- Details
- Category: พลังงาน
- Published: Sunday, 01 September 2019 11:02
- Hits: 5769
ไทยเจ้าภาพ AMEM ครั้งที่ 37 เวทีหนุนประโยชน์ด้านพลังงานสู่คนอาเซียน
การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meetings : 37th AMEM) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 กันยายน 2562 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดการประชุม
กรอบความร่วมมือหลักๆ มี 3 ด้าน คือ 1. ด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญเพื่อทำให้แต่ละประเทศ มีพลังงานใช้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ 2. ด้านราคาพลังงาน ที่ต้องมีความเหมาะสมต่อการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอาเซียน และ 3. ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีการหารือร่วมกันเพื่อส่งเสริมพลังงานสะอาด
แนวคิด หรือ Theme ของการประชุม AMEM ครั้งนี้คือ 'Advancing Energy Transition Through Partnership and Innovation' หมายถึง การมุ่งเน้นความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจา รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถก้าวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานที่มีความยั่งยืนในอนาคต
การประชุม AMEM นอกจากจะมีส่วนช่วยผลักดันและสนับสนุนให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว 2559-2579 บรรลุเป้าหมายในการสร้างความมั่นคง ยั่งยืน เกิดการค้า การลงทุน และการพัฒนาด้านพลังงานแล้ว ยังมีประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจากความร่วมมือที่สอดคล้องตามแผนปฏิบัติการอาเซียนด้านพลังงาน (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation: APAEC) พ.ศ. 2559 – 2568 ตัวอย่างเช่น
- การขยายปริมาณการซื้อขายไฟฟ้าเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าพหุภาคีในโครงการลาว - ไทย - มาเลเซีย (LTM-PIP)จากเดิม 100 เมกะวัตต์เป็น 300 เมกะวัตต์
- การปรับมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในอาเซียน เช่น อุปกรณ์ส่องสว่างและเครื่องปรับอากาศ การลดความเข้มการใช้พลังงานให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ. 2563
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า บทบาทการมีส่วนร่วมในเวทีพลังงานอาเซียนครั้งนี้ในมุมของประเทศไทยมี 3 บทบาทหลัก คือ 1. การแสดงบทบาทของไทยในเวทีอาเซียน เพื่อขับเคลื่อนความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนด้านพลังงานร่วมกันของภูมิภาค 2. เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของไทย ที่จะเป็นจุดเชื่อมโยงพลังงานของภูมิภาคอาเซียน และ 3.การตอบสนองของนโยบายของรัฐบาลเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ที่มุ่งเน้นการจัดหาพลังงานให้ประชาชนเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม
สำหรับ กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุมวันที่ 2-6 กันยายนนี้ ประกอบด้วยการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน การประชุมทวิภาคีระหว่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา การหารือองค์กรด้านพลังงานระหว่างประเทศ เช่น IEA (International Energy Agency), IRENA (The International Renewable Energy Agency)
นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการและการแสดงเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านพลังงานของภาคเอกชนคู่ขนานกันไปคือ ASEAN Energy Business Forum (AEBF) รวมทั้งพิธีมอบรางวัล ASEAN Energy Awards ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ภาครัฐและเอกชนร่วมกันผลักดันเกิดการผลิตและใช้พลังงานทดแทน และผลักดันให้เกิดการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งในปีนี้จะมีวาระพิเศษฉลองความร่วมมือระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่นครบรอบ 20 ปีอีกด้วย
Click Donate Support Web