- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Friday, 03 October 2014 23:26
- Hits: 2735
เบรนท์ทรุดหนักจากความกังวลด้านอุปทาน ขณะที่เวสท์เท็กซัสปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีขึ้นต่อเนื่อง
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากความกังวลของนักลงทุนทั้งในเรื่องอุปสงค์ที่อ่อนแอและอุปทานที่ยังคงล้นตลาด รวมไปถึงการที่ซาอุดิอาระเบียประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ ยังไม่พิจารณาปรับลดกำลังการผลิตลง ซึ่งส่งผลทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบเบรนท์และราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสของสหรัฐฯ ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2556
- สมาชิกของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ OPEC บางประเทศได้ออกมาเรียกร้องให้ ทางกลุ่ม OPEC พิจารณาการลดกำลังการผลิตของกลุ่มลงในการหารือที่จะมีขึ้นในเดือน พฤศจิกายนนี้ อย่างไรก็ตาม สมาชิกหลัก เช่น ซาอุดิอาระเบีย ยังคงมีท่าทีที่จะชะลอการพิจารณาจนกระทั่งช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงที่มีอุปสงค์สูงสุดของปี
+ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสของสหรัฐฯ ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ จากการประกาศปรับตัวลดลงของปริมาณน้ำมันสำรองคุชชิ่ง ใน โอคลาโฮมา รวมไ ปถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากตัวเลขการว่างงานในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง
+ นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ ที่อ่อนตัวลงจากการที่ธนาคารกลางของยุโรป (European Central Bank: ECB) ได้ออกแผนการที่จะซื้อหุ้นกู้มีประกัน(Secured Debt) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในยุโรป ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสของสหรัฐฯให้เพิ่มขึ้น และพยุงราคาน้ำมันดิบเบรนท์ไม่ให้ปรับตัวลดลงมากนัก
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังในสิงคโปร์ที่ปรับตัวลดลง และอุปสงค์จากอินโดนีเซียและแอฟริกาตะวันตกที่ยังช่วยหนุนราคาไว้อย่างต่อเนื่อง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปสงค์ที่ปรับตัวลดลงในออสเตรเลีย จีน และ อินโดนีเซีย ซึ่งมีผลมาจากเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ชะลอตัว รวมไปถึงปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังของสิงคโปร์ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น
ทิศทางราคาน้ำมันดิบ
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์หน้าจะเคลื่อนไหวที่กรอบ 90-96 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 92-98 เหรียญฯ
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาการประท้วงต่อต้านรัฐบาลจีนในฮ่องกง ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ซึ่งฮ่องกงเป็นเป็นช่องทางหนึ่งที่จีนใช้เป็นฐานเชื่อมต่อกับประเทศต่างๆ ทั้งทางด้านตลาดทุน ตลาดเงินและการขนส่ง เหตุการณ์นี้อาจทำให้เศรษฐกิจจีนที่ยังคงซบเซาอยู่เลวร้ายไปกว่าเดิม และส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันดิบย่ำแย่ด้วยเช่นกัน
ยังคงต้องจับตามองถึงประสิทธิภาพของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวของอีซีบี ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาเงินฝืด และจะทำให้อุปสงค์การใช้น้ำมันในภูมิภาคกลับมาได้หรือไม่
รายงานสถานการณ์น้ำมันประจำเดือน ต.ค. ของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ในวันที่ 7 ต.ค. และ OPEC ในวันที่ 10 ต.ค. ติดตามว่าจะมีการปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกในปีนี้ลงอีกหรือไม่ หลังหลายฝ่ายยังคงกังวลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตัวที่ลดลงของผู้บริโภคน้ำมันอันดับสองของโลกอย่างจีน