- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 05 October 2014 22:28
- Hits: 2888
'ณรงค์ชัย'ปรับโครงสร้างพลังงานเสร็จใน 1 ปี ดีเซล NGV-LPG จ่อขึ้นอีก
แนวหน้า : 'รมว.พลังงาน'เดินหน้าปรับโครงสร้างราคาพลังงาน พร้อมส่งสัญญาณให้รับมือ NGV LPG ดีเซล ปรับขึ้น แต่ข่าวดีผู้ใช้ เบนซินราคาจะลดลง แก้ปัญหาโครงสร้างบิดเบือนไม่เป็นธรรม
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน เปิดเผยหลังการมอบนโยบายให้กับข้าราชการและหน่วยงานสังกัดกระทรวงฯ ว่า นโยบายที่จะเร่งดำเนินการคือทยอยปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนและเกิดความเป็นธรรม รวมถึงการปรับโครงสร้างภาษีที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตที่ดีเซลจะต้องสูงขึ้นและกลุ่มเบนซินจะต้องลดลง โดยทั้งหมดจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 ปี
“ดีเซล แอลพีจีโดยเฉพาะภาคขนส่ง และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือ NGV ถูกมาก หลายคนบอกว่าทำไมรัฐไม่ขึ้นแอลพีจีขนส่งไปทีเดียวเลยก็ต้องเข้าใจว่าคนซื้อรถเขาตัดสินใจลงทุนแล้วก็เปลี่ยนมาใช้เพราะคิดว่าราคาจะถูกอย่างนี้ไปตลอดก็ไม่ใช่ความผิดของเขา เราก็กำลังให้สัญญาณใหม่เพื่อที่จะได้มีเวลาปรับตัว เราจะค่อยๆ ขยับราคาพลังงานที่ต่ำกว่าเป็นจริงไปเรื่อยๆ ไปสู่ราคาที่ถูกต้อง ดังนั้นราคาเบนซินและแก๊สโซฮอล์อนาคตจะต้องถูกลงและดีเซลจะต้องแพงขึ้น”นายณรงค์ชัย กล่าว
ก่อนหน้านนี้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติปรับราคาขายปลีก LPG และ NGV ตามมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยให้ปรับราคาขายปลีก LPG ภาคขนส่งเพิ่ม 0.62 บาท/กิโลกรัม จาก 21.38 บาท/กิโลกรัม เป็น 22.00 บาท/กิโลกรัม และราคาขายปลีก NGV ขยับขึ้น 1 บาท/กิโลกรัม จาก 10.50 บาท/กิโลกรัม เป็น 11.50 บาท/กิโลกรัม แต่รถสาธารณะที่ใช้ NGV ได้แก่ รถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก รถตู้โดยสารสาธารณะ (รถร่วม ขสมก. และ บขส.) และรถโดยสารสาธารณะ (รถร่วม ขสมก. และ บขส.) ราคายังคงเดิมที่ 8.50 บาท/กิโลกรัม มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตค.2557
รมว.พลังงาน กล่าวอีกว่า ส่วนนโยบายดูแลความมั่นคงด้านพลังงาน ภายใน 1 ปีจะเร่งดำเนินการตัดสินใจในเรื่องการสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ และการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องของการแสวงหาแหล่งพลังงานเช่น กรณีแหล่งปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา ล่าสุดการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนที่สปป.ลาวเมื่อเร็วๆ นี้ไทยและกัมพูชาได้มีข้อตกลงตั้งคณะทำงานร่วมกันขึ้นมาเพื่อที่จะหารือรายละเอียดในการกำหนดความร่วมมือในการพัฒนาโดยเฉพาะการกำหนดความชัดเจนในพื้นที่สัมปทาน
สำหรับ พม่าเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือด้านความมั่นคงที่สำคัญ เนื่องจากไทยมีการนำเข้าก๊าซฯจากพม่ามาผลิตไฟฟ้าเป็นหลักซึ่งตลอด 20 ปีมานี้ไทยนำเข้าก๊าซฯจากพม่าแล้วถึง 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยเร็วๆ นี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางไปยังพม่าระหว่าง 9-10 ต.ค.นี้เพื่อที่จะตกลงความร่วมมือด้านพลังงานร่วมกับไทยโดยเฉพาะการพัฒนาด้านระบบการค้าขายน้ำมันและไฟฟ้าซึ่งไทยมีกลุ่มบริษัทพลังงานที่เข้มแข็งคือ บมจ.ปตท.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)
“พม่าเราพึ่งมากเขาไปมากด้วยซ้ำปิดท่อก๊าซฯเมื่อไหร่เราตายแน่ เขาเองก็ต้องการความร่วมมือกับเราเพราะเรามีกลุ่มพลังงานที่แข็งแรงอ่ย่าง ปตท. อย่าง ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมหรือปตท.สผ. และกฟผ. พม่าเขาไม่มีไฟ มีน้อย ดังนั้นอยากให้เราไปช่วยพัฒนาไฟฟ้า และระบบปั๊มน้ำมันไม่ค่อยดีเหมือนเรา ปตท.ก็จะไปดูให้พม่า เรื่องจำหน่ายน้ำมัน ที่สนามบิน ดูเรื่องโรงกลั่นน้ำมัน นายกฯท่านก็จะไปพุดเรื่องความร่วมมือ ทั้งผลิตก๊าซ ไฟฟ้า ช่วยพัฒนาระบบค้าขายพลังงานในพม่าสำคัญมากเงินเป็นระดับแสนๆล้าน ถือเป็นโอกาสของไทยมากๆ”นายณรงค์ชัยกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการ คือ จะต้องสร้างโรงไฟ้ฟ้าถ่านหินให้ได้ตามแผนภายในปีงบประมาณ 2558 ก็จะต้องชัดเจนเพราะไทยเองหากต้องการราคาค่าไฟที่ถูกก็ต้องพึ่งถ่านหินเพราะมีค่าไฟถูกสุด