาชนสำหรับผู้ที่จะเข้าสู่เวทีประชุมด้วย
ภายในบริเวณจัดงาน กฟผ.ได้ติดตั้งป้ายขนาดใหญ่จำนวน 5-6 ป้ายเพื่ออธิบายโน้มน้าวให้เห็นข้อดีของพลังงานถ่านหินโดยใช้คำว่าเป็นพลังงานสะอาด พร้อมทั้งมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้ในเรื่องพลังงานถ่านหิน นอกจากนี้ยังมีการนำเทปรายการคืนความสุขช่วงที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดถึงเรื่องพลังงานและสนับสนุนให้ใช้โรงงานไฟฟ้าถ่านหินมาเปิดซ้ำไปซ้ำมา
ขณะที่ชาวบ้านกลุ่มคัดค้านการสร้างโรงฟ้าถ่านหิน ได้นัดรวมตัวกันบริเวณตลาดเทศบาลกว่า 200 คน ก่อนจะเดินเท้ามายังบริเวณจัดเวที โดยมีการชูธงสีเขียวที่เขียนข้อความว่า “ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน” นอกจากนี้ยังมีป้ายรายชาวบ้านที่ร่วมกันคัดค้านครั้งนี้ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดำเนินไปอย่างเรียบร้อยโดยเจ้าหน้าที่ทางการได้เปิดให้ขบวนผู้คัดค้านเข้ามาแสดงออกอยู่บริเวณทางเข้าห้องประชุม
ทั้งนี้ กลุ่มผู้คัดค้านได้อ่านแถลงการณ์โดยระบุว่า กองทุน The Rockefeller Brothers Fund ได้ออกประกาศหนึ่งวัน ก่อนที่ผู้นำโลกจะมาประชุมเรื่องสภาวะโลกร้อนที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยเรื่องการจะถอนตัวออกจากการลงทุนในพลังงานฟอสซิลโดยจะลดให้เหลือไม่ถึง 1% ภายในปี 2557 นี้ ซึ่งเป็นการยืนยันว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสกปรกกำลังเดินไปสู่ “ก้นหอยแห่งความตาย”
ในแถลงการณ์ระบุว่า การประกาศปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินกว่า 150 โรง ในประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในทวีปยุโรป รวมทั้งประเทศพม่าซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของเรา แสดงให้เห็นการตกผลึกเชิงนโยบายว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่อาจเกิดขึ้นในประเทศของพวกเขาได้อีกต่อไป ประเทศส่วนใหญ่ในโลกจึงมีแนวโน้มที่ตรงกันในการประกาศหยุดใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน และสนับสนุนการผลิตใช้พลังงานหมุนเวียน
ในแถลงการณ์ระบุว่า คำถามจึงมีอยู่ว่าเหตุใดประเทศไทยจึงประกาศสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงใหม่จำนวนหลายโรง ทั้งที่ประเทศเรามีทรัพยากรมากมาย รวมทั้งเป็นประเทศเขตร้อนที่สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้เป็นอย่างดี การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินครั้งนี้แฝงนัยยะของการรับใช้ทุนพลังงานใช่หรือไม่ จึงเร่งรัดผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ ข้อสังเกตคือมีกลุ่มทุนพลังงานได้ทำการสัมปทานเหมืองถ่านหินไว้แล้ว โดยเฉพาะจากประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลีย ทำให้เรา – ประชาชน ต้องตกเป็นทาสของการผูกขาดของกลุ่มทุนพลังงาน และต้องเป็นผู้รับกรรมจากผลกระทบที่ไม่อาจเยียวยาได้
ในแถลงการระบุว่า การวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดกระบี่ ทำให้ประชาชนเป็นเพียงเหยื่อของกลุ่มทุนพลังงาน ทำให้พวกเราไม่อาจนิ่งดูดายต่อผลกระทบที่จะเกิดกับชีวิตของประชาชนรวมถึงหายนะทางสิ่งแวดล้อมได้ เพราะธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นมรดกที่ล้ำค่าที่สุดสำหรับลูกหลานเราในอนาคต สิ่งที่เกิดขึ้นตามกระบวนการ EIA เป็นเพียงการเล่นละครเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มทุนพลังงานเท่านั้น เราจึงไม่สามารถยอมรับต่อกระบวนการดังกล่าวได้ เพราะยุทธศาสตร์ของเราชัดเจนแล้วว่า เราไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงไม่จำเป็นต้องพูดถึงกระบวนการเพื่อที่จะทำให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นได้อีกต่อไป
“กระบวนการ ค.3 ในวันนี้เป็นไปเพื่อการสร้างความชอบธรรมให้กระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่ตรงกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดกระบี่ที่ต้องการพลังงานสะอาด แม้ว่ากระบวนการ ค.3 จะผ่านไปได้ แต่เรายังคงยืนยันในเจตจำนงของประชาชนชาวกระบี่ ที่ไม่อาจยอมรับการให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ของจังหวัดกระบี่ได้ เราเชื่อว่าพลังอันยิ่งใหญ่และความบริสุทธิ์ใจของประชาชน มีมากกว่าการกระทำอันฉ้อฉลที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ประชาชนชาวกระบี่ขอยืนยันว่า จะร่วมกันปกป้องเมืองนี้ให้พ้นภัยจากหายนะโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ถึงที่สุด”ในแถลงการณ์ระบุ
สำหรับ บรรยากาศในห้องประชุมนั้น ก่อนการเปิดเวทีได้มีการแสดงต่างๆ จนกระทั่งเวลาประมาณ 13 .00 น. มีประชาชนทั้งผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านเข้าร่วมเต็มห้องประชุมประมาณ 2,000 คน โดยมีนายสมควร ขันเงิน ปลัดจังหวัดกระบี่ เป็นประธานในการเปิดงาน จากนั้นได้มีการนำเสนอข้อมูลร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากที่เจ้าหน้าที่และนักวิชาการด้านการพัฒนานโยบายพลังงาน ซึ่งมีเนื้อความสำคัญบางตอนระบุว่า โรงไฟฟ้ากระบี่ ที่ กฟผ.มีแผนก่อสร้างนั้น เป็นโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าที่จำเป็นแต่ก็ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่บางส่วน โดยเฉพาะชุมชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณ รัศมี 5 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า
ผู้จัดทำรายงานยังได้เสนอว่า จากการศึกษาของภาควิชาการที่ร่วมวิเคราะห์สภาพปัญหานั้น ทราบดีว่าอาจส่งผลกระทบต่อน้ำ และวิถีประมงของชาวบ้าน แต่ข้อกังวลดังกล่าว ทางผู้รับผิดชอบโครงการยินดีจะสร้างระบบระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพ และมีบ่อดักตะกอน มีพื้นที่ทิ้งเศษดินและเศษขยะโดยไม่ให้สารหรือมลพิษส่งผลต่อประมงและแหล่งน้ำที่สำคัญของชมชน ตลอดจนยินดีศึกษาวิจัยผลผลิตทางการประมงหลังจากการสร้างโรงไฟฟ้าอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยอาจประสานงานร่วมกับสำนักประมงจังหวัดหรือกรมเจ้าท่า เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของสัตว์น้ำ ขณะที่เรื่องการดูแลระบบทรัพยากรดินและน้ำใต้ดินที่ชาวบ้านกังวลและพยายามคัดค้านว่าอาจส่งผลต่อระบบเกษตรนั้น ทางผู้ดำเนินโครงการจะสุ่มตรวจแล้วปีละ 2 ครั้ง คือ ฤดูฝนและฤดูแล้ง พบว่า ไม่มีผลกระทบเกินมาตรฐานกฎหมายกำหนด
หลังจากนั้นได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมมาอภิปราย และแสดงความคิดเห็นรายบุคคล ๆละ 5 นาที โดยมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน
ข้าราชการบำนาญรายหนึ่ง กล่าวว่า การดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นเป็นสิ่งจำเป็นเพราะจะได้มีพัฒนาความเจริญและสร้างอาชีพของคนในจังหวัดกระบี่ เพราะในอนาคตพลังงานอาจขาดแคลน และเชื่อว่า กฟผ.สามารถนำเข้าถ่านหินสะอาดได้จริง เพราะเชื่อว่าอนาคตการทำการเกษตรไม่สามารถส่งเสริมเศรษฐกิจได้ แต่อุตสาหกรรมจะสร้างความมั่นคงทางการงานได้” แหล่งข่าวฯ กล่าว
นายทวีเดช วงษ์ประดิษฐ์ ชาวจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ตนเป็นกลุ่มหนึ่งที่เคยต่อต้านถ่านหินเมื่อครั้งสร้างโรงไฟฟ้าแห่งแรกที่คลองขนาน แล้วก็เปลี่ยนใจมาศึกษาข้อมูลอีกด้านก็มักถูกฝ่ายสนับสนุนพยายาชักจูงถึงวิกฤติพลังงาน จนต้องสนับสนุนโครงการเพราะกลัวลูกหลานไม่มีไฟฟ้าใช้ เวลาต่อมาก็เปลี่ยนมาอ่านข้อมูลสิ่งแวดล้อม ซึ่งระยะหลังมีการเผยแพร่มากขึ้น ไม่ได้ปกปิดข้อมูลเหมือนอดีต พอทราบวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าแล้วก็เปลี่ยนใจทันที เพราะส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารมากมาย ตนจึงกลับใจขอคัดค้านต่อ
“ไม่มีไฟฟ้าเราอยู่ได้ เมื่อก่อนเราจุดเทียน แต่ข้อเท็จจริง พลังงานกระบี่มีมากพอ ไม่ได้ขาดแคลน ส่วนแหล่งอาหารก็เลี้ยงคนได้ทั้งจังหวัด และการท่องเที่ยวก็รองรับได้ทั่วโลก ยิ่งมารู้ว่าภาคใต้อนาคตอาจเป็นแหล่งพัฒนาพลังงานโลกแห่งที่สองรองจากสิงคโปร์ ผมยิ่งตกใจ คนสิงคโปร์รวย แต่ไม่มีความสุข ผมไม่อยากให้ลูกเป็นอย่างนั้น”นายทวีเดช กล่าว
นายไพสิฐ บุญยกวี เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ (สสจ. กระบี่) กล่าวว่า ถ่านหินที่เกิดจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าหากมีการแพร่ลงสู่อาหาร แล้วคนบริโภค โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ เด็กที่เกิดมาเสี่ยงต่อการเป็นผู้พิการทางสมอง และมีภาวะร่างกายที่อ่อนแอ สารพิษต่างๆที่เกิดขึ้น อาทิ แอมโมเนีย ตะกั่ว และสารอันตรายอื่น อาจจะส่งผลต่อระบบประสาทที่สร้างพฤติกรรมอารมณ์ร้ายกับเด็ก มลพิษทางเสียง อากาศ ที่เกิดขึ้นในบริเวณโรงไฟฟ้าเป็นผลต่อพัฒนาการของเด็กในครรภ์และแรกเกิด ดังนั้นอยากให้ กฟผ.ทบทวนและยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้า มาพัฒนาพลังงานทางเลือกจะดีกว่า เพราะการลงทุนสูงเพื่อสร้างพลังงานสะอาด คุ้มกว่าการลุงทุนพลังงานสกปรกแต่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบและจ่ายเงินเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่สูงกว่าหลายร้อยเท่า