- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 05 October 2014 22:26
- Hits: 3567
รายงานพิเศษ: อาเซียน เอนเนอร์จี อวอร์ดเวทีแห่งการประหยัดพลังงาน
ไทยโพสต์ : หายใจรดต้นคอประเทศไทยมาติดๆ สำหรับการแข่งขันคว้ารางวัล "อาเซียน เอนเนอร์จี อวอร์ด" ซึ่งปี 2557 นี้ ประเทศอินโดนีเซียสามารถคว้ารางวัลรวมไปถึง 12 รางวัล น้อยกว่าประเทศไทยเพียงรางวัลเดียว โดยไทยยังคงรักษาแชมป์รางวัลอาเซียน เอนเนอร์จี อวอร์ด ได้ต่อไป ด้วยรางวัลรวม 13 รางวัล
ทั้งนี้ รางวัลอาเซียน เอนเนอร์จี อวอร์ด เป็นการแข่งขันของภาคเอกชนต่างๆ ในประเทศสมาชิกภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ เวียดนาม สปป.ลาว กัมพูชา และบรูไน โดยรางวัลดังกล่าวจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2543 แต่มีการแจกรางวัลจริงตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา และในปี 2557 นี้ได้จัดขึ้นที่ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 22-24 ก.ย.2557 ที่ผ่านมา
นายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า การที่ผู้ประกอบการอาคารโรงงานได้รางวัล เป็นตัวอย่างให้กับผู้ประกอบการอาคารโรงงานอื่นๆ หรือเรียกได้ว่าเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการอื่นๆ ได้ปฏิบัติตาม และยังเป็นผลดีต่อธุรกิจการค้าขายด้วย เนื่องจากปัจจุบันการซื้อขายสินค้ามักจะมีการกำหนดเรื่องกระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งเมื่อทำได้ระดับหนึ่งแล้ว จะเห็นว่าในอาเซียนควรร่วมมือกันประหยัดพลังงานด้วย ไทยจึงเชิญชวนจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นมาให้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้แข่งขัน และสร้างแรงจูงใจในการประหยัดพลังงานให้ขยายวงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหลายประเทศในอาเซียนให้ความใส่ใจในการแข่งขันประหยัดพลังงานกันมากขึ้น ทำให้ได้รับรางวัลกันหลากหลายประเภท จะเห็นได้จากปี 2557 นี้ ที่ประเทศอินโดนีเซียสามารถคว้ารางวัลรวมมาได้ใกล้เคียงกับไทยมาก ดังนั้นแนวทางที่ไทยจะต้องเร่งพัฒนาให้ผู้ประกอบการสามารถประหยัดพลังงานได้มากขึ้น และสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ คือการนำเทคโนโลยีเชิงลึก หรือไฮเทคโนโลยี มาช่วยสร้างการประหยัดพลังงาน เช่น การปรับปรุงกระบวนการผลิต การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เครื่องจักรที่ประหยัดพลังงาน เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้พิสูจน์แล้วว่าช่วยประหยัดพลังงานได้จริง และคืนทุนในเวลาไม่นาน
ดังนั้น ในอนาคต พพ.อาจจะสนับสนุนการประหยัดพลังงานที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกขึ้น และให้เงินสนับสนุน 40% ของการลงทุน แต่ต้องมีผลประหยัดไม่น้อยกว่า 40% จากการใช้พลังงานปกติด้วย พร้อมกันนี้จะต้องมีผู้นำแนวทางดังกล่าวไปใช้ให้กว้างขวางขึ้นในอาคารและโรงงานอื่นๆ ด้วย ซึ่งหมายถึงผู้ที่ประสบความสำเร็จในการประหยัดพลังงานจะต้องไปสอนต่อหรือบอกต่อกับผู้ประกอบการโรงงานอื่นๆ ให้สามารถประหยัดพลังงานตามไปด้วย เป็นต้น และเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะทำให้ไทยสามารถครองแชมป์การประหยัดพลังงานระดับอาเซียนได้ยาวนาน
นายอนันตศักดิ์ อภัยรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 อาเซียน เอนเนอร์จี อวอร์ด 2014 ด้านการบริหารจัดการพลังงานดีเด่นในอาคารขนาดใหญ่ กล่าวว่า โรงพยาบาลเป็นสถานที่ที่ต้องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะระบบเครื่องปรับอากาศและแสงสว่างอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้เสียค่าไฟฟ้าอยู่ 3-4 ล้านบาทต่อเดือน และที่ผ่านมาโรงพยาบาลพญาไท 2 จึงพยายามลดการใช้พลังงาน และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การเปลี่ยนชิลเลอร์ หรือเครื่องทำน้ำเย็นประสิทธิภาพสูง ติดตั้งอุปกรณ์แลกเปลี่ยนอากาศ Lossnay เปลี่ยนมาใช้หลอดแอลอีดีขนาด 20 วัตต์ แทนการใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ขนาด 36 วัตต์ การใช้ระบบทำน้ำร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวส่งผลให้ในช่วงปี 2554-2556 สามารถประหยัดไฟฟ้าในอาคารได้ 3,696 กิโลวัตต์ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 13.93 ล้านบาทต่อหน่วย โดยเมื่อเทียบกับคนไข้ในสามารถลดใช้ไฟฟ้าได้ 24.9% และหากเทียบกับคนไข้นอกสามารถลดใช้ไฟฟ้าได้ 34.4% โดยใช้เงินลงทุน 27 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลพญาไท 2 รู้สึกภูมิใจมากที่ในปี 2556 สามารถลดใช้ไฟฟ้าได้ต่ำสุดในรอบ 6 ปี
นายชัชชัย ดวงดัน ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมบำรุงรักษา ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศอาเซียน เอนเนอร์จี อวอร์ด 2014 ด้านอนุรักษ์พลังงาน การบริหารจัดการพลังงานดีเด่นในอาคารขนาดใหญ่ กล่าวว่า การประหยัดพลังงานจำเป็นต้องได้รับความเอาใจใส่ในระดับผู้บริหารก่อน ซึ่งฟิวเจอร์พาร์ค โชคดีที่ผู้บริหารมีมุมมองด้านการประหยัดพลังงานและตั้งใจทำอย่างจริงจัง โดยเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2554 ทั้งลงทุนเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าเป็นแอลอีดี เปลี่ยนปั๊มน้ำประสิทธิภาพสูง เปลี่ยนเครื่องทำน้ำเย็นใหม่หมด เพราะเครื่องเดิมทำงานมากว่า 18 ปี กินไฟมาก โดยลงทุนซื้อเครื่องทำน้ำความเย็นไป 80-90 ล้านบาท สามารถคืนทุนภายใน 6 ปี เพราะช่วยประหยัดไฟฟ้าลงได้ 1.2 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 12 ล้านบาทต่อปี
"อยากจะขอแนะนำห้างสรรพสินค้าที่ใช้เครื่องทำน้ำเย็นเกิน 18-19 ปี ควรเปลี่ยนเครื่องใหม่ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่กินไฟฟ้าถึง 40-60% ของเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด และไม่คุ้มค่ากับการซ่อมบำรุง หากเปลี่ยนเครื่องใหม่ที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าลงได้มากแบบเดียวกับฟิวเจอร์พาร์คก็เป็นได้" นายชัชชัยกล่าว
การได้รับรางวัลจากการประหยัดพลังงาน เป็นเพียงเครื่องมือจูงใจให้ผู้ประกอบการที่ใช้พลังงานมากๆ หันมาเอาใจใส่กับการมีส่วนร่วมในการประหยัดพลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ยังช่วยให้ประเทศชาติลดการใช้พลังงานลงและลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย และไม่ว่าประเทศใดในอาเซียนจะได้แชมป์การประหยัดพลังงาน แต่นับว่าเป็นผลสำเร็จของอาเซียนที่สร้างการตระหนักและเห็นความสำคัญของการประหยัดพลังงานในโลกใบนี้ เพื่อให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้มีพลังงานใช้และช่วยโลกไม่ให้ร้อนหนักขึ้นไปอีก ส่วนในปี 2558 ไทยจะคว้าแชมป์ยอดนักประหยัดพลังงานแห่งอาเซียนได้ต่อหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป.