- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Wednesday, 01 October 2014 22:47
- Hits: 3075
กบง.ไฟเขียวขึ้น‘ค่าก๊าซ’ LPG ขยับ 62 สต.-NGV1 บ.
แนวหน้า : นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เปิดเผยหลังประชุมเมื่อวันที่ 30 กันยายน ว่า ที่ประชุมกบง.มีมติเห็นชอบให้ปรับราคาขายปลีกแอลพีจี ภาคขนส่ง เพิ่มขึ้น 0.62 บาทต่อกิโลกรัม จาก 21.38 บาทต่อกิโลกรัมเป็น 22.00 บาทต่อกิโลกรัม มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป โดยให้ผู้ค้าน้ำมันส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯเพิ่มจากเดิม 3.0374 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 3.6168 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อสะท้อนต้นทุนราคาแอลพีจีภาคขนส่งมากขึ้น ลดการลักลอบใช้ผิดประเภท ลดภาระกองทุนน้ำมันฯ และลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯของน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอลได้
ส่วนราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติ (NGV) สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลนั้น จะปรับขึ้น 1 บาทต่อกิโลกรัมจากเดิม 10.50 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 11.50 บาทต่อกิโลกรัม และให้คงราคาขายปลีก NGV สำหรับรถโดยสารสาธารณะไว้ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัมเช่นเดิม เพื่อไม่ให้กระทบค่าครองชีพของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งการปรับราคา NGV ครั้งนี้จะสะท้อนต้นทุน และลดการอุดหนุนราคา NGV จากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อนำรายได้ไปขยายสถานีบริการ NGV รวมถึงขยายท่อส่งก๊าซเพื่อให้บริการทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีสถานีบริการ NGV 497 สถานีทั่วประเทศ โดยเบื้องต้นจะร่วมกับสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยขยายสถานีบริการในภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคอื่นๆต่อไป เพื่อรองรับจำนวนรถใช้ NGV ปัจจุบันที่มีอยู่มากกว่า 450,000 คัน
รมว.พลังงานกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง. เห็นชอบปรับเพิ่มอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันดีเซลขึ้น0.40 บาทต่อลิตร จากเดิมเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ สำหรับดีเซล 1.70 บาทต่อลิตร ปรับเป็นจัดเก็บ 2.10 บาทต่อลิตร โดยไม่มีผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล สำหรับผลจากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯในส่วนดีเซลครั้งนี้ ทำให้กองทุนน้ำมันฯมีรายรับเพิ่มขึ้นจากเดิมมีรายรับ 2,841 ล้านบาทต่อเดือน เป็น 3,484 ล้านบาทต่อเดือน โดยกองทุนน้ำมันฯจนถึงวันที่ 28 กันยายน มีฐานะสุทธิติดลบประมาณ 4,196 ล้านบาท และผลจากการปรับราคาดังกล่าวจะทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีฐานะสุทธิเป็นศูนย์ ภายในเวลา 2 เดือน
ด้านนายชาครีย์ บูรณกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซ ธรรมชาติของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวถึงการปรับขึ้น NGV ครั้งนี้ว่า จะทำให้ ปตท. ขาดทุนจากธุรกิจดังกล่าวลดลง 500 ล้านบาท ในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ ขณะที่จะขาดทุนลดลงประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี จากปกติที่ขาดทุนจากธุรกิจ NGV กว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี เพราะจากการขาย NGV ที่ราคาปัจจุบันต่ำกว่าต้นทุนของปตท.ซึ่งอยู่ที่ 15-16 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2546จนถึงขณะนี้ปตท.ขาดทุนสะสมจากการตรึงราคา NGV ประมาณ 1 แสนล้านบาท สำหรับการดูแลกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ แท็กซี่ที่มีประมาณ 7.5 หมื่นคัน รถร่วมอื่น 1.5 หมื่นคันปตท.จะดูแลให้ได้รับส่วนลดราคา เพื่อให้ได้ใช้ราคา NGV คงเดิมที่ 8.50 บาทต่อกก. คาดว่าจะมีรายจ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นเดือนละ 133 ล้านบาท หรือคิดเป็นปริมาณ 2,200 ตันต่อวัน
ในส่วนนายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ เผยหลังรับทราบมติกบง.ปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคขนส่ง 62 สตางค์/กิโลกรัม และเอ็นจีวี 1 บาท/กิโลกรัมว่า เป็นอัตราที่ผู้ขับแท็กซี่ยอมรับได้ ทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงเพิ่มกิโลกรัมละ 30 บาท ถือว่าเพิ่มไม่มาก ส่วนการเจรจาขอปรับราคานั้น เมื่อกบง.มีมติดังกล่าว ผู้ประกอบการแท็กซี่เห็นว่าน่าจะขอปรับราคาเพียง 10% มีเหตุผลจากค่าครองชีพเป็นหลัก
ขณะที่นายทองอยู่ คงขันธ์ รองประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทยกล่าวว่า การปรับราคาดังกล่าวยังไม่เป็นเงื่อนไขนำไปสู่การปรับค่าขนส่ง เพราะปัจจุบันรถบรรทุกภาคการขนส่งไม่ได้ใช้เชื้อเพลิงแอลพีจี ส่วนรถบรรทุกที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีมีน้อยประมาณ 60,000-70,000 คันของจำนวนรถบรรทุกทั้งหมดที่มี 1 ล้านคัน แต่อยากให้ปตท.และภาครัฐสร้างความชัดเจนเรื่องการขยายสถานี NGV
วันเดียวกัน นายอาคม เติมพิทยาไพศิษฏ์ รมช.คมนาคม เปิดเผยหลังหารือร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสาร และกรมการขนส่งทางบก โดยระบุว่า กระทรวงจะนำข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการไปพิจารณา ทั้งขอปรับค่าโดยสาร ปัญหาผู้โดยสารจำนวนลดลง รวมถึงค่าประกันภัยที่เพิ่มขึ้นหลายพันล้านบาทต่อปี
โดยนางสุจินดา เชิดชัย นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารกล่าวว่า ยื่นข้อเรียกร้องให้ค่าโดยสารเป็นราคาลอยตัว ให้ลดค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายในการวิ่งให้บริการตามเที่ยววิ่งจริง ให้ยืดอายุการใช้รถโดยสารจาก 5 ปี เป็น 15 ปี เพื่อให้คุ้มกับการลงทุน นอกจากนี้ ขอให้ตั้งกองทุนประกันภัยให้ผู้ประกอบการ เพื่อให้มีอำนาจต่อรองบริษัทประกัน เพราะค่าประกันภัยปัจจุบันผู้ประกอบการต้องจ่ายเต็มจำนวน แม้รถบางส่วนต้องจอดทิ้งไว้ เนื่องจากไม่มีผู้โดยสาร